คนเก่งมีน้อย!‘มีชัย-วิษณุ-สมบัติ-วิจิตร’ แชมป์นั่งนายกสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง
สำรวจคนดัง นั่งเก้าอี้นายกสภามหาวิทยาลัย ก่อน ม.44 ‘บิ๊กตู่’ จัดระเบียบ สางปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ออกกฎเหล็ก 1 คนห้ามถ่างเกิน 3 แห่ง พบ‘มีชัย-สมบัติ’พอดีเป๊ะ ‘วิษณุ-กฤษณพงศ์-วิจิตร ศรีสอ้าน’ผ่านอื้อ สะท้อนระบบอุปถัมภ์ คนดีขาดแคลน คนเก่งมีน้อย?
12 กรกฎาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา กฎเหล็กข้อหนึ่งใน 15 ข้อ คือ
“ข้อ 3 เพื่อให้การดําเนินการของสถาบันอุดมศึกษามีประสิทธิภาพสูงสุด การแต่งตั้งบุคคลให้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา หรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาจะดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาในเวลาเดียวกันเกิน 3 แห่งไม่ได้
(2) ผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาจํานวน 2 แห่งแล้ว อาจได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา หรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาอีกได้ไม่เกิน 1 แห่ง
(3) ผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาจํานวน 1 แห่งแล้ว อาจได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา หรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาอีกไดไ้ม่เกิน 2 แห่ง
(4) ผู้ดํารงตําแหน่งกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาจํานวน 4 แห่งแล้ว ไม่อาจได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาในเวลาเดียวกันนั้นได้อีก”
กรณีดังกล่าว แม้ว่า ไม่มีผลใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งนายกสภา สถาบันอุดมศึกษาหรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาอยู่ในวันก่อนวันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ (คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป -12 ก.ค.2559)
กระนั้นข้อเท็จจริงอย่างก็คือ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักบริหารการศึกษา ผู้มีชื่อเสียงหลายคน ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย หรือ กรรมการสภาฯพร้อมกันหลายแห่ง
มีข้อมูลระบุว่า บางคนหมดวาระจากสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ หรือกรรมการสถาบันอุดมศึกษาแห่งอื่น วนเวียนไปเรื่อยๆ มิหนำซ้ำ ปัญหาร้องเรียนในเรื่องธรรมาภิบาลสถาบันอุดมศึกษาแห่งนั้นเกิดขึ้นในยุคที่บุคคลดังกล่าวเป็นนายกสภาฯ อาทิ มรภ.พระนคร มรภ.นครสวรรค์ หรือบางคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วยซ้ำ
คราวนี้ลองมาดูตัวอย่าง ‘คนดัง’ ยุคนี้ และย้อนยุคอดีต ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสภาฯ กันบ้าง
รายแรก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันเป็นนายกสภาฯ 3 แห่ง
1.นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ 2 สมัย สมัยแรกตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 (แทนนายวิษณุ เครืองาม ที่ครบวาระ) สมัยที่สอง 1 ก.ค.2559
2.นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ 2 สมัย สมัยแรก ตั้งแต่ 16 มี.ค.2555 สมัยที่สอง ตั้งแต่ 23 ก.พ.2556
3.นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร 2 สมัย สมัยแรก ตั้งแต่ 5 มิ.ย.2555 สมัยที่สองตั้งแต่ 17 ธ.ค.2558
ก่อนหน้านี้ เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม 5 สมัย ตั้งแต่ 8 มิ.ย.2540-19 มิ.ย.2542 .สมัยที่สอง 30 มิ.ย.2542 ,สมัยที่สาม ตั้งแต่ 19 มิ.2544 -18 มิ.ย.2546 สมัยที่สี่ 19 มิ.ย.2548 และ สมัยที่ห้า 5 ต.ค. 2550
นายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2 วาระ ตั้งแต่ 1 ก.พ.2542-31 ม.ค.2544 วาระที่สอง 1 ก.พ.2544 -31 ม.ค.2546
รายที่ 2 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นนายกสภาฯและกรรมการสภาทั้งอดีตและปัจจุบันหลายแห่ง
1.นายกสภาสถาบันการพลศึกษา ตั้งแต่ 8 ธ.ค.2558 (ต่อจาก นายบรรหาร ศิลปอาชา)
2.นายกสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ตั้งแต่ 6 ก.ย.2555
