กุศโลบายพุทธธรรมพาเด็กไทยใกล้วัด
เยาวชนกว่า 35,000 คน อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ คิดเป็น 5% ของนักเรียน ชั้น ป.3 ทั้งประเทศ และที่เหลืออีกกว่า 2 แสนคนประสบปัญหาอ่าน-เขียนไม่คล่อง สาเหตุมาจากหลายๆ ส่วน เช่น หลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่เหมาะสม ครูไม่มีเวลาเข้มงวด ขาดการเตรียมพร้อมพื้นฐานก่อนวัย และที่ดูจะมีอิทธิพลอย่างมากในปัจจุบัน คือ สื่อไอที
เมื่อพูดถึงวัดแล้ว คนส่วนใหญ่ก็จะมองว่าเหมือนเป็นที่พึ่งทางจิตใจ เป็นที่ยึดเหนี่ยว คนจะเดินเข้าวัดก็ต่อเมื่อมีปัญหาและต้องการความสงบ หรือจะคิดถึงเมื่อต้องการทำบุญ สะเดาะเคราะห์เท่านั้น โดยเฉพาะกับเยาวชนคนรุ่นใหม่แล้ว วัดดูจะห่างเหินออกจากกัน เพราะเด็กรุ่นใหม่มักมองว่า วัดเป็นสถานที่น่าเบื่อ และคิดว่าวัยนี้จะต้องสนุกสนานไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าวัดตอนนี้
เด็กไม่เข้าวัด ไม่ได้เจอพระสงฆ์ก็เท่ากับว่า ไม่ได้ซึมซับหลักธรรมคำสอน เด็กจึงห่างไกลพระพุทธศาสนา ไม่ได้รับการขัดเกลาจิตใจให้ดีงาม ขาดหลักธรรมการใช้ชีวิตอย่างมีสติขาดการยั้งคิด จนส่งผลให้เกิดปัญหาเด็กและเยาวชนมากมายอย่างที่ได้เห็นตามสื่อต่างๆ
ทำอย่างไรให้เด็กใกล้วัด “โครงการรักการอ่าน” มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ “Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมือง” ช่วยสอนเด็กๆ ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่คล่องได้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ด้วยการนำเอาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาสอดแทรกในเนื้อหากิจกรรรม เกมส์การเล่น ทำให้เด็กเรียนธรรมะอย่างสนุกเพลิดเพลิน ไม่เกิดความเบื่อหน่าย ถือเป็นกุศโลบายที่ทำให้เด็กใกล้พระ และซึมซับพระพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัว
พระสิระพงษ์ พรหมปัญโญ ประธานชมรมนิสิต มจร. กล่าวว่า ภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ คือผู้รับมาโดยตลอด โครงการรักการอ่าน ของชมรมนิสิต มจร. จึงเป็นมิติใหม่ในการรับใช้สังคม จากเป็นผู้รับกลายเป็นผู้ให้ เปิดโอกาสให้พระทำงานเชิงรุก ไม่ใช่เพียงแต่ฆราวาสเท่านั้น
"ถ้าเราจะเผยแพร่ศาสนาก็ต้องลงพื้นที่ สิ่งแรกสำคัญ คือต้องเข้าไปสู่ใจคน โดยเฉพาะเด็กนั้นจะรอให้เดินเข้ามาที่วัดไม่ได้แล้ว เราต้องลงไปหาเขาเอง ในอดีตวัดกับโรงเรียนอยู่ด้วยกัน แต่พอแยกกันออกไป ทำให้เด็กกับพระห่างกัน เด็กก็ไม่ได้ซึมซับคุณธรรมและจริยธรรม ถึงเวลาแล้วที่เราจะเอาธรรมะเข้าไปขัดเกลา และสอนอย่างเดียวไม่ได้ต้องให้เขาอ่านท่องให้ขึ้นใจ"
สำหรับพื้นที่เป้าหมายในการทำโครงการนั้น ประธานชมรมนิสิต มจร.ตั้งเป้าไว้ 10 โรงเรียน โดยมีคณะทำงานร่วมกิจกรรม 80 คน ช่วยกันสอนเด็กให้อ่านออก-เขียนคล่อง และแทรกด้วยหลักธรรมพระพุทธศาสนา
ส่วน พระมหาพิสุทธิ์ สิทธิเมธี ชมรมนิสิต มจร. กล่าวถึงโครงการรักการอ่านมีพระที่ร่วมโครงการ 60 รูป และฆราวาส 20 คนที่อาสาสมัครสอนน้องอ่าน-เขียนหนังสือ ด้วยการนำเอาหลักธรรมะเข้าไปบูรณาการการอ่าน ซึ่งใช้เกมบิงโกให้เด็กเล่น ซึ่งมีลักษณะแผ่นคำศัพท์ เมื่อหยิบคำไหนมาเราก็จะต้องอธิบายแผนคำศัพท์ที่หยิบขึ้นมาด้วย เช่น สติ คืออะไร เป็นการสอดแทรกเนื้อหาลงไป เด็กได้อ่าน ได้รับความรู้จากการฟังด้วย เพราะถ้าให้เด็กนั่งฟังเฉยๆ ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย เกมส์การเล่นจึงช่วยให้เด็กเกิดความสนุก อยากมีส่วนร่วม ขณะเดียวกันยังเสนอเรื่องของการบำเพ็ญจิตภาวนา อบรมศีลสมาธิ และสมาธิปัญญา
พระมหาพิสุทธิ์ บอกว่า การดำเนินกิจกรรมตามโรงเรียนต่างๆ คืบหน้าไปแล้วกว่า 50% ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่พบ คือเด็กอ่านไม่ออก เราก็จะทำการคัดแยกออกมาเพื่อไม่ให้เป็นการถ่วงดุลเพื่อนในห้อง ทำให้เรารู้ว่าเด็กคนไหนมีปัญหาเราก็จะสอนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยต้องมีวิธีจัดการหลาหลายรูปแบบต่างกันออกไป เช่น เด็กบางคนชอบวาดรูป เราให้เขาวาดรูปแล้วเราก็สอนตามในสิ่งที่เขาวาด เขาก็จะให้ความร่วมมือเพราะเป็นสิ่งที่เขาสนใจ ดีกว่าเราไปบังคับให้เขาทำในสิ่งไม่ชอบ ผลลัพธ์มันก็ไม่เกิด
