มหากาพย์-มหากาฬ ชุมชนหลังกำแพงแห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่
“ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้ แต่ก็ควรจะ 50-50 ชุมชนควรจะปรับตัวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงภายนอก ไม่มีชุมชนที่ไหนถูกแช่แข็งไว้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่ได้หมายถึง การรื้อถอน ผมไม่แน่ใจว่า หน่วยงานราชการมีแบบอารมณ์เบื่อบ้างไหม กับการต่อสู้กันมา 24 ปี น่าจะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นทำข้อตกลงร่วมกันอย่างชัดเจน จะได้ไม่ยืดเยื้อ เอาเวลาไปพัฒนาทำอะไรใหม่ๆ "
"คำว่าโบราณสถานไม่ได้กินความแค่สิ่งก่อสร้าง แต่รวมถึง ‘คน’ ด้วย ต่างประเทศมีการศึกษาประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า โบราณคดีครัวเรือน คือ ไม่ได้สนใจศึกษาวัด,วัง แต่สนใจศึกษาชีวิตของสามัญชน ศึกษาจากคนที่อยู่ในพื้นที่บ้านของสามัญชน ก็คือโบราณสถานอย่างหนึ่ง ทุกวันนี้เราสอนแต่เรื่องราวของชนชั้นสูงจากพงศาวดาร ความรู้เกี่ยวกับสามัญชนในประวัติศาสตร์มีน้อยมาก ซึ่งไม่ถูก การให้ความสำคัญการศึกษา การทำงานลักษณะนี้จะเป็นการช่วยเติมเต็มประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ"
ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดอีกมุมมองผ่านสายตาผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไว้อย่างน่าสนใจ ณ ลานกลาง ชุมชนป้อมมหากาฬ ที่มีวงเสวนาเล็กๆ เรื่อง รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ คือ การทำลายประวัติศาสตร์กรุงเทพ ของบ่ายวันที่ 16 กรกฎาคม 2559
นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ ชี้ว่า การจะแยกชุมชนออกจากโบราณสถานเป็นความคิดในแบบเก่า
การแยกชุมชนออกจากโบราณสถานเป็นการตัดตอนทางวัฒนธรรม พร้อมกับยืนยันว่า ชุมชนกับโบราณสถานสามารถอยู่ร่วมกันได้
“ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้ แต่ก็ควรจะ50-50 ชุมชนควรจะปรับตัวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงภายนอก ไม่มีชุมชนที่ไหนถูกแช่แข็งไว้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่ได้หมายถึง การรื้อถอน ผมไม่แน่ใจว่า หน่วยงานราชการมีแบบอารมณ์เบื่อบ้างไหม กับการต่อสู้กันมา 24 ปี น่าจะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นทำข้อตกลงร่วมกันอย่างชัดเจน จะได้ไม่ยืดเยื้อ เอาเวลาไปพัฒนาทำอะไรใหม่ๆ คือ ชุมชนป้อมมหากาฬ ไม่ได้ไปทำลายโบราณสถานอะไรเลย แล้วผมมองว่า มีสิ่งแปลกปลอมอยู่อย่างหนึ่งนั่นคือสวนสาธารณะที่จะสร้าง นี่คือการทำลายพื้นที่โบราณสถานแบบหนึ่ง"
จากนโยบายปรับปรุงบ้านเมืองให้สะอาดเรียบร้อย ในสมัยรัฐบาลตอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ ส่งผลให้มีคำสั่งซ่อมแซมป้อมพระสุเมรุและป้อมมหากาฬ และกั้นรั้วทางเข้าไม่ให้ผู้คนเข้าไป มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาจัดซื้อที่ดิน 21 แปลง จากเจ้าของที่ดินและทรัพย์สินด้านหลังป้อมมหากาฬ เมื่อปี 2502
กระทั่งมามีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน เมื่อปี พ.ศ.2535 ที่ต้องการเวนคืนที่ดินบริเวณชุมชนป้อมมหากาฬให้เป็นที่สาธารณะ โดยในช่วงต้นของการเวนคืนที่ดินได้ให้เหตุผลว่า ทำไปตามพ.ร.ก.ปีพ.ศ.2535 หากทางกทม.ไม่ทำก็จะมีโทษว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
แต่ในระยะหลังทางกทม.ได้ให้เหตุผลในการรื้อถอนชุมชนว่า ผิดกฎหมายว่าด้วยพ.ร.บ.โบราณสถานที่ห้ามมิให้มีสิ่งปลูกสร้างอยู่ใกล้โบราณสถาน จึงต้องการเวนคืนไปสร้างสวนสาธารณะ และเป็นเหตุผลให้ชาวบ้านต้องย้ายออกจากป้อมมหากาฬ ซึ่งนับเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่ง
ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าพร้อมโชว์รูปภาพขาวดำ และแผนที่ในอดีตประกอบเพื่อต้องการจะบอกว่า ประวัติความเป็นมาเป็นไปของชุมชนที่เรียกว่า ชานพระนครแห่งนี้ อย่างน้อยๆ มีตัวตนมานานแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
“ชุมชนป้อมมหากาฬ คือ มรดกชิ้นสุดท้ายของการตั้งถิ่นฐานที่สืบกันมาเป็นพันปี ปัจจุบันนี้กำแพงเมืองกรุงเทพฯ ไม่เหลืออีกแล้ว ไม่มีที่ไหนจะเรียกว่า ชานพระนครได้สมบูรณ์เท่าที่พื้นที่ตรงนี้ นี่คือที่สุดท้ายของการตั้งถิ่นฐานที่สืบมาอย่างยาวนาน"
ขณะที่ ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ฝากคำถามไปยังพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่า "ถ้าคิดว่าโบราณสถานอยู่กับชุมชนไม่ได้ ฝากกลับไปถามมท.1 ว่า ตึกกระทรวงมหาดไทย โบราณสถานทั้งหลัง ให้ย้ายออกไปด้วย คุณจะมาพูดแบบนี้ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นต้องเชิญคนในกรุงเทพออกจากกรุงเทพฯ เพราะโบราณสถานเต็มไปหมด
ฉะนั้น สิ่งที่ผู้บริหารกรุงเทพฯ และพล.ต.อ.อัศวินควรทำ คือ วางแผนว่าจะทำอย่างไรให้คนอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้
ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ได้ออกมาระบุถึงความคืบหน้าโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬ ด้วยการรื้อย้ายชุมชนป้อมมหากาฬจำนวน 102 หลังคาเรือน ทางกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการจ่ายค่าทดแทนไปแล้ว และมีบ้านเรือนที่ดำเนินการรื้อย้ายออกไปแล้วบางส่วน
ปัจจุบันคงเหลืออยู่ 56 หลังคาเรือน ซึ่งล่าสุดมีประชาชนจำนวน 42 ครัวเรือน ได้รับเงินค่าทดแทนครบ และยินยอมให้ความร่วมมือในการรื้อย้าย ส่วนอีก 14 ครัวเรือน รับเงินค่าชดเชยไปแล้ว 75 % แต่ไม่มาเจรจาและไม่ยอมรื้อย้าย
หัวอกคนหลังกำแพงอย่าง ‘พรเทพ บูรณบุรีเดช’ รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ บอกว่า ปัจจุบันได้มีการเสนอมหากาฬโมเดลไปให้กับทางกทม.พิจารณาแล้ว คือจะขอพื้นที่ชุมชนแค่ 1 ไร่ 1 งาน 47 ตารางวา และคืนให้กทม.ประมาณ 3 ไร่ แต่ทางกทม.ก็ยืนยันว่า โบราณสถานต้องไม่มีคนอยู่อาศัย
"จริงๆ ไม่อยากต่อสู้ แต่ถ้าเขาจะมารื้อจริงๆ พวกเราชาวชุมชนจะนั่งตรงประตูทางเข้าทั้งสี่ประตูให้เขาเดินเหยียบเราเข้าไปรื้อบ้านเรา"
ประเด็นการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ มีความพยายามจากหลายภาคส่วน เข้าไปสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับชาวบ้าน เปิดแนวคิดเรื่องการพัฒนาเมือง ให้มีชีวิตชีวาพัฒนาเมืองโดยยึดโยงกับความเป็นพื้นที่สาธารณะของป้อมมหากาฬ ให้เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และแหล่งท่องเที่ยว มีมีป้ายหน้าบ้านในชุมชนหลายหลังที่เล่าถึงประวัติความเป็นมา นับเป็นความพยายามของชาวบ้านลุกขึ้นมามีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมือง เพื่อต้องการอยู่คู่กับสวนสาธารณะ และป้อมมหากาฬแห่งนี้ ร่วมรักษา ร่วมพัฒนา และเป็นกระบอกเสียงเล่าขานประวัติศาสตร์ต่อให้กับคนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยว
แต่สำหรับกทม.ทำไมคนป้อมมหากาฬ ถึงต้องอยู่ในพื้นที่ร่วมกับการสร้างสวนสาธารณะ? วันนี้ยังไม่มีคำตอบ คงต้องรอให้ผู้กำหนดนโยบายบ้านเมืองเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาเมืองที่แยกคนกับสิ่งแวดล้อม แยกชุมชนออกจากเมืองเป็นลำดับแรกก่อน
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/Mahakan-MODEL-1720672291523772/?fref=ts