เบื้องหลัง'ธพว.'ตั้งเงื่อนไขพิสดาร? ปล่อยกู้ รร.นานาชาติ360ล.-ปริศนาเงินฝาก60ล.
เจาะลึก เบื้องหลัง ธพว. ตั้งเงื่อนไขปล่อยกู้ รร.นานาชาติ 360 ล. วิเคราะห์แล้ว ชำระหนี้ไม่ได้ แต่บอร์ดอยากปล่อยก็เลย ให้นำเงินกู้ 60 ล.ย้อนกลับมาฝาก เพื่อทยอยชำระหนี้เมื่อเงินฝากหมดบัญชี เป็นหนี้เสียทันที นำออกขายเดี่ยว ถูกตั้งข้อสังเกตกลบความผิดปกติ ?
กรณีการขายลูกหนี้ NPL ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ราย บริษัท รวมสินทรัพย์ไทย หรือโรงเรียนนานาชาติสยาม ตั้งอยู่บริเวณคลองสาม ถนนรังสิต-นครนายก อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี (ประธานกรรมการบริหารโรงเรียน คือ ศ.ดร.ธีระ สูตบุตร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วงปี 2539-2545 และ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) ตามประกาศของประธานคณะกรรมการขายหนี้ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 โดยมีข้อสังเกต
1.กระบวนขายหนี้นั้น ธนาคารฯนำลูกหนี้รายนี้ออกประมูลขายเดี่ยวเพียงรายเดียว ไม่นำไปรวมอยู่ในกองนี้ 7 กอง ตามแผนประมูลขายหนี้ NPL ของธพว.
2.ประเด็นกระบวนปล่อยกู้ ที่ธนาคารให้เงื่อนไขแก่ลูกหนี้รายนี้แตกต่างจากลูกหนี้รายอื่น กรณีให้ลูกหนี้นำเงินมาฝากบัญชีออมทรัพย์ 60 ล้านบาท ก่อนการเบิกใช้เงินกู้ที่ธนาคารฯอนุมัติ 360 ล้านบาท (อ่านประกอบ : เบื้องหลัง ขายหนี้ ร.ร.นานาชาติกลุ่มอดีต รมต. NPL 360ล. พันอดีตบิ๊ก ธพว. - ธปท.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เปิดเบื้องหลังการปล่อยสินเชื่อลูกหนี้รายนี้อย่างละเอียด
การอนุมัติสินเชื่อของ ธพว.ให้กับ บริษัท รวมสินทรัพย์ไทย จำกัด ซึ่งได้ยื่นขอสินเชื่อเมื่อปลายปี 2554 และบอร์ดบริหารของ ธพว.ในเวลานั้น ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 วงเงิน 360 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขพิสดารให้ลูกหนี้นำเงินมาฝากบัญชีออมทรัพย์ 60 ล้านบาทก่อนการเบิกใช้เงินกู้ที่อนุมัติ
มีข้อมูลระบุว่า การตั้งเงื่อนไขดังกล่าว มาจากความพยายามของบอร์ดบริหาร ของ ธพว.ในเวลานั้น ที่ต้องการจะปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้รายนี้ให้ได้ หลังจากเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์กระแสเงินสด โดยได้คาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นกับกิจการของลูกหนี้ เป็น 3 กรณี คือ กรณีดีที่สุด (Best Case) กรณีปกติ (Base Case) และกรณีที่คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายที่สุด (Worse Case) ซึ่งหลักเกณฑ์ของ ธพว.จะอนุมัติสินเชื่อได้ จะต้องเป็นกรณีที่แม้สถานการณ์จะเป็น Worse Case กิจการของลูกหนี้ก็ยังมีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้เงินกู้ที่อนุมัติไปได้
แต่เมื่อเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์กระแสเงินสดในรอบแรก ปรากฏว่า กิจการของลูกหนี้ไม่มีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะชำระหนี้ธนาคารได้ทั้ง 3 กรณี จึงได้ปรับสมมติฐานการวิเคราะห์ใหม่ ด้วยการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย เพื่อทำให้ตัวเลขของทั้ง 3 กรณีดีขึ้นกว่าปกติ แต่ก็ยังปรากฏว่ากระแสเงินสดในกรณี Worse Case ยังไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ได้อยู่อีก แต่หากจะปรับสมมติฐานต่อไป โดยเพิ่มรายได้ให้สูงขึ้น และลดค่าใช้จ่ายลงอีก ก็จะเห็นชัดว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของกิจการ
ซึ่งหากเป็นกรณีลูกหนี้ทั่ว ๆ ไป หน่วยงานสินเชื่อจะต้องปฏิเสธการขอสินเชื่อที่มีผลการวิเคราะห์ออกมาในลักษณะนี้ไปแล้ว เพราะไม่เคยปรากฏว่าลูกหนี้ที่มีผลการวิเคราะห์ในกรณี Worse Case แล้วไม่สามารถชำระหนี้ได้ จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อมาก่อน แต่ผู้บริหารในหน่วยงานสินเชื่อ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะกรรมการที่อยู่ในขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการอำนวยสินเชื่อของ ธพว.ถูกสั่งการให้นำเสนอและผ่านเรื่องการขออนุมัติสินเชื่อรายนี้ ให้เข้าไปยังบอร์ดบริหารโดยเร็ว เพื่อให้บอร์ดบริหารจะพิจารณาเองว่าจะอนุมัติหรือไม่ หรือจะอนุมัติโดยกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมอย่างไร จึงทำให้หน่วยงานสินเชื่อต้องนำเสนอทั้ง ๆ ที่ผิดหลักเกณฑ์สำคัญที่ไม่เคยทำกันมาก่อนเช่นนี้
การอนุมัติสินเชื่อของ ธพว. ที่ผ่านมา ถึงแม้ลูกหนี้จะเป็นหนี้เสียในภายหลัง แต่ผลการวิเคราะห์ ในขณะนำเสนอขออนุมัติจะต้องออกมาว่า ถ้าเกิด Worse Case กิจการของลูกหนี้ก็ยังคงสามารถชำระหนี้ธนาคารได้
ผู้ที่จะสามารถสั่งการให้เจ้าหน้าที่และผู้บริหารในหน่วยงานสินเชื่อ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีอยู่ถึง 10 ขั้นตอน ยอมปฏิบัติตามเช่นนี้ได้ ย่อมจะต้องมีอำนาจสูงสุดในธนาคาร และจะต้องอยู่ในคณะกรรมการที่ทำหน้าที่อนุมัติสินเชื่อด้วย ซึ่งในเวลานั้นคือ บอร์ดบริหาร เพราะถ้าหากเป็นการสั่งการจากบุคคลอื่น แต่บอร์ดบริหารไม่อนุมัติ การขออนุมัติสินเชื่อรายนั้นก็จะไม่สามารถสำเร็จได้
ทั้งนี้ 10 ขั้นตอน ในกระบวนการอำนวยสินเชื่อของ ธพว.ตั้งแต่เริ่มต้น จนไปถึงก่อนนำเสนอบอร์ดบริหาร จะต้องผ่านการพิจารณาของบุคคลและคณะกรรมการ ดังนี้
-เจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ
-ผู้ช่วยผู้จัดการส่วน
-ผู้จัดการส่วน
-รองผู้อำนวยการฝ่าย
-ผู้อำนวยการฝ่าย
-ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
-รองกรรมการผู้จัดการ
-ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อ
-คณะกรรมการสินเชื่อ
-กรรมการผู้จัดการ
-คณะกรรมการบริหาร
การนำเสนอตามขั้นตอนต่าง ๆ สำหรับลูกหนี้รายนี้ สามารถผ่านทั้ง 10 ขั้นตอนได้โดยฉลุย จนกระทั่งเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดบริหาร
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า บอร์ดบริหารซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านบัญชีและด้านอื่น ๆ เมื่อพิจารณารายงานการวิเคราะห์กระแสเงินสดในกรณี Worse Case ก็จะพบว่าลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ธนาคารได้ อีกทั้งจากองค์ประกอบต่าง ๆ ของลูกหนี้รายนี้ มีโอกาสที่จะเกิด Worse Case ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจาก เห็นได้ชัดจากเจ้าของเดิมที่ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ จนถูกฟ้องยึดทรัพย์จากธนาคารกรุงไทย
ซึ่งก็หมายความว่า ลูกหนี้รายใหญ่รายแรกที่บอร์ดบริหารชุดนี้กำลังจะอนุมัติ จะต้องกลายเป็นหนี้ NPL หลังการอนุมัติในเวลาไม่นาน และก็จะถูกมองว่า อนุมัติสินเชื่อโดยหละหลวม แต่ก็เป็นเรื่องที่บอร์ดบริหารต้องการที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้รายนี้ให้ได้ จึงต้องหาวิธีการที่จะอนุมัติสินเชื่อออกไปแล้วไม่เป็นหนี้เสียในทันที ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ ต้องมีเงินก้อนหนึ่งนำไปฝากไว้ในบัญชีของลูกหนี้ แล้วทยอยนำออกมาชำระหนี้ในแต่ละเดือน เป็นเวลา 2-3 ปี หลังจากนั้น เมื่อเงินหมดจากบัญชีแล้ว ลูกหนี้จะกลายเป็น NPL ก็ยังสามารถอ้างได้ว่า เป็นเพราะสถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป
จึงเป็นวิธีการปิดความเสี่ยงที่ทำให้ธนาคารไม่ได้รับชำระหนี้ แม้จะไม่ถูกต้อง เพราะเงินที่นำมาชำระหนี้ไม่ได้มาจากรายได้ของกิจการลูกหนี้ แต่ก็เป็นการปิดความเสี่ยงของผู้อนุมัติว่า ไม่ได้ปล่อยสินเชื่อแล้วเป็นหนี้เสียในทันที บอร์ดบริหารจึงได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมจากที่หน่วยงานสินเชื่อนำเสนอคือ ให้ลูกหนี้นำเงินจำนวน 60 ล้านบาท ฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์เพื่อทยอยตัดชำระหนี้ นอกจากนี้เพื่อให้ดูว่าเป็นเงินของลูกหนี้ จึงกำหนดให้ลูกหนี้ฝากเงินจำนวนดังกล่าว ก่อนการเบิกเงินกู้
หลังจากได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว ลูกหนี้จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด คือ นำเงินจำนวน 60 ล้านบาทไปฝากไว้กับ ธพว. ก่อนการเบิกเงินกู้ 1 วัน เงินจำนวน 60 ล้านบาท ที่เข้าไปอยู่ในบัญชีเงินฝากของลูกหนี้ 1 วัน ก่อนการเบิกเงินกู้ 360 ล้านบาท มาจากแหล่งใด และเป็นเงินของลูกหนี้แท้จริงหรือไม่ ในตอนที่กำหนดเงื่อนไขนี้เพิ่มเติมเข้าไป บอร์ดบริหารไม่ได้พิจารณาในเรื่องนี้
จึงมีข้อสันนิษฐานว่า เงินจำนวน 60 ล้านบาท ลูกหนี้น่าจะผ่อนถ่ายเอามาจากเงินกู้ 360 ล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติจาก ธพว. แต่ปัญหาคือจะต้องหาเงินจำนวน 60 ล้านบาท มาล่วงหน้า 1 วันก่อนเบิกเงินกู้ จึงต้องมีแหล่งเงินกู้นอกระบบที่จะสามารถหยิบยืมได้ แล้วคืนกันในวันรุ่งขึ้นหรือไม่
หากเป็นดังนี้คนที่จะกล้าให้ลูกหนี้หยิบยืมเงินจำนวนถึง 60 ล้านบาทได้ก็จะต้องเป็นคนที่มั่นใจว่าลูกหนี้มีแหล่งเงินที่จะสามารถคืนเงินได้ตามกำหนด จึงจะต้องเป็นบุคคลที่สามารถควบคุมแหล่งเงินที่ลูกหนี้จะนำเอาเงินไปคืนตนเองได้ ทำให้เห็นว่าไม่พ้นคนของ ธพว.ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่อรายนี้ เพียงแต่ว่าจะใช้เงินส่วนตัว หรือเป็นเพียงผู้ประสานงานกับแหล่งเงินนอกระบบ
หลังจากกระบวนการนอกระบบในส่วนนี้เสร็จสิ้นแล้ว เมื่อลูกหนี้เบิกเงินกู้ 360 ล้านบาทออกไป แล้ว ก็จะแบ่งส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้นอกระบบคนดังกล่าว จึงเท่ากับว่า เงินจำนวน 60 ล้านบาท ที่ลูกหนี้นำมาฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ ก็เป็นเงินกู้จากธนาคารนั่นเอง และใช้ย้อนกลับมาชำระหนี้ธนาคารในช่วง 2 ปี
จึงเรียกว่าเป็นเงื่อนไขพิสดารที่นักการธนาคารโดยทั่วไปจะไม่ทำกัน แต่อาจจะเป็นมุมมองที่แตกต่างจากนักบัญชีและนักบริหารเงิน และเป็นเหตุให้แบงก์ชาตตั้งข้อสังเกตไว้โดยละเอียดในเรื่องนี้
การอนุมัติสินเชื่อของบอร์ดบริหารที่เข้าไปทำหน้าที่เมื่อปลายปี 2554 ให้กับลูกหนี้ราย บริษัท รวมสินทรัพย์ไทย 360 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายใหญ่รายแรกของบอร์ดบริหารชุดนั้น ไม่ต่างกับการอนุมัติสินเชื่อของบอร์ด ธพว.ชุดปัจจุบัน ให้กับ หจก.โรงสีข้าวจงเจริญ 125 ล้านบาท ในปี 2557 ที่เป็นการอนุมัติสินเชื่อรายใหญ่ หลังจากเข้าไปทำหน้าที่ใน ธพว.ได้ไม่ถึง 1 เดือน และทั้ง 2 ราย เป็นหนี้เสียอยู่ในปัจจุบัน
จึงทำให้เห็นว่า ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าไปทำหน้าที่ในรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เมื่อมีอำนาจอยู่ในมือแล้ว ก็เร่งรีบใช้อำนาจ หลังจากพ้นหน้าที่ออกไปแล้ว ก็ทิ้งความเสียหายไว้เบื้องหลัง องค์กรที่มีธรรมาภิบาลสูงอย่างแบงก์ชาติจึงควรได้พิจารณาในเรื่องนี้ ?
อ่านประกอบ:
แฟ้มลับ ธปท.กรณี ธพว.ปล่อยกู้ ร.ร. นานาชาติ ก่อนติด NPL อันดับหนึ่ง359 ล.