ก.เกษตรตั้งทีมเยียวยาเกษตรกรเฟสใหม่ ผุด กผฟ.-กตฟ. อุ้มพ้นวิกฤต
กระทรวงเกษตรเดินหน้าฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรประสบภัยน้ำท่วม แต่งตั้ง 2 คณะทำแผนช่วยเหลือและเร่งรัดติดตามผล “กผฟ.-กตฟ.” หวังพาเกษตรกรพ้นวิกฤต
นาย ธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เปิดเผยว่า จากวิกฤตอุทกภัย ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ส่งผลเกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านการเกษตรซึ่งได้รับผลกระทบและความเสียหายในหลายจังหวัด ดังนั้น เพื่อให้การช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านการเกษตรจากสถานการณ์อุทกภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว มีทิศทางการดำเนินงานและแผนงานโครงการที่ชัดเจน
กระทรวงได้แต่งตั้งคณะกรรมการ จำนวน 2 คณะ ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการจัดทำแผนฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ด้านการเกษตร(กผฟ.) มีหน้าที่กำหนดมาตรการ แนวทาง แผนงาน โครงการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านการเกษตร พิจารณากลั่นกรองโครงการฯ ต่าง ๆ ตามข้อเสนอของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงาน โครงการ รวมทั้งอำนวยการและประสานงานกับส่วนราชการ หน่วยงาน ของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรภาคเอกชนในการสนับสนุนบุคลากร งบประมาณ และเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้การช่วยเหลือฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบฯ ตามแนวทางและมาตรการ เกิดการบูรณาการ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานและมีองค์ ประกอบของกรรมการมาจากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2) คณะกรรมการติดตามเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผล กระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านการเกษตร (กตฟ.) มีหน้าที่ติดตามเร่งรัดการดำเนินงานของแผนงาน โครงการตามแผนฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบฯ และพิจารณาแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของโครงการฯ เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ โดยมีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ผู้ตรวจราชการทั้ง 18 เขตของกระทรวงร่วมเป็นคณะกรรมการ
“เราได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามเร่งรัดการดำเนินงานตามแผน ฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบฯ เพื่อทำหน้าที่ติดตามข้อมูลสถานการณ์ ปัญหา อุปสรรคการดำเนินงานทั้งหน่วยงานส่วนกลางและระดับพื้นที่ เพื่อรายงานผลการติดตาม ตรวจสอบและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ต่อคณะกรรมการฯ ให้ได้รับทราบ เพื่อหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเป็นระบบและทั่วถึง โดยคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการทุกชุดที่กระทรวงเกษตรฯ แต่งตั้งขึ้นนี้ ขณะนี้ได้เร่งรัดการดำเนินงานตามแผนงานต่าง ๆ และงบประมาณที่ได้รับแล้ว ซึ่งจากนี้ไปจะมีการลงพื้นที่เพื่อติดตามงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนภายในต้นปี 55 นี้”
นายธีระ กล่าวต่อว่า ขณะที่ความก้าวหน้าการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยด้านการเกษตร ปี 54 เป็นกรณีพิเศษ วงเงิน 8,174 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ส.ค.54 สำนักงบประมาณอนุมัติให้ ธ.ก.ส. จำนวน 8,081 ล้านบาท เกษตรกร จำนวน 335,637 ราย ขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้โอนเงินให้เกษตรกรแล้วจำนวน 33,5637 ราย เป็นวงเงิน 7,802 ล้านบาท ใน 76 จังหวัด ด้านงบเยียวยาเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2554/55 ที่เก็บเกี่ยวและขายผลผลิตช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. 2554 (ก่อนโครงการรับจำนำข้าวฯ เริ่ม 7 ต.ค. 2554) รวมทั้งกรณีที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากประสบอุทกภัยในอัตราตันละ 1,437 บาท วงเงิน 6,544 ล้านบาท
ขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรแล้ว 290,834 ราย วงเงิน 5,860 ล้านบาท ใน 62 จังหวัด สำหรับการช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์แก่เกษตรกรในปีเพาะปลูก 54/55 ที่ประสบอุทกภัยและพื้นที่เพาะปลูกเสียหายมากกว่า 50% ของพื้นที่ขึ้นทะเบียนไว้ โดยจะช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์ตามที่เสียหายจริง แต่ไม่เกิน 10 ไร่ ในอัตราไร่ละ 10 กก. เนื่องจากพื้นที่เสียหายเพิ่มจาก 6.9 ล้านไร่ เป็น 9.9 ล้านไร่ ค่าพันธุ์ข้าวจาก กก. ละ 18 บาท เพิ่มเป็น 23.96 บาท จึงต้องขอกรอบวงเงินเพิ่มเติม 1,005 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นอกจากนี้กระทรวงได้ของบประมาณในการซ่อมแซมระบบชลประทานให้สามารถกลับมาใช้ งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ วงเงิน 1,160 ล้านบาท อาทิ แผนงานซ่อมแซมคลองส่งน้ำ จำนวน 447 ล้านบาท แผนงานซ่อมแซมอาคารหัวงาน จำนวน 412 ล้านบาท เป็นต้น.