ชุมชนทั่วไทยร่วมมหกรรมในหลวงรักเราคึกคัก ชูปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทำชีวิตดีขึ้น
พิพิธภัณฑ์ฯเฉลิมพระเกียรติฯเปิดตัวมิติใหม่ ชูมหกรรมในหลวงรักเรา ผุดตลาดนัดพอเพียง ดึงชุมชนทั่วประเทศถ่ายทอดวิชาแผ่นดินฟื้นวิกฤติอุทกภัย ขณะที่ชาวบ้านยกแนวทางพระราชดำริทำชีวิตดีขึ้น
วันนี้(5ม.ค.55)สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(องค์การมหาชน) ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ร่วมกับองค์กรชาวบ้าน เครือข่ายชุมชนเศรษฐกิจพอพียง จัดมหกรรมในหลวงรักเรา เพื่อเทิดพระเกียรติและเผยแพร่อัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางด้านน้ำ และด้านเกษตรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งเพื่อนำเสนอแนวคิดและแนวทางปฏิบัติที่เข้าถึงได้ง่ายแก่ประชาชนภายหลังประสบวิกฤติภัยน้ำท่วมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ พลังงานเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการฟื้นฟูตัวเอง
นางจารุรัฐ จงพุฒิศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดเผย ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่าการจัดมหกรรมในหลวงรักเรามีการเปิดตลาดนัดเศรษฐกิจและเปิดโลกการเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ เนื่องจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งมาตั้งแต่ปี 2539 มีการปรับปรุงเป็นแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต จัดแสดงอัจฉริยภาพในหลวงตั้งแต่หลักการทรงงานผลงาน ศูนย์ศึกษา พัฒนาชีวภาพด้านดินน้ำป่าฝนหลวง นอกจากนี้ยังมีฐานการเรียนรู้ให้ประชาชนได้มาสัมผัสของจริง ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงทฤษฎีใหม่เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ด้วยกิจกรรมภายในงานกลางแจ้งพบกับร้านค้าจากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ และเครือข่ายตลาดสีเขียวกว่า 100 ร้านที่มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากวิธีการผลิตแบบพอเพียง อาทิ นานาพืชพรรณธัญญาหาร ข้าวสาร ผักพื้นบ้าน ผลไม้ เครื่องสำอาง ยาสมุนไพร เครื่องดื่ม อาหารแปรรูป อาหารทะเล ต้นไม้หายาก หนังสือและสื่อการเกษตรเพื่อการพึ่งตนเองและอาหารพื้นบ้าน มีซุ้มจัดแสดงนวัตกรรม เทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านเทคนิคเกษตร พลังงานทางเลือก การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอก อาทิ การทำบ้านดิน การเพาะเห็ดฟางตะกร้า การทำนาโยนกล้า จุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย เตาประหยัดพลังงาน โซลาร์เซลล์ และเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียในครัวเรือน
รวมทั้งมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อการพึ่งพาตนเอง วิชาของแผ่นดินจำนวน 18 หลักสูตร สร้างรายได้ฟื้นฟูอาชีพหลังน้ำลดที่เปิดรับสมัครประชาชนทั่วไปให้เข้ามาเรียนรู้ของจริง