ไม่เอื้อพื้นที่จริง-คนใช้น้อย! ชำแหละสารพัดปัญหาทางจักรยาน กทม.ฉบับ สตง.
“…ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ได้อย่างแท้จริง เกิดความไม่คุ้มค่าของเงินงบประมาณที่ดำเนินการปรับปรุงรวมเป็นเงินไม่น้อยกว่า 28.13 ล้านบาท ในขณะที่บางเส้นทางไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แต่อย่างใด ทั้งนี้เส้นทางจักรยานในแต่ละถนนส่วนใหญ่มีผู้เข้ามาปั่นจักรยานหรือมีผู้ใช้ประโยชน์น้อยมาก ประมาณ 5-10 ราย/วัน (ยกเว้นที่หน่วยงานมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการปั่นจักรยานโดยการปิดถนน) และอาจมีเพียงช่วงเช้าหรือช่วงเย็น…”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสมัยปัจจุบัน ‘จักรยาน’ ถือเป็นหนึ่งในพาหนะที่กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เนื่องด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจที่หลายคนต้องการประหยัด รวมไปถึงสภาพการจราจรที่บรรดารถโดยสารสาธารณะยังไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองได้ ยังไม่นับบางคนที่ต้องการเน้นออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
ท่ามกลางการเรียกร้องของคนทำงานในเมืองหลายคน ที่ต้องการให้ กทม. สร้างเส้นทางจักรยานรองรับให้พอเหมาะพอควร รวมถึงดูแลรักษาอย่างดี เพื่อให้การปั่นจักรยานไปทำงานสามารถทำได้จริง ไม่ใช่แค่ขี่โชว์เฉพาะช่วง ‘Bangkok car free day’ อย่างเดียว
ทว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กทม. มีการก่อสร้างและปรับปรุงเส้นทางจักรยานจำนวนหลายเส้นทาง หลายสาย โดยเฉพาะกรุงเทพฯชั้นใน ที่มีเส้นทางจักรยานหลายแห่ง แล้วทำไมถึงยังมีคนเรียกร้องอีก ?
คำตอบก็คือ เส้นทางจักรยานดังกล่าวบางแห่งยังไม่สามารถใช้ได้จริง มีการปรับปรุงอย่างไม่คุ้มค่า ทำให้ไม่มีผู้ใช้เท่าที่ควร ตามการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่สรุปแล้วว่า ในบรรดาเส้นทางจักรยานทั้งหมด มีการสร้างที่ไม่คุ้มค่าเงินถึง 28 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมด (นับเฉพาะช่วงปี 2557-2558) เฉียด 55 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้ส่งหนังสือให้ ร้อยตำรวจตรี เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภา กทม. ทบทวนกรณีดังกล่าวแล้ว
(อ่านประกอบ : ไม่คุ้มค่า! สตง.ชง‘หม่อมสุขุมพันธุ์’ ทบทวนสร้างทางจักรยาน-เจ๊ง 28 ล.)
