พิษสารตะกั่วที่คลิตี้ ผ่านมากี่สิบปี...ยังไม่จาง
การต่อสู้ของชาวบ้านคลิตี้ มีทั้งหมด 3 คดี คดีแพ่ง 2 คดีปกครอง 1 เหลือคดีแพ่งที่ชาวบ้านคลิตี้ 151 คนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทฯ ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นศาลฎีกาแล้ว
วันที่ 14 กรกฎาคม 2559 พลันที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีสิ่งแวดล้อม คดีแพ่งระหว่าง นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ที่ 1 กับพวก 8 คน เป็นโจทย์ยื่นฟ้องบริษัทตะกั่วตอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำเลย ที่ 1 และนายคงศักดิ์ กลีบบัว จำเลยที่ 2 รวม 2 คน ข้อหาละเมิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งศาลฯ มีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้าน 8 คน เป็นค่าเจ็บป่วย ค่ารักษาในอนาคต เป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท พร้อมกับให้ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้กล้บมาใช้ได้ดั่งเดิม
เรียกว่า ปิดฉากไปอีกคดี สำหรับชาวบ้านคลิตี้ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อแสวงหาความยุติธรรม พร้อมเรียกร้องค่าเสียหายจากปัญหามลพิษ
เรื่องราว หมู่บ้านคลิตี้ล่าง ได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือชื่อ “รอยเหมือง” สารคดีภาพเล่าเรื่องเหมืองแร่ในประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
สำนักข่าวอิศรา หยิบบางส่วนมานำเสนอ เพื่อให้เห็นช่วงระยะเวลาการต่อสู้ของชาวบ้านคลิตี้กับการทำเหมืองในประเทศไทย ผลกระทบจากเหมืองตะกั่วคลิตี้ ถือเป็นตำนานการเรียกร้องที่เจ็บปวด และยาวนานอีกเหตุการณ์หนึ่ง
…หมู่บ้านคลิตี้ล่าง ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี สังคมไทยรู้จักหมู่บ้านนี้ เพราะเกิดปัญหาพิษตะกั่วจากเหมืองตะกั่วและโรงแต่งแร่ตะกั่วที่ตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2510 และปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนตะกั่วลงห้วยคลิตี้
กระทั่งปี พ.ศ.2518 เมื่อน้ำในห้วยเน่าเหม็นขุ่นข้นปลาตาย ชาวบ้านไปแจ้งให้แก้ไขมีปากเสียงกับเจ้าของเหมือง ต่อมาเป็ดซึ่งเป็นสัตว์ที่ชอบเล่นน้ำหากินสัตว์น้ำในลำห้วยเกิดตายมาก วัว ควาย ตายกว่า 65 ตัว
และเริ่มมีคนป่วยและเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ
ปี พ.ศ.2541 ชาวบ้านคลิตี้ล่าง เขียนจดหมายร้องทุกข์ถึงอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเกี่ยวกับปัญหาน้ำในลำห้วยคลิตี้ และแจ้งให้สื่อมวลชนมาช่วยตรวจสอบความจริงจนเป็นข่าวตามสื่อทุกแขนง
ในที่สุดกรมทรัพยากรธรณี มีคำสั่งให้ระงับกิจกรรมเหมืองชั่วคราว พร้อมปรับบริษัทเหมืองแร่เป็นเงิน 2,000 บาท
ปี พ.ศ.2542 กรมควบคุมมลพิษเข้ามาตรวจคุณภาพน้ำและมีประกาศงดใช้น้ำหรือกินสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ เพราะตรวจพบปริมาณตะกั่วสูง โดยเฉพาะตะกอนท้องน้ำมีค่าตะกั่วสูงถึง 165,720-552,380 ppm ซึ่งเป็นค่าที่สูงกว่ามาตรฐานมากถึง 28,000 เท่า (ค่ามาตรฐานกำหนดไว้ไม่เกิน 200 ppm)
ต่อมาหน่วยงานด้านสาธารณสุขได้ทำการตรวจสอบเลือดประชาชนจำนวน 177 คน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในระหว่างปี พ.ศ.2542 – 2544 พบว่า 142 คน มีค่าตะกั่วสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนไทยทั่วไป
ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2531-2544 ชาวบ้านคลิตี้ล่างเสียชีวิตลงไป 27 คน
ปี พ.ศ.2534 มีเด็กในหมู่บ้านเสียชีวิตไปทั้งหมด 6 ราย และหากนับเฉพาะช่วงเวลา 5ปี ใกล้เคียงกันระหว่างปี พ.ศ.2533 – 2537 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น้ำในลำห้วยคลิตี้อยู่ในภาวะเน่าเสีย เป็ดไก่ สัตว์น้ำตาย มีเด็กในหมู่บ้านคลิตี้ล่างเสียชีวิตทั้งหมด 17 คน ด้วยอาการท้องอืด เป็นไข้ หอบอย่างรุนแรง...
