ความขัดแย้งใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม้สักจากสวนป่า ถึงการสร้างรัฐสภาใหม่
พื้นที่แปลงสวนป่าไม้สักที่ปลูกเมื่อปี 2521 สวนป่าแม่หอพระ จ.เชียงใหม่ ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2514 แต่มีความขัดแย้งหรือไม่ชัดเจนในอดีตของหน่วยงานภาครัฐในการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ว่า จะให้เป็นสวนป่าเศรษฐกิจหรือพื้นที่อนุรักษ์ให้ชุมชนใช้ประโยชน์ และปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นรุนแรง จนปัจจุบันกรมป่าไม้และ อ.อ.ป.ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้
ตามที่ปรากฎข่าวช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนได้คัดค้านการทำไม้สัก บริเวณสวนป่าแม่หอพระ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำมาสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ต่อมานายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ระงับการทำไม้สัก และพิจารณาดำเนินการนำพื้นที่ส่วนป่าบริเวณดังกล่าวกลับไปเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งต่อไปกรมป่าไม้จะสามารถอนุญาตให้ชุมชนใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งให้ดูแลเรื่องเงินชดเชยแก่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ หากไม่อนุญาตให้ต่อสัญญานั้น
สำหรับพื้นที่สวนป่าไม้สัก บริเวณสวนป่าแม่หอพระ จังหวัดเชียงใหม่ ผศ.ดร.ชวัญชัย ดวงสถาพร หัวหน้าภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ ให้ข้อมูลว่า ปลูกเมื่อปี 2521 โดยอ.อ.ป. ได้รับอนุญาตให้ทำการปลูกสร้างสวนป่าตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2514
และเมื่อปี 2528 กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้ อ.อ.ป.ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแห่งนี้ เป็นสวนป่าเศรษฐกิจ ระยะเวลา 30 ปี ตามมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ 2507 อีกทั้ง ยังอาจมีการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบริเวณเดียวกันนี้ เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการพระราชดำริในปี 2535
นอกจากนี้ กรมป่าไม้ยังมอบหนังสือรับรองการขึ้นที่ดินเป็นสวนป่า ตามพระราชบัญญัติสวนป่า 2535 แก่ อ.อ.ป.เมื่อปี 2537 อีกด้วย ในขณะที่ประชาชนบริเวณนั้นบางส่วนมีกิจกรรมการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าบริเวณนี้ และคัดค้านไม่ให้ อ.อ.ป. ตัดไม้สักมาโดยตลอด
ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวครบกำหนดการอนุญาตตามมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ 2507 เมื่อปี 2558 ซึ่งขณะนี้กรมป่าไม้อยู่ระหว่างการพิจารณาต่อเวลาการอนุญาตให้ อ.อ.ป. ใช้ประโยชน์
พื้นที่แปลงสวนป่าไม้สัก สวนป่าแม่หอพระ จังหวัดเชียงใหม่ ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2514 แต่มีความขัดแย้ง หรือความไม่ชัดเจนในอดีตของหน่วยงานภาครัฐในการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ว่า จะให้เป็นสวนป่าเศรษฐกิจหรือพื้นที่อนุรักษ์ให้ชุมชนใช้ประโยชน์ และได้ปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นรุนแรง จนปัจจุบันกรมป่าไม้และ อ.อ.ป.ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้
จากปัญหาดังกล่าว ผศ.ดร.ชวัญชัย ชี้ว่า ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการสร้างแรงจูงใจในการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ และรัฐต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมาชดเชยปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศตามที่กำหนดในนโยบายป่าไม้แห่งชาติ 2528 กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ที่กำหนดให้มีป่าอนุรักษ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 และป่าเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ
"ป่าทั้ง 2 ประเภท ล้วนมีความสำคัญยิ่งต่อการเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ อีกทั้งต้องลดความขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ของชาติอย่างยั่งยืน"
พร้อมทั้งมีข้อเสนอ ดังนี้
1.กรมป่าไม้ ควรยืนยันและสร้างความชัดเจนถึงขอบเขตพื้นที่ป่าเศรษฐกิจที่รัฐได้จำแนกและอนุญาตให้หน่วยงานหรือประชาชนใช้ประโยชนฺ์แล้ว และในอนาคตจะต้องไม่อนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ เป็นป่าเศรษฐกิจในกรณีที่ได้พิสูจน์แล้วว่า พื้นที่นั้นมีคุณค่าสูงด้านการอนุรักษ์ (High conservation value) ตามหลักวิชาการหรือตามมาตรฐานสากลขององค์การระหว่างประเทศ เช่น เป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่มีพันธุ์พืช หรือสัตว์หายาก ถูกคุกคาม หรือใกล้สูญพันธุ์ แหล่งต้นน้ำลำธาร หรือพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น
2.ปฏิรูปองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ให้มีบทบาทหลักนอกจากปลูกป่าเศรษฐกิจแล้ว ควรมีบทบาทหลักในการฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่ได้จำแนกแล้วว่า เป็นพื้นที่ที่จะต้องปลูกฟื้นฟู เช่น พื้นที่เขาหัวโล้น หรือป่าเสื่อมโทรม โดยใช้งบประมาณแผ่นดินที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่้งแวดล้อม ที่มีความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการปลูกป่าในพื้นที่ขนาดใหญ่ และป่าที่จะต้องปลูกฟื้นฟู ตามที่กำหนดให้แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารการจัดทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งหัวหน้าคสช.ได้อนุมัติให้ใช้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 โดยใช้แผนที่ One Map เป็นฐานในการจำแนก
3.ให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานกำหนดและควบคุมนโยบายเป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการจำแนกเขตใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ (Zoning) ทั้งพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ
ขณะที่ ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ระบุเช่นกันว่า ในแผนสภาพัฒน์ฯ ได้ระบุถึงเศรษฐกิจสีเขียว สังคมคาร์บอนต่ำ การใช้ไม้จะเป็น "พระเอก" ได้ หากเราหันมาส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ
"ผมอยากให้คนไทยเข้าใจให้ถูกต้อง แล้วประเทศไทย 15% ต้องเป็นป่าเศรษฐกิจจึงนำไปสู่ความยั่งยืน"ผศ.ดร.นิคม ย้ำชัด พร้อมกับมองถึงกระแสคัดค้านการตัดต้นไม้ จากสวนป่าของอ.อ.ป.เพื่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นั้น อาจเป็นเพราะประชาชนเห็นการปลูกป่าเศรษฐกิจของ อ.อ.ป. ในพื้นที่นั้นๆ มาไม่ต่ำกว่า 30-50 ปี จึงรู้สึกเสียดาย อ.อ.ป.ตัดไม้ทุกปี และมีการปลูกทดแทนทุกปีหลายพันไร่ ถือเป็นภารกิจปกติ
พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.นิคม ยังเสนอให้หน่วยงานในประเทศไทย มีองค์กรแบบ อ.อ.ป. สัก 10 แห่ง ประเทศไทยจะได้เป็นพื้นที่สีเขียว ในหน้าแล้งก็มีน้ำ ในหน้าฝนน้ำก็ไม่ท่วม และอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงก็มีป่าคอยรักษาไว้ ไม่ให้สูงมากหรือต่ำจนเกินไป
ส่วนนายพิพัฒน์ ชนินทยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการ อ.อ.ป. กล่าวถึงพื้นที่ป่า มีทั้งป่าอนุรักษ์และป่าเศรษฐกิจ ป่าอนุรักษ์ คือ ป่าที่ปลูกไว้เพื่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและต้นน้ำลำธาร ส่วนป่าเศรษฐกิจ คือ ป่าที่ปลูกและสามารถตัดไม้นำมาใช้ประโยชน์ เมื่อตัดเสร็จก็จะมีการปลูกป่าเพื่อทดแทนอย่างเดิม ปัจจุบัน นายกฯ มีคำสั่งไม่ให้ตัดทางอ.อ.ป.ก็ระงับไว้ก่อน
"เรื่องไม้ 4,000 กว่าท่อนที่จะเอาไปสร้างรัฐสภาคิดเป็นเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ จากที่ส่งออกปีละ 2-3 แสนต้น ไม้สัก 1 ต้นเราจะตัดตามรอบระยะเวลาประมาณ 15-20 ปี จะตัดครั้งหนึ่ง สมมติปลูกป่าไร่ละ 100 ต้น พออายุถึง15-20 ปี ก็จะตัดออกครึ่งนึ่ง 50 ต้น ที่เหลือก็จะเก็บไว้จนกระทั้ง 45 ปี ก็จะตัดครั้งสุดท้าย"
ส่วนที่นายกฯ ระบุให้คืนพื้นที่ดังกล่าวกลับไปเป็นป่าธรรมชาติ ผอ.อ.อ.ป. บอกว่า คงต้องเป็นเรื่องของกรมป่าไม้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องดำเนินการ ดูถึงวิธีการดำเนินการคืนพื้นที่ให้กลับมาเป็นป่าธรรมชาติ พื้นที่สวนป่าแม่หอพระมี อยู่ 9 พันกว่าไร่ เราจะส่งคืนเป็นป่าธรรมชาติ 1.2 พันไร่
"วันนี้ หากทางรัฐสภายังต้องการไม้สักอยู่ ทางอ.อ.ป.สามารถจะหาไม้จากสวนป่าอื่นๆนำไปส่งได้"
นายพิพัฒน์ ทิ้งท้ายไว้ว่า "ในเมื่อคนเรายังมีความจำเป็นที่ต้องใช้ไม้ ถ้าไม่มีป่าเศรษฐกิจก็ต้องไปตัดไม้กันในป่าธรรมชาติ ฉะนั้นป่าเศรษฐกิจจะเป็นตัวป้องกันไม่ให้คนไปลักลอบตัดไม้จากป่าธรรมชาติ ผมว่า แม้กระทั่งคนที่ประท้วง ที่บ้านก็มีเฟอร์นิเจอร์ต้องใช้ไม้เช่นกัน”
ด้านองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกมาระบุ โดยตอบคำถาม ทำไมประเทศไทย ต้องมีสวนป่าเศรษฐกิจ
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชี้ว่า ตราบใดที่มีความต้องการใช้ทรัพยากรไม้อยู่ ก็ต้องมีการตัดไม้มาใช้ประโยชน์อยู่เรื่อยๆ สวนป่าเศรษฐกิจจึงเป็นคำตอบที่ช่วยจัดการทรัพยากรป่าไม้ให้มีอย่างยั่งยืน เพราะใช้วิธีปลูกใหม่และตัดส่วนนั้นไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยไม่ต้องตัดทอนต้นทุนทรัพยากรป่าไม้ที่มีอยู่ก่อน
นอกจากจะเป็นผลดีด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นประโยชน์ทางตรงที่ประเทศชาติได้รับ ยังมีประโยชน์ทางอ้อม นั่นคือ ช่วยการลดปัญหาการลักลอบตัดไม้จากป่าอนุรักษ์ ช่วยรักษาพื้นที่ป่าธรรมชาติให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด และรักษาสมดุลของระบบนิเวศ
.
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังเปรียบเทียบให้เห็นภาพด้วยว่า สวนป่ายังเปรียบเหมือนกล่องใบใหญ่ที่ช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดมหึมา เพราะต้นไม้จะใช้คาร์บอนในการสร้างเนื้อไม้ ใบไม้ การตัดไปใช้ประโยชน์ แล้วปลูกใหม่ก็เท่ากับว่า นำกล่องใหม่มาช่วยเก็บคาร์บอนไดออกไซด์