เตรียมตั้ง สนง.วิจัย 4 ภาค ดันเทคโนโลยีสู่ชาวบ้าน-ดึงภูมิปัญญาชุมชนสู่สาธารณะ
ถกยุทธศาสตร์การวิจัยแห่งชาติ 2555-2559 สอดคล้องแผนพัฒนาประเทศฉบับ 11 แก้ปัญหางบกระจุกในองค์กรไม่ถึงมือนักวิจัยอิสระ-ขาดแรงงานเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เตรียมตั้ง วช. 4 ภูมิภาค ดันงานวิจัยสู่ชาวบ้าน ดึงภูมิปัญญาชุมชนสู่สาธารณะและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ นำเสนอวิถีคนอยู่กับป่าต้นน้ำบ้านสบลืน
เมื่อเร็วๆนี้ มีการประชุมวิชาการ “การนำเสนอผลงานวิจัยของชาติ” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมีการสัมมนาเรื่อง “การขับเคลื่อนนโยบายการวิจัยสู่การปฎิบัติในระดับภูมิภาค เพื่อสังคมแห่งการเรียนรู้” เพื่อหารือถึงร่างนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยฉบับที่ 8 ที่จะใช้ระหว่างปี 2555-2559 โดย รศ.ดร.ก้าน จันทร์พรหมมา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ปรึกษาในการจัดทำและผลักดันนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติฯ กล่าวว่า ในแต่ละปีจะมีงบประมาณด้านการวิจัยทั้งหมด 18,440 ล้านบาท ซึ่งแบ่งการใช้จ่ายเป็น 2 ส่วนคือ ด้านแผนพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม 4,264 ล้านบาท แผนงานวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ 14,176 ล้านบาท แต่มีข้อจำกัดคือจะต้องเป็นนักวิจัยที่อยู่ในแวดวงวิชาการ ด้านการศึกษา ทำให้ผู้ที่มีความเก่งเฉพาะด้านแต่ไม่มีตำแหน่งทางวิชาการรองรับไม่สามารถขอทุนทำวิจัยได้
รศ.ดร.ก้าน ยังกล่าวว่า ในการขับเคลื่อนนโยบายการวิจัยสู่การปฎิบัติในระดับภูมิภาค กำลังดำเนินการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยหรือ วช. 4 ภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ผ่านมา ทำให้มีกรนำงานวิจัยลงสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และทำให้งานวิจัยมีประโยชน์เข้าถึงชาวบ้านมากขึ้น
นายธานินทร์ ผะเอม ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 เน้นการพัฒนาสังคมมากขึ้น ดังนั้นข้อเสนอที่มีต่อนโยบายและยุทศาสตร์การวิจัยฉบับที่ 8 จะสอดคล้องกัน โดยมุ่งเน้นด้านการสร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ วิทยาการ ตลอดจนเสริมสร้างและพัฒนาทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบริหารจัดการความรู้ ผลงานวิจัย นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์รวมถึงภูมิปัญญาชาวบ้านที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณะ ซึ่งต้องเร่งผลักดันการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เพื่อรองรับการขาดแคลนแรงงานคุณภาพไม่เพียงพอ เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
รศ.เพทาย พงษ์เพียจันทร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ปรึกษาในการจัดทำและผลักดันนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติฯ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การวิจัยภาคเหนือจะใช้การสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอินโดจีน และเนื่องจากมีทั้งปัญหาผู้สูงอายุ หนี้สิน และทรัพยากร การพัฒนาต้องใช้องค์ความรู้ท้องถิ่น ซึ่งเริ่มมีตัวอย่างให้เห็นการนำความรู้ท้องถิ่นมาปรับใช้บ้างแล้ว
“มีตัวอย่างการนำองค์ความรู้ท้องถิ่นมาปรับใช้ในหลายพื้นที่ เช่น ที่เชียงรายมีการพัฒนาศักยภาพของหมอเมือง(หมอพื้นบ้าน) การจัดการความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ เกิดความเชื่อมโยงระหว่างหมอเมือง-หมออนามัย-หมอโรงพยาบาล รวมทั้งการพัฒนาสมุนไพรพื้นบ้าน”
ในเวทีการนำเสนอผลงานวิจัยของชาติปีนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าต้นน้ำสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดย ผศ.วิพัฒน์ หมั่นการ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการแก่ชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวว่า หลังจากที่ได้ลงพื้นที่ศึกษาวิถีชีวิตคนกับป่า ตลอดจนวิธีการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำของชาวบ้านสบลืน ต.ร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พบว่าชาวบ้านได้ใช้พื้นที่ลาดเชิงเขาในการทำการเกษตร เป็นที่อยู่อาศัย เก็บหาของป่า โดยมีการจัดระบบการใช้ทรัยากร แบ่งเป็นป่าอนุรักษ์และป่าใช้สอย ตลอดจนมีการนำความเชื่อและพิธีกรรมเรื่องผีของบรรพบุรุษ มาประยุกต์ใช้ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ป่าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งยังดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการทบทวนประสบการณ์และสิ่งที่ดีของชุมชนเพื่อให้ลูกหลานได้สืบทอด ทั้งนี้นักวิจัยยังได้เห็นการใช้ประโยชน์พืชสมุนไพรจากป่าของชุมชน จึงมีแนวคิดที่จะช่วยต่อยอดพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป
“จากการที่เราเข้าไปศึกษาในพื้นที่ มีพืชที่ชาวบ้านเค้าแนะนำว่าพืชสมุนไพรอะไร รักษาโรคอะไรได้บ้าง ส่วนใหญ่มันเป็นทั้งอาหารและยาอยู่ในตัว ฉะนั้นถ้าเราอนุรักษ์ป่าดั้งเดิมไว้ได้ สิ่งที่ชาวบ้านจะได้นอกจากอาหารแล้วก็คือพืชสมุนไพร” .
ภาพประกอบจาก : http://www.oknation.netblogChiProject20100215entry-2