มีปัญหาอะไรบ้าง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปผลการตรวจสอบของ สตง. มาให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
ที่ผ่านมา กทม. ดำเนินการสร้างทางจักรยานทั้งหมด 54 เส้นในถนนสายหลัก รวมระยะทาง 364.54 กิโลเมตร (ไม่รวมถนนสายรองที่ดำเนินการโดยสำนักงานเขต) และในช่วงปี 2557-2558 ปรับปรุง 6 เส้นทาง (เสร็จแล้ว 5 เส้นทางเหลือ 1 เส้นทาง) ใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 54.99 ล้านบาท
สตง. ดำเนินการตรวจสอบสังเกตการณ์เส้นทางจักรยานปรับปรุงแล้วเสร็จ 2 เส้นทาง 17 ถนน ได้แก่ เส้นทางจักรยานบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ 12 ถนน และเส้นทางจักรยานรอบพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (วงเวียนใหญ่) 5 ถนน
ผลการตรวจสอบเส้นทางจักรยานของ กทม. พบว่า ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ได้อย่างแท้จริง เกิดความไม่คุ้มค่าของเงินงบประมาณที่ดำเนินการปรับปรุงรวมเป็นเงินไม่น้อยกว่า 28.13 ล้านบาท ในขณะที่บางเส้นทางไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แต่อย่างใด ทั้งนี้เส้นทางจักรยานในแต่ละถนนส่วนใหญ่มีผู้เข้ามาปั่นจักรยานหรือมีผู้ใช้ประโยชน์น้อยมาก ประมาณ 5-10 ราย/วัน (ยกเว้นที่หน่วยงานมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการปั่นจักรยานโดยการปิดถนน) และอาจมีเพียงช่วงเช้าหรือช่วงเย็น
นอกจากนี้ยังพบว่า มีการปรับปรุงเส้นทางจักรยานบริเวณวงเวียนใหญ่ไม่เป็นไปตามรูปแบบรายการที่กำหนด และมีข้อสังเกตการออกแบบติดตั้งลูกแก้วสะท้อนแสงบริเวณเส้นทางจักรยานบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์อาจเกินความจำเป็น ในขณะที่การติดตั้งหลักพลาสติกล้มลุกสะท้อนแสงอยู่ในจุดเดียวกันอยู่แล้ว ทำให้เป็นการไม่ประหยัดเงินงบประมาณรวมมูลค่าประมาณ 3.41 ล้านบาท
สำหรับประเด็นปัญหาที่ สตง. ตรวจสอบพบ มีทั้งหมด 7 เรื่อง ได้แก่
หนึ่ง มียานพานหะทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถโดยสารสาธารณะ รถบัสนักท่องเที่ยว จอดกีดขวางเส้นทาง ทำให้ไม่สามารถใช้เส้นทางได้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีแผงลอยข้างทาง ฝาท่อระบายน้ำบนผิวจราจร และขอบทางเดินริมถนน
สอง หลักพลาสติกลุกสะท้อนแสงบนเส้นทางจักรยานบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์เกิดชำรุดเสียหาย และสูญหายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับผิวจราจรแต่ละถนนค่อนข้างแคบมาก ทำให้รถเฉี่ยวหลักพลาสติกล้มลุก และเกิดการหลุดร่อนสูญหายของแผ่นสะท้อนแสงจำนวนมาก บางจุดมีการถอดหลักพลาสติกล้มลุกออก เนื่องจากกีดขวางทางขึ้นลงสินค้าของผู้ประกอบการ หรือกีดขวางการจัดเก็บขยะของรถเก็บขยะ กทม.
สาม การกั้นแบ่งทางจักรยานประมาณ 1.2 เมตร ทำให้ผิวทางสำหรับการจราจรที่มีเลนเดียวมีขนาดแคบลง มีรถวิ่งสวนทางกัน ส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อปัญหาการจราจรที่มีปริมาณหนาแน่น ทำให้เกิดการติดขัดมากยิ่งขึ้น ประกอบกับมีรถโดยสารสาธารณะ (รถเมล์) จำนวนมากวิ่งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีประชาชนบางรายให้ข้อมูลว่า การกั้นแบ่งเส้นทางจักรยานเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการจราจร และมีผู้เสียชีวิตด้วย
สี่ มีผู้มาใช้งานแต่ละวันค่อนข้างน้อยมาก ในขณะที่บางถนนทางจักรยานไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แต่อย่างใด รวมถึงไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อนการก่อสร้าง ไม่คำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ และวิถีชุมชน ทำให้มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะไม่สบผลสำเร็จ
จากการสัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่หลายราย ส่วนใหญ่ให้สัมภาษณ์ในทิศทางเดียวกันว่า มีผู้มาปั่นจักรยานหรือใช้ประโยชน์ในแต่ละวันประมาณ 5-10 ราย เพียงช่วงเช้าหรือเย็น ตลอดจนผิวทางจักรยานค่อนข้างแคบ ไม่เรียบ มีฝาท่อระบายน้ำ มีขอบทางเท้า บางแห่งมีจุดน้ำขัง ประกอบกับขนาดช่องทางจักรยานแคบ ไม่สามารถปั่นสวนทางหรือแซงได้