...เมื่อมีการตรวจวิเคราะห์ปริมาณตะกั่วที่ปนเปื้อนในอาหารจากลำห้วยคลิตี้ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย (ศสอ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเก็บตัวอย่างพืชผักและสัตว์น้ำ ในพื้นที่บ้านคลิตี้ล่างเมื่อเดือนตุลาคม 2553 พบว่า ปริมาณการปนเปื้อนของตะกั่วในสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลา 46.16 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในกุ้ง 3.98 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และในหอย 29.23 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากค่ามาตรฐานตะกั่วในอาหาร กำหนดไว้เพียง 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักเปียก
กำธร ศรีสุวรรณมาลา อายุ 44 ปีหนึ่งในแปดชาวบ้านคลิตี้ที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องร้องบริษัทตะกั่ว เพื่อเรียกค่าเสียหายจากปัญหามลพิษ กล่าวถึงการต่อสู้เพื่อแสวงหาความยุติธรรม ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านคลิตี้ยื่นฟ้องร้องต่อศาล 3 คดี
ชุดแรกคือ กำธร พร้อมชาวบ้านอีก 7 ราย ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทตะกั่ว โดยได้รับความช่วยเหลือทางคดีจากสภาทนายความ และโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม
ต่อมาชาวบ้านอีก 151 รายฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทฯ
และสุดท้ายชาวบ้าน 22 ราย ยื่นฟ้องศาลปกครองให้หน่วยงานรัฐฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้
14 สิงหาคม 2551 ศาลจังหวัดกาญจบุรี นัดฟ้องคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จากกรณีที่นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา กับชาวบ้านคลิตี้ล่างรวม 8 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ตกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และนายคงศักดิ์ กลีบบัว กรรมการผู้จัดการ จำเลยในข้อหาละเมิดด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งฝ่ายบริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2549 ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านรวมเป็นเงิน 4,260,000 บาท เนื่องจากได้ปล่อยสารตะกั่วจากโรงแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้ จนเป็นเหตุให้ชาวคลิตี้ล่าง ซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในตำบลนาสวน อำเภอศรัสวัสดิ์ และตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เจ็บป่วยและสัตว์เลี้ยงล้มตาย
ฝ่ายบริษัทฯ อุทธรณ์ว่า การแพร่กระจายของตะกั่วเกิดพายดีเปรสชั่นทำให้น้ำล้นเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งศาลระบุว่าแม้ฝ่าบบริษัทฯ จะอ้างว่าบ่อเก็บตะกอนบ่อที่ 3 นำใสสะอาดื่มได้ เท่ากับบ่อที่ 3 แทบจะไม่มีตะกอนดิน แต่เมื่อคันกั้นขอบบ่อพัง กลับมีตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่วในห้วยมาก และแพร่กระจายในห้วยคลิตี้ยาวถึงประมาณ 19 กิโลเมตร จึงน่าเชื่อว่า ทางโรงแต่งปล่อยสารตะกั่วลงมาเป็นเวลานานหลายปี ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรง น่าจะสั่งการให้เปิดระบายน้ำจากบ่อเก็บกักตะกอนสู่ห้วย ถือว่าเป็นการร่วมกันทำให้สารตะกั่วจากโรงแต่งแร่คลิตี้รั่วไหลหรือแพร่กระจายสู้ห้วย จึงต้องร่วมกันรับผิด
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์ถึงการกระทำของจำเลยทั้งสองและความร้ายแรงการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของสารตะกั่ว เห็นควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหาย คือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยายาบาลก่อนฟ้องเป็นงิน 112,000 บาทต่อคน ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่อเนื่องจนกว่าปริมาณของสารตะกั่วในร่างกายจะลดลงอยู่ในระดับที่ไม่เกิดพิษภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันฟ้องเป็นเงิน 240,000 บาทต่อคน ค่ากระบือที่ตายตามจำนวน
และที่สำคัญคือ
“ค่าที่ต้องเสียความสามารถและโอกาสในการทำงานอย่างสิ้นเชิงหรือบางส่วนทั้งในปัจจุบันและอนาคต ค่าเสื่อมสุขภาพอนามัยได้รับทุกขเวทนาด้านจิตใจและสูญเสียอวัยวะ คุณภาพชีวิต โอกาสที่จะพัฒนาตนอย่างมีศักดิ์ศรีและความสามารถที่จะสืบต่อชาติพันธุ์ และค่าขาดประโยชน์ในการใช้น้ำอุปโภคบริโภค ขาดแหล่งอาหาร ขาดประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากห้วยคลิตี้”
อุทธรณ์ของฝ่ายชาวบ้านเป็นเรื่องขอให้บังคับจำเลยให้แก้ไขและฟื้นฟูหัวยคลิตี้ โดยนำตะกั่วที่ตกค้างอยู่ออกไปให้หมด และให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย โดยใช้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ตรวจสอบและดูแลการแก้ไขฟื้นฟูให้สะอาดปราศจากตะกั่วและสารเคมีต่าง ๆ ให้มีสภาพตามธรรมชาติดังเดิมนั้น
ศาลระบุว่า ขณะที่โจทก์ทั้งแปดฟ้องนี้ยังไม่มีกฎหมายใดบัญญัติรับรองสิทธิให้โจทก์ทั้งแปดฟ้อง และขอให้บังคับตามคำขอท้ายฟ้องดังกล่าวได้ การอุทธรณ์เรื่องการฟื้นฟูลำห้วยไม่เป็นผล ทำให้ต่อมาตัวแทนชาวบ้าน 22 คน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้หน่วยงานรัฐเร่งดำเนินการฟื้นฟูลำห้วย
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีที่ นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ กับพวก 22 คน ฟ้องกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ให้ปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้และชดใช้ค่าเสียหาย กรณีปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ โดยศาลพิจารณาว่ากรมควบคุมมลพิษ ได้ละเลยต่อบทบาทหน้าที่ตามกฎหมาย ทำหน้าที่ล่าช้า ทำให้ชาวคลิตี้ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมไม่ดี ไม่สามารถใช้น้ำในห้วยคลิตี้อุปโภคบริโภคได้ ถือเป็นการละเมิดทำให้ประชาชนเสียหายเกิดการแพร่กระจายของสารตะกั่วเป็นเวลานาน กรมควบคุมมลพิษต้องชดใช้ค่าเสียหายในอนาคต ที่ผู้ฟ้องคดีต้องแบกรับภาระ ค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหาร และค่าเสียหายอันเนื่องจากถูกละเมิดสิทธิในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน เป็นเงินคนละ 159,800 บาท
นอกจากนี้ศาลเห็นว่า การฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติไม่อาจกำหนดเวลาที่ชัดเจนได้ และเมื่อตะกั่วในสัตว์น้ำยังคงมีอยู่เกินค่ามาตรฐาน คพ.ต้องดำเนินการฟื้นฟูทุกฤดูกาล และต้องเปิดเผยผลการดำเนินการให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทราบ
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากระเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ในคดีปกครอง ที่นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ กับพวก 22 คน ฟ้องกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) นั้นชาวบ้านได้รับเงินเยียวยาแล้ว แต่สำหรับการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ถึงวันนี้ยังไม่เริ่มกระบวนการฟื้นฟูแต่อย่างใด
“คำพิพากษาศาลปกครองให้กรมควบคุมมลพิษ กำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟูภายใน 3 เดือน ถึงวันนี้ยังไม่เริ่มฟื้นฟูเลย”
นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า การต่อสู้ของชาวบ้านคลิตี้ มีทั้งหมด 3 คดี คดีแพ่ง 2 และคดีปกครอง 1 ซึ่งคดีแพ่ง แบ่งออกเป็น 1. นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา กับชาวบ้านคลิตี้ล่างรวม 8 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และนายคงศักดิ์ กลีบบัว กรรมการผู้จัดการ จำเลยในข้อหาละเมิดด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งคดีถึงที่สุดในกระบวนการศาล และ 2.มีคดีที่ชาวบ้านคลิตี้อีก 151 คนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทฯ ตามมา ฟ้องเหมือนกันแต่ฟ้องทีหลัง ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา
นี่คือ คดีแพ่งและคดีทางปกครอง ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ใช้เวลานานร่วมทศวรรษ แม้บริษัทผู้ก่อมลพิษล้มละลาย จำเลยก็ล้มหายตายจากไปแล้ว แต่สารตะกั่วยังคงกระจายและปนเปื้อนอยู่กับธรรมชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ละเลย หรือล่าช้า ชาวบ้านคลิตี้ ถาม คพ. ผ่านไป 1 ปี เหตุใดแผนฟื้นฟูยังไม่คืบ