สถานการณ์ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ของเยาวชนไทยในปัจจุบัน ตามที่คณะทำงานของมจร.ค้นพบนั้น หากเป็นภาพรวมของประเทศไทย ถือว่าน่าเป็นห่วง เยาวชนกว่า 35,000 คน อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ คิดเป็น 5% ของนักเรียน ชั้น ป.3 ทั้งประเทศ และที่เหลืออีกกว่า 2 แสนคนประสบปัญหาอ่าน-เขียนไม่คล่อง สาเหตุมาจากหลายๆ ส่วน เช่น หลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่เหมาะสม ครูไม่มีเวลาเข้มงวด ขาดการเตรียมพร้อมพื้นฐานก่อนวัย และที่ดูจะมีอิทธิพลอย่างมากในปัจจุบัน คือ สื่อไอที ที่มองไปไหนทางเด็กก็มั่วแต่ก้มหน้าอยู่ที่หน้าจอมือ หรือแทบเล็ต มากกว่าที่จะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านหาความรู้
ภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศให้ปี 2558 “ปลอดการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้” หลายหน่วยงานจึงเร่งผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อแก้ปัญหา ทั้งการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน การจัดสิ่งแวดล้อมและสื่อเรียนรู้ การพัฒนาบุคลากร ฯลฯ ซึ่งโครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมือง ก็เป็นหนึ่งในความพยายามที่เกิดขึ้น
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่าการอ่านอออกเขียนได้เป็นพื้นฐานชีวิตที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ไปสู่เรื่องอื่นๆ รวมไปถึงความรู้เรื่องสุขภาพด้วย อันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ของสุขภาวะที่ดีทั้ง 4 มิติ คือ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และปัญญา หากเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ก็จะกระทบต่อคุณภาพชีวิตในอนาคต ดังนั้น สสส. จึงชวนนิสิตนักศึกษามาสมัครเป็นอาสาสมัคร “จิตอาสา” ไปช่วยน้องๆ ด้วยการจัดกิจกรรมและผลิตสื่อการสอนเพื่อช่วยน้องๆ ให้อ่านออก เขียนได้ เข้าใจและพาเขาออกสู่โลกกว้างกว่าที่รู้ในห้องเรียน
ขณะเดียวกันเราช่วยให้นักศึกษาได้แสดงออกพลัง และช่วยส่งเสริม “จิตอาสา” ให้ตื่นตัวในสังคม แม้ว่าทางภาครัฐจะลงทุนมหาศาลแต่ยังมีช่องว่างมากมายเราก็จะช่วยเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้นได้ เราเปิดโอกาสให้ทุกคนที่ยังสนใจมีจิตอาสาไปช่วยกันกระตุ้น ช่วยให้น้องๆ ได้มีความรู้ มีการศึกษาที่ดี สังคมไทยก็จะมีสุขภาวะที่ดีขึ้น
โครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมือง ดำเนินงานใน 35 พื้นที่ทั่วประเทศ เกิดนิสิตนักศึกษา “จิตอาสา” ส่งเสริมการอ่านเพื่อลดปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ กว่า 2,000 คน เกิดนวัตกรรมสื่อและกิจกรรมสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีความสุขจากการอ่านของเด็กอายุระหว่าง 6-14 ปี ไม่ต่ำกว่า 40 รูปแบบทั้งสื่อและกิจกรรมที่นิสิตนักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยได้สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อช่วยส่งเสริมการสอนน้องๆ ให้อ่านออก-เขียนได้ อย่างสนุก ไม่น่าเบื่อ และได้ผลอย่างชัดเจน เช่น ประตูคำศัพท์ ของนักศึกษาจากสถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์, เกมบันไดงู ของมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร, นิทานกล่อง ลองปัญญา ของวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี, ต่อประโยคมหาสนุก ของวิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร, จุดพลัง...ท้าน้องให้อ่าน ของมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เป็นต้น