โดยผู้ใช้จักรยานหลายรายให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนใหญ่จะขับขี่บนทางเดินเท้า (ฟุตบาธ) เพราะมีความปลอดภัยกว่า บางส่วนออกไปขับขี่บนถนนร่วมกับการจราจรปกติเพื่อหลบหลีกสิ่งกีดขวาง และผิวทางเรียบกว่า ส่วนผู้ประกอบการในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นว่า ทางจักรยานมีผลเสียทางด้านเศรษฐกิจของผู้ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวค่อนข้างมาก ทำให้การค้าขายยุ่งยาก
ขณะที่กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ระบุว่า การทำทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์เพื่อการท่องเที่ยวนั้นไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ และต่างถิ่น จึงไม่มีรถจักรยานนำมาปั่นได้ แม้ก่อนหน้านี้มีโครงการจัดหาจักรยานเพื่อไว้บริการประชาชน แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จและมีการยกเลิกโครงการไปแล้ว
ห้า ไม่สามารถบังคับใช้ทางกฎหมายได้ตามที่มีการออกประกาศและข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้ทางหรือช่องทางเดินรถสำหรับจักรยาน ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ จำนวน 12 ถนน ซึ่งจากการสัมภาษณ์ตำรวจและเจ้าหน้าที่เทศกิจสำนักงานเขตที่ดูแลรับผิดชอบ เห็นว่า ไม่สามารถดำเนินการจับกุมหรือบังคับใช้ทางกฎหมายได้อย่างแท้จริง หรืออาจไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีจำนวนไม่เพียงพอ
หก การปรับปรุงเส้นทางจักรยานไม่เป็นไปตามรูปแบบรายการที่กำหนดในสัญญา และที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณ โดยไม่มีการขออนุมัติเปลี่ยนแปลงจากผู้มีอำนาจอนุมัติ โดยเฉพาะบริเวณรอบพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (วงเวียนใหญ่) ที่ผู้ควบคุมงานเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเส้นทางจักรยาน 3 ถนน ซึ่งมีการติดตั้งเครื่องหมายจราจรสัญลักษณ์จักรยาน และหมุดสะท้อนแสง ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงไม่สามารถตรวจสอบความครบถ้วนของงานได้
เจ็ด การออกแบบติดตั้งลูกแก้วสะท้อนแสงบริเวณเส้นทางจักรยานบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์อาจเกินความจำเป็น ทำให้มีการใช้จ่ายเงินโดยไม่ประหยัดเป็นเงิน 3.41 ล้านบาท เนื่องจากการติดตั้งลูกแก้วสะท้อนแสงจะต้องติดตั้งในพื้นที่ที่มืดมาก แต่บริเวณดังกล่าวมีการติดตั้งไฟฟ้าบนถนน ตลอดจนไฟฟ้าจากบ้านเรือนประชาชนสว่างเพียงพออยู่แล้ว และสภาพการจราจรไม่เอื้ออำนวยให้ผู้ขับขี่รถสามารถใช้อัตราความเร็วสูงได้
ดังนั้น สตง. เห็นว่าโครงการก่อสร้างปรับปรุงเส้นทางจักรยาน กทม. เจอสภาพปัญหาข้างต้น จะส่งผลกระทบและความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนไม่สอดคล้อง ตามวิถีชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย ส่งผลให้การดำเนินงานของ กทม. ไม่สารถบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ อีกทั้งเป็นการใช้จ่ายเงินโดยไม่ประหยัด ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีประสิทธิผล และไม่เกิดความคุ้มค่า ซึ่ง สตง. ได้แจ้งผลการตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าฯ กทม. พิจารณาดำเนินการทบทวน และปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานแล้ว ขอให้ กทม. ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. โดยเคร่งครัด และแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้ สตง. ทราบด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
เป็นอีกหนึ่งเงื่อนปมปัญหาของ กทม. ที่กำลังถูก สตง. เข้าไปตรวจสอบสารพัดโครงการอยู่ในขณะนี้
และเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่ว่า ไฉน กทม. จึงไม่สามารถเอื้ออำนวยให้บรรดา ‘สิงห์นักปั่น’ ทั้งหลาย ให้ขับขี่จักรยานในเมืองได้อย่างปลอดภัย ?