3.นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ตั้งแต่ 22 มิ.ย.2555
4.นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา 2 สมัย ตั้งแต่ 30 ก.ย.2551 สมัยที่สองตั้งแต่ 31 พ.ค.2555
5.นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ 2 ธ.ค.2554
6.กรรมการสภา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร 2 สมัย ตั้งแต่ 5 มิ.ย.2555 และสมัยที่สอง 25 ม.ค.2559
7.กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยทักษิณ ตั้งแต่ 8 มี.ค.2550 (แทนนายสุจินต์ จินายน)
รายที่ 3 นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ปัจจุบันได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎ 3 แห่ง คือ
1.นายกสภา มรภ.เชียงราย 2.นายกสภา มรภ.นครศรีฯ (วาระในการดำรงตำแหน่ง 23 ก.พ. 2559 – 22 ก.พ. 2562 ) และ 3.นายกสภา มรภ.นครสวรรค์
รายที่ 4 นายกฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 3 สมัย ตั้งแต่ปี 2549-ปัจจุบัน
กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2555)
กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร (ธันวาคม 2554)
กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มีนาคม 2554)
กรรมการ สภามหาวิทยาลัยทักษิณ, สภามหาวิทยาลัยแม่โจ้, สภามหาวิทยาลัยมหิดล, สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สภาสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น, สภามหาวิทยาลัยรังสิต
ก่อนหน้านี้ เป็น อธิการ ม.เทคโนยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2 สมัย ตั้งแต่ 15 ก.ค.2541-14 ก.ค.2545 และสมัยสองตั้งแต่ 16 ก.ค. 2545
รายที่ 5 นายวิจิตร ศรีสอ้าน อดีต อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุรนารี 2 สมัย นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 3 สมัย (2551,2554,และล่าสุด 13 ม.ค. 2558 ) นายกสภา มรภ.เทพสตรี ( 2555) และนายกสภา มหาวิทยาลัยสุรนารี 3 สมัย (2554,2556,และล่าสุด 31 ม.ค. 2558)
บุคคลอื่น ก่อนหน้านี้ อาทิ นายสุจินต์ จินายน อธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร 4 สมัย (ตั้งแต่ปี 2536-ปัจจุบัน) เคยเป็น นายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กรรมการสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้
นายเกษม สุวรรณกุล นายกสภามหาวิทยาลัย 9 แห่ง อาทิ นายกสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มรภ.พระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยมหิดล (กรรมการ) มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ขณะที่ บุคคลดังในแวดวงการเมือง อาทิ
นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยนเรศวร ถัดมาเป็น พล.อ.ศิริ ทิวะพันธุ์ รับช่วง
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา 2 สมัย ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2555 สมัยที่สองตั้งแต่ วันที่ 3 มีนาคม 2559
นายประจวบ ไชยสาส์น นายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงหลายสมัย ตั้งแต่ 16 ก.ย.2546 ,7 ก.พ.2550 , 8 ก.พ.2553
สถาบันอื่นๆ อาทิ
นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกสภาสถาบันการพลศึกษา 2 สมัย ตั้งแต่ 17 ก.ย.2552 และ 7 ก.ย.2556
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายกสภาสถาบันการพลศึกษา 2 สมัย สมัยแรก 2 ก.ย.2548 สมัยที่สอง ตั้งแต่ 2 ก.ย.2550
นี่คือ ส่วนหนึ่งของคนดังที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการฯ ในสถาบันอุดมศึกษา
สะท้อนให้เห็นในหลายมุม ด้านหนึ่งอาจเห็นว่า ระบบอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวก ? ฯลฯ
อีกด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะ ‘คนดีขาดแคลน (หรือคนดีมีเยอะ) แต่คนเก่งมีน้อย’ ด้วยเหตุผล ความจำเป็น ทำให้หลายคนจึงต้องนั่งควบ ( หลายเก้าอี้)
อ่านประกอบ :
บิ๊กตู่ ใช้ม.44 รื้อสถาบันอุดมศึกษา- ประเดิมฟันมรภ.สุรินทร์-ชัยภูมิ
เปิดโผมหาวิทยาลัยจ่อคิว รมว.ศึกษาใช้มาตรา 44 ฟัน แก้ปัญหาขัดแย้ง-ธรรมาภิบาล