นายกฯลงใต้ชู ศก.สู้ภัยความไม่สงบ ดัน "หนองจิก-เบตง-โกลก" เชื่อมโลกมุสลิม
แม้สมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยเดินทางลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้บ่อยครั้ง แต่เมื่อก้าวขึ้นเป็นหัวหน้า คสช. เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเด็นเมื่อเดือน พ.ค.57 และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา กลับปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เคยลงพื้นที่ชายแดนใต้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลย
เคยแวะมาเฉียดๆ บ้าง เช่นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อประกาศนโยบาย “รับเบอร์ ซีตี้”
สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภารกิจในหมวกนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ค่อนข้างมากและหลากหลาย ขณะที่งานทั้งด้านความมั่นคงและพัฒนาพื้นที่ก็อยู่ในความรับผิดชอบของ “พี่ใหญ่” อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว โดยใช้โครงสร้างคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต. ทำให้นายกรัฐมนตรีวางใจในระดับหนึ่ง
ส่วนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายกรัฐมนตรีก็เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ หรือ steering committee ด้วยตัวเอง สะท้อนว่าปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่อยู่ในความสายตาของนายกรัฐมนตรีตลอดมา
สำหรับการลงพื้นที่ จ.นราธิวาส ในวันจันทร์ที่ 25 ก.ค. นายกรัฐมนตรีก็จะไปประกาศทิศทางการพัฒนาพื้นที่รองรับเออีซี หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแต้มต่อ เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เชื่อมกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย สองเพื่อนบ้านอาเซียนที่เป็นประเทศมุสลิมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก
เป็นการประกาศทิศทางการพัฒนาในจังหวะเวลาที่ฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะทหารเชื่อมั่นว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ได้เกือบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และสลายโครงสร้างของกลุ่มก่อความไม่สงบ หรือขบวนการที่มีเป้าหมายแบ่งแยกดินแดนได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า การลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของนายกรัฐมนตรีหนนี้ สืบเนื่องจากรัฐบาลเตรียมผลักดันโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ร่วมกับหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งนักธุรกิจในพื้นที่ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้อัตลักษณ์ของตนเองเชื่อมต่อกับประเทศโลกมุสลิม ภายใต้แนวคิดสานพลังประชารัฐผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ หรือ Big push เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่
โดยรัฐบาลจะพัฒนา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ขึ้นเป็นเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน พัฒนา อ.เบตง จ.ยะลา ขึ้นเป็นเมืองของการพัฒนาที่พึ่งตนเองด้านพลังงานแบบยั่งยืน และพัฒนา อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศ โดยทั้ง 3 เมืองจะยึดโยงกันเป็นสามเหลี่ยม อันจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอาณาเขตโดยรอบ
สำหรับแผนปฏิบัติการที่จะขับเคลื่อนโครงการนี้แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 พ.ศ.2560-2562 จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่พิเศษ, จัดตั้งกองทุนส่งเสริมนักธุรกิจรุ่นใหม่, ออกพันธบัตรพัฒนาชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้, ปรับปรุงท่าเรือปัตตานี, ขยายสถานีรถไฟโคกโพธิ์, ปรับปรุงระบบประปา ไฟฟ้า และการขนส่ง เป็นต้น
ส่วนระยะที่ 2 พ.ศ.2563-2565 จะเชื่อมโยงการขนส่งจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์
“นายกฯสนับสนุนให้ใช้มิติทางเศรษฐกิจช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเกิดความสันติสุขอย่างยั่งยืน โดยการเดินทางลงพื้นที่ จ.นราธิวาส ในวันจันทร์ที่ 25 ก.ค. จะมีการประชุมเพื่อขอความเห็นชอบแผนปฏิบัติการโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน การจัดตั้งคณะทำงานสานพลังประชารัฐ คณะที่ 13 รับผิดชอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการพิจารณาเงื่อนไขพิเศษสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การหักค่าขนส่ง ไฟฟ้า ประปาในการคำนวณภาษี รวมถึงการจูงใจบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาทำงานในพื้นที่” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แผนที่ระดับอำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลาที่มีปัญหาความไม่สงบ โดยอำเภอที่ติดดาวแดง คืออำเภอที่ได้รับเลือกเป็นเมืองต้นแบบพัฒนาเชื่อมโลกมุสลิม ตามแนวคิด "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"