นายกฯ เผยผุดกองทุนสวัสดิการชาวนา มีบำนาญใช้ยามชราภาพ
นายกฯ เผย กขช. เห็นชอบหลักการตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา ให้มีบำนาญใช้ยามชรา มอบให้กระทรวงเกษตรฯ ยกร่างพ.ร.บ. จัดตั้งกองทุนฯ มาเสนอ ย้ำการจัดการต้องไม่ซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่น ด้านธีระรับลูกยกร่างฯไว้แล้ว เน้นความสมัครใจและมีส่วนร่วมกำหนดรูปแบบส่งเสริมเงินสะสมเข้ากองทุนเอง
เมื่อเร็วๆ นี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ว่า ที่ประชุม กขช.เห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปยกร่างกฎหมายการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวมานำเสนอในรูปแบบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แต่การดำเนินงานจะต้องพิจารณาดูความสัมพันธ์ระหว่างกองทุนสวัสดิการชาวนากับกองทุนเงินออมแห่งชาติด้วย ซึ่งได้รับรายงานว่า ทางสำนักงานกฤษฎีกาได้ตรวจร่างเสร็จเรียบร้อยและจะนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว
"หลักการในการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนามีลักษณะคล้ายกับกองทุนเงินออมแห่งชาติ โดยชาวนาจะจ่ายเงินสมทบส่วนหนึ่งจากการขายข้าวในแต่ละปีเข้าสมทบในกองทุน และรัฐบาลจะออกเงินสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว จะใช้ระบบสมัครใจของชาวนาเองไม่มีการบังคับ"
นายธราดล เปี่ยมพงษ์ศานต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กองทุนสวัสดิการชาวนามีรูปแบบคล้ายกับกองทุนสวัสดิการสังคม โดยจะทำในรูปแบบสมัครใจ ซึ่งการพิจารณาครั้งนี้มีการตั้งตุ๊กตา เช่น ให้ชาวนาสมทบ 3% ของรายได้จากการขายข้าวเปลือกในแต่ละปี ขณะที่รัฐสมทบ 2 เท่า แต่ยังไม่มีข้อสรุป เพราะต้องให้กระทรวงเกษตรฯไปจัดทำข้อมูลโดยละเอียดเพื่อออกมาเป็น พ.ร.บ.ก่อน
สำหรับสวัสดิการของชาวนาที่ร่วมโครงการ ประกอบด้วย เงินบำเหน็จบำนาญ เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพหรือเสียชีวิต เงินสงเคราะห์บุตร รวมทั้งการจัดหาปัจจัยการผลิตโดยไม่ซ้ำซ้อนกับส่วนที่รัฐบาลจัดหาให้อยู่แล้ว เช่น ค่ารักษาพยาบาล โดยการบริหารกองทุนนี้จะประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล ชาวนา และผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมกันนี้ กระทรวงเกษตรฯต้องหาวิธีบริหารจัดการกองทุนสำหรับสมาชิกบางรายไม่ให้ซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่น รวมทั้งกรณีที่ชาวนาบางราย บางครั้งก็เข้ามาอยู่ในระบบของกองทุนประกันสังคม และบางครั้งก็กลับไปทำนา
ทั้งนี้ กรณีที่รัฐบาลเห็นควรจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา เพื่อต้องการให้เป็นอาชีพที่มีศักดิ์ศรี เพราะเห็นว่าประเทศไทยมีชาวนามากถึง 3.7 ล้านครัวเรือน หรือ 15-17 ล้านคน หรือคิดเป็น 64% ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด โดยในแต่ละปีสามารถปลูกข้าวได้ผลผลิตมากถึง 30 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศปีละ 180,000-200,000 ล้านบาท
ด้านนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในส่วนของร่างพ.ร.บ.กองทุนสวัสดิการชาวนาที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ยกร่างไว้เรียบร้อยแล้วนั้นมีทั้งสิ้น 7 หมวด รวม57มาตราที่สำคัญ ได้แก่ องค์ประกอบของคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชาวนา หรือ กสช.เพื่อควบคุมและบริหารกิจการของกองทุน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน,ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,อธิบดีกรมบัญชีกลาง,อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร,อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์,อธิบดีกรมการข้าว และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว,กฎหมาย,เศรษฐศาสตร์การเงิน หรือการธนาคาร อีกด้านละ 1 คน และที่สำคัญคือผู้แทนชาวนา จำนวน 6 คน โดยมีผู้จัดการสำนักงานกองทุนสวัสดิการชาวนาเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการกองทุนฯ
สำหรับกรอบแนวคิดที่สำคัญของการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา ประกอบด้วย 5 แนวทางหลักด้วยกัน คือ 1.เป็นสวัสดิการเพื่อประโยชน์สำหรับสมาชิกที่ประกอบอาชีพทำนาโดยเฉพาะ และมีรายได้แน่นอน 2.มีการเก็บเงินเข้ากองทุนโดยคำนวณจากฐานรายได้ของการจำหน่ายข้าวเปลือกในแต่ละปี 3.จัดให้มีสวัสดิการด้านอื่นๆ เช่น การจัดหาปัจจัยการผลิตและอื่นๆ ให้กับผู้ประกอบอาชีพทำนา 4.รัฐบาลสามารถพิจารณาเงินที่จะมาสมทบจากฐานภาษีรายได้ของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับข้าว ซึ่งจะทำให้กองทุนมีความมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น 5.การสร้างแรงจูงใจให้ชาวนาเห็นว่าอาชีพทำนามีเกียรติศักดิ์ศรีและมั่นคง ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนรุ่นใหม่มีความรักและยึดถือการประกอบอาชีพทำนาต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนสาระสำคัญนอกจากจะให้ชาวนาเป็นสมาชิกด้วยความสมัครใจ โดยมีข้อจำกัดขั้นสูงของพื้นที่นาเพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุนดังกล่าวแล้ว กระทรวงเกษตรฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะชาวนาให้เข้ามามีส่วนร่วมในกำหนดรูปแบบการส่งเงินสะสมเข้ากองทุนให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และจะเร่งหาวิธีบริหารจัดการกองทุนโดยจะศึกษาข้อมูลการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการสำหรับเกษตรกรแยกออกจากสวัสดิการพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไปมาประกอบด้วย เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย