แกะรอยพูดคุยสันติสุขฯ รัฐส่งร่างทีโออาร์ฉบับปรับปรุงถึงมาเลย์-มาราฯ
การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มมารา ปาตานี ที่หยุดชะงักไปตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.59 ที่ผ่านมา แท้ที่จริงยังมีความพยายามติดต่อประสานงานกันอยู่ในระดับคณะทำงาน
ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า รัฐบาลไทยได้สื่อสารความต้องการของเราไป ขณะนี้กำลังรอฝ่ายมารา ปาตานี พิจารณาว่าจะเอาอย่างไร
“ปัญหาของการพูดคุยที่ผ่านมา คือหลายเรื่องไม่ได้คุยกันไว้ตั้งแต่แรก ส่วนกติกาที่คุยตอนแรกก็เร็วไปหลายเรื่อง จึงต้องปรับใหม่ แต่ยืนยันว่าความตั้งใจในการพูดคุยไม่ได้เปลี่ยน เพียงแต่ต้องหารือกันในรายละเอียด” ดร.ปณิธาน ระบุ
ส่วนที่มีข่าวว่าการพูดคุยต้องหยุดชะงักไปเพราะรัฐบาลไทยไม่ยอมรับร่างทีโออาร์ หรือข้อตกลงเบื้องต้นที่เป็นกรอบของการพูดคุยนั้น ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง บอกว่า “เราขอแก้ไป ฉะนั้นคงต้องคุยเรื่องการทำงานร่วมกันมากขั้น นอกเหนือจากข้อเสนอที่เคยเสนอกันมา เพราะข้อเสนอเหล่านั้นยังไม่อยู่ในขั้นตอนที่จะเสนอ และบางเรื่อง อย่างเรื่องทำให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ เราก็ยกระดับเรื่องนี้ไปแล้ว”
ดร.ปณิธาน ย้ำว่า เจตนารมณ์ของการพูดคุยยังเหมือนเดิม ตัวบุคคลในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลไทยก็ยังเหมือนเดิม การเปลี่ยนตัว พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง ออกไปจากคณะพูดคุยฯก่อนหน้านี้ ก็เป็นการเปลี่ยนตามระบบปกติ ไม่มีปัญหาอะไร
ส่งร่างทีโออาร์ฉบับปรับแก้ผ่าน "ซัมซามิน"
คำสัมภาษณ์ของ ดร.ปณิธาน สอดคล้องกับข้อมูลที่ “ทีมข่าวอิศรา” ได้จากแหล่งข่าวระดับสูงในหน่วยงานความมั่นคงว่า คณะพูดคุยฯฝ่ายไทยได้ปรับปรุงเนื้อหาในร่างทีโออาร์ และเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบแล้ว จากนั้นได้ส่งไปยังมารา ปาตานี โดยผ่านกลไกของผู้อำนวยความสะดวก คือ ดาโต๊ะ อาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ของมาเลเซีย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของฝ่าย มารา ปาตานี
ย้อนเวที 27 เม.ย.ไทยปัดลงนาม
การพบปะพูดคุยอย่างเป็นทางการระหว่างคณะพูดคุยฯชุดใหญ่ของทั้งสองฝ่าย มีขึ้นเมื่อวันพุธที่ 27 เม.ย.59 โดยคณะพูดคุยฝ่ายไทย นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ขณะที่ฝ่าย มารา ปาตานี นำโดย นายอาวัง ยาบะ ประธานมารา ปาตานี
แต่การหารือแบบเต็มคณะไม่อาจลงลึกในประเด็นต่างๆ ได้ เนื่องจาก พล.อ.อักษรา ปฏิเสธที่จะลงนามในร่างข้อตกลงที่จะเป็นกรอบการพูดคุยร่วมกันต่อไป หรือที่เรียกว่า “ร่างทีโออาร์” โดยฝ่ายไทยให้เหตุผลว่า ร่างทีโออาร์ฉบับนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการอำนวยการกระบวนการพูดคุยฯ หรือ steering committee ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ทำให้การพูดคุยคณะใหญ่หยุดชะงักตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
มีรายงานจากหน่วยงานความมั่นคงว่า สาเหตุที่คณะพูดคุยฯภายใต้การนำของ พล.อ.อักษรา ไม่สามารถลงนามในร่างทีโออาร์ได้นั้น เพราะข้อเรียกร้องเบื้องต้นที่อยู่ในร่างทีโออาร์ มีข้อเสนอบางข้อที่รัฐบาลไทยไม่อาจยอมรับได้ โดยเฉพาะการให้ไทยยอมรับชื่อมารา ปาตานี เป็นตัวแทนของคนมลายูปาตานีในการดำเนินกระบวนการพูดคุย, ให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ และให้ความคุ้มครองทางกฎหมายกับคณะพูดคุยฯฝ่ายมารา ปาตานี หรือ immunity
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องถ้อยคำต่างๆ ที่ใช้ในร่างทีโออาร์ เช่น การกำหนดพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องพูดคุยร่วมกัน ว่ารวมไปถึง อ.สะเดา จ.สงขลา และ จ.สตูล ด้วย
ขณะที่ฝ่ายมารา ปาตานี ก็อ้างว่า หากไม่ลงนามในร่างทีโออาร์ ก็จะไม่มีการหารือถึงข้อเสนอของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน ซึ่งเป็นความต้องการสูงสุดของรัฐบาลไทยในเบื้องต้นที่จะลดเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ตลอด 12 ปีที่มีสถานการณ์ความไม่สงบ
แกนนำมาราฯชำแหละทีโออาร์-ตำหนิท่าทีฝ่ายไทย
ก่อนหน้านี้ นายกามาลุดดิน ฮานาฟี หนึ่งในคณะพูดคุยฯของ มารา ปาตานี อดีตแกนนำกลุ่มบีไอพีพี ได้เขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษ โดยใช้นามปากกาว่า “อาบู ฮาฟิซ” ส่งถึงสื่อมวลชนบางแขนง รวมทั้งศูนย์ข่าวอิศรา และองค์กรภาคประชาสังคมบางแห่งในพื้นที่ เนื้อหาเป็นการวิเคราะห์ร่างทีโออาร์ ที่กลายเป็นชนวนการหยุดชะงักของกระบวนการพูดคุย
บทความอ้างว่า ทีโออาร์ หมายถึง Terms of Reference หรือ ข้อกำหนดในการปฏิบัติ เป็นเพียงชุดของกติกาและกฎเกณฑ์สำหรับสองฝ่ายหรือมากกว่านั้นที่จะเห็นร่วมกันและปฏิบัติตามในการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกัน ถือเป็นข้อกำหนดพื้นฐานสำหรับการดำเนินกิจกรรมใดๆ จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือไม่ควรเป็นปัญหาใหญ่ในกระบวนการพูดคุยฯ แต่ก็ย้ำว่าไม่สมเหตุสมผลที่จะตกลงอะไรกันในเรื่องสำคัญๆ โดยปราศจากกติกาหรือข้อกำหนดที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีในการปฏิบัติต่อกันและกันในเบื้องต้น
บทความยังอ้างว่า การพูดคุยสันติภาพในรัฐบาลพลเรือนของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 รัฐบาลในขณะนั้นก็ยอมรับทีโออาร์อย่างง่ายๆ โดยไม่ติดขัดอะไร ในช่วงต้นของการพูดคุย
อาบู ฮาฟิซ ระบุอีกว่า ร่างทีโออาร์ มีความยาว 6 หน้ากระดาษ เนื้อหาครอบคลุม 8 หัวข้อ ได้แก่ 1.ความเป็นมาของกระบวนการสันติภาพ 2.คู่พูดคุย ปาร์ตี้เอ (ประเทศไทย) และปาร์ตี้บี (มาราปาตานี) 3.กำหนดรายละเอียดบทบาทของผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งก็มีมาเลเซีย 4.งการตั้งคณะทำงานเทคนิคร่วม
5.กำหนดขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ 6.การบริหารจัดการเชิงธุรการ 7.การจัดการกับประเด็นอ่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ตลอดจนการคุ้มครองปาร์ตี้บี และ 8.คำขอแก้ไขและเปลี่ยนแปลงข้อกำหนด
บทความอ้างว่า ในร่างทีโออาร์ ไม่ได้พูดถึงคำว่า immunity หรือการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายกับมารา ปาตานี ที่รัฐบาลไทยอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติด้วย
ส่วนข้อกังวลของรัฐบาลไทยที่ว่า การยอมรับมารา ปาตานี ในฐานะคู่พูดคุย เปรียบเสมือนการให้การรับรองและยกระดับสถานะของขบวนการเคลื่อนไหวปาตานีนั้น อาบู ฮาฟิซ เห็นว่า เป็นท่าทีที่ถือว่าไม่ให้เกียรติกัน และใจคับแคบ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยไม่จริงใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับอีกฝ่าย
บทความของนายกามาลุดดิน ยังวิจารณ์บทบาทและคำให้สัมภาษณ์ของทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อักษรา หลังปฏิเสธลงนามในร่างทีโออาร์ ว่าไม่มีความเหมาะสม และไม่ส่งผลดีต่อการสร้างบรรยากาศให้เกิดกระบวนการสันติภาพ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ดร.ปณิธาน วัฒนายากร