3 ปัจจัยหนุนรัฐพลิกชูพัฒนาศก.ดับไฟใต้ เปิดเบื้องลึกเลือก 3 เมืองต้นแบบพัฒนา
จันทร์ที่ 25 ก.ค.59 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เดินทางลงพื้นที่ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี
ขอสัญญา "สร้างพื้นที่ปลอดภัย" หวังลุยพัฒนา
ภารกิจสำคัญที่สุดของนายกฯ คือประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจน ยั่งยืน และเชื่อมต่อกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงโลกมุสลิม โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวตอนหนึ่งของการแถลงข่าวที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ขอสัญญาจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ช่วยกันสร้างความปลอดภัย ลดความรุนแรง เพื่อให้รัฐบาลได้พัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ สร้างสันติสุขให้ได้อย่างยั่งยืน
“ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม ทั้งหมดถือเป็นพี่น้องกัน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินงานตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงพระราชทานไว้ รัฐบาลนี้ต้องการทำให้ทุกคนมีความสุข ไม่มีความขัดแย้ง ทำให้ทุกคนมีรายได้พอเพียงและมีงานทำ”
“การลงพื้นที่มาครั้งนี้ผมได้นำหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้างานด้านความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อมาแสดงให้ทุกคนได้เห็นว่ารัฐบาลนี้มีความตั้งใจและมั่นใจในการทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะทำให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีความเจริญรุ่งเรือง มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยยึดหลักความต้องการของประชาชนในพื้นที่”
“ที่ผ่านมาการบริหารราชการแผ่นดินอาจไม่ได้ตามเป้าหมายเพราะเกิดข้อผิดพลาด ซึ่งรัฐบาลก็พยายามแก้ไขปัญหา วันนี้เราทุกคนต้องการทำให้พื้นที่ภาคใต้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน มั่นคง และแข็งแรง จึงอยากขอคำสัญญาจากทุกคนให้ร่วมมือกันทำให้พื้นที่นี้มีความปลอดภัย ทำให้เกิดความสันติสุข การก่อเหตุรุนแรงลดลง ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าความรุนแรงนั้นได้ลดลงตามลำดับตั้งแต่ปี 2557-2558 รัฐบาลต้องการนำเศรษฐกิจที่แข็งแรงมาลงในพื้นที่อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเรื่องของเกษตรกร ปศุสัตว์ การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ อุตสาหกรรมด้านต่างๆ”
3 ปัจจัยหนุนรัฐดันเศรษฐกิจดับไฟใต้ยั่งยืน
จากการตรวจสอบของ “ทีมข่าวอิศรา” ได้ข้อมูลว่า สาเหตุที่นายกรัฐมนตรีเลือกลงพื้นที่ชายแดนใต้ในช่วงนี้ เพราะเห็นว่าสถานการณ์ในพื้นที่กำลังเดินเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญที่จะพลิกฟื้นสู่การพัฒนาและการสร้างความสงบสุขอย่างยั่งยืนได้
โดยปัจจัยเกื้อหนุนที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงเห็นตรงกันมีอยู่ 3 ปัจจัยหลัก คือ
1.รัฐสามารถควบคุมการก่อเหตุรุนแรงและความสูญเสียได้ในระดับที่น่าพอใจ สถิติโดยรวมตั้งแต่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง ทำให้การก่อเหตุและความสูญเสียลดลงถึงร้อยละ 45
2.โมเดล "ประชารัฐ" ที่ให้รัฐร่วมมือกับภาคประชาชนในการจัดทำโครงการพัฒนาจากล่างขึ้นบน ทำให้สามารถพัฒนาได้อย่างตรงเป้า และยังคัดกรองครัวเรือนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐได้ราว 5 พันครัวเรือน (จากครัวเรือนทั้งหมดในพื้นที่กว่า 4 แสนครัวเรือน) พร้อมจัดงบพัฒนาคุณภาพชีวิตให้อย่างตรงจุด
3.นโยบายพาคนกลับบ้าน ดึงผู้เห็นต่างที่หลบหนีอยู่ให้กลับภูมิลำเนา โดยยอดเฉพาะปีนี้พุ่งถึง 2,229 ราย
ขณะที่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเดินหน้าต่อ
เบื้องลึกเลือก 3 เมืองต้นแบบพัฒนาชายแดนใต้
หลักใหญ่ใจความในการลงพื้นที่เที่ยวนี้ของผู้นำรัฐบาลก็คือ การประกาศแผนพัฒนาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบของ “สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ” ที่เรียกว่า “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
แนวทางการพัฒนาคือการดึงศักยภาพของท้องถิ่น ทั้งเกษตร, อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว พร้อมๆ กับอัตลักษณ์เมืองมุสลิม เพื่อไขว่คว้าโอกาสในการพัฒนาเชื่อมโยงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ที่มีประเทศมุสลิมถึง 3 ประเทศจาก 10 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน
โดยเฉพาะอินโดนีเซียเป็นชาติที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก ถึงกว่า 200 ล้านคน
ขณะเดียวกันก็จะใช้ศักยภาพของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดประตูการค้าสู่โลกอาหรับที่นับวันประชากรมุสลิมจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และจะมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรโลก หรือ 2,200 ล้านคน ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
โครงการ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” จึงเลือกเมืองต้นแบบ 3 เมืองของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลักดันยุทธศาสตร์เหลี่ยมเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนเกษตรอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวไปพร้อมกัน
สามเมืองที่ว่านี้คือ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา และอ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
โดย เมืองหนองจิก ปัตตานี จะเป็นเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน มุ่งเน้นการพัฒนาการค้าขาย, วิสาหกิจชุมชน, การเกษตร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนความมั่นคงทางพลังงาน
เมืองเบตง ยะลา เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการท่องเที่ยว และการค้าชายแดนสู่เมืองปีนัง รัฐเประ และรัฐเคดาห์ของมาเลเซีย โดยปัจจุบันกำลังเริ่มลงเสาสร้างสนามบินเบตงแล้ว
เมืองสุไหงโก-ลก นราธิวาส เป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาการค้าข้ามแดนกับประเทศมาเลเซียฝั่งรัฐกลันตัน เน้นการท่องเที่ยวและวิสาหกิจชุมชน
“ทีมข่าวอิศรา” ได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาว่า การเลือก อ.เบตง และ อ.สุไหงโก-ลก นั้น มีเหตุผลในแง่เศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะมีสถานะเป็นเมืองท่องเที่ยวชายแดนอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมืองเบตงที่มีเหตุรุนแรงค่อนข้างเบาบาง
ขณะที่เมืองสุไหงโก-ลกนั้น แม้จะมีสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นระยะ โดยเฉพาะคาร์บอมบ์ แต่ฝ่ายความมั่นคงให้น้ำหนักไปที่ปัญหาภัยแทรกซ้อนจากสินค้าหนีภาษีและน้ำมันเถื่อนมากกว่า เพราะแม้จะเกิดเหตุรุนแรงขนาดใหญ่หลายครั้ง แต่สุไหงโก-ลกก็ยังมีศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญด้วยตัวของตัวเอง และนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียหรือสิงคโปร์ไม่เคยปฏิเสธที่จะเดินทางมา
แต่การเลือก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พบว่ามีเหตุผลด้านความมั่นคงรองรับอยู่ไม่น้อย เพราะหนองจิกเป็นเมืองยุทธศาสตร์ทางความมั่นคงมาตั้งแต่อดีต เป็นเมืองหน้าด่านก่อนเข้าเมืองปัตตานี และเป็นที่ตั้งของค่ายอิงคยุทธบริหาร หรือค่ายบ่อทอง ค่ายทหารใหญ่ที่สุดค่ายหนึ่งในภาคใต้ตอนล่าง รวมถึงท่าอากาศยานปัตตานี หรือสนามบินบ่อทอง ก็เป็นสนามบินทหารที่สำคัญยิ่งในทางยุทธศาสตร์
ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงชัดเจนว่า อ.หนองจิกเป็นแหล่งซ่อนตัวของผู้ก่อความไม่สงบ และเป็นหนึ่งในไม่กี่อำเภอที่วันนี้ฝ่ายทหารยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างสมบูรณ์
หลายครั้งการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่เขตเมืองปัตตานี ทั้งคาร์บอมบ์และเหตุอื่นๆ กลุ่มผู้ก่อการมักใช้ อ.หนองจิก ในการซุ่มซ่อนก่อนโจมตี
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ คาร์บอมบ์หลังฐานของหน่วยตำรวจปฏิบัติการพิเศษปัตตานี 11 เมื่อวันเสาร์ที่ 27 ก.พ.59 ใกล้กับด่านตรวจทางเข้าเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นคาร์บอมบ์ลูกแรกของปีนี้
หรือการบุกทลายฐานฝึกและฐานประกอบระเบิดในป่าโกงกางริมทะเล บ้านตันหยงเปาว์ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก เมื่อวันที่ 10 ก.พ.59 ยึดถังแก๊สและอุปกรณ์ที่สามารถนำไปประกอบระเบิดได้รวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 30 ลูก เป็นต้น
การเลือกเมืองหนองจิกเป็นส่วนฐานของสามเหลี่ยมเมืองต้นแบบ จึงเสมือนเป็นการทิ้งไพ่ใบสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนงานพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อวัดใจประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ว่าจะเลือกอยู่ในอาณาจักรแห่งความหวาดกลัวต่อไป
หรือจะก้าวไปข้างหน้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนพร้อมกับรัฐบาล!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 นายกรัฐมนตรีขณะแถลงข่าวที่ จ.นราธิวาส (ภาพโดย ปทิตตา หนูสันทัด)
2-3 แผนภาพและแผนที่แสดงเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน (ภาพจากเอกสารของ ศอ.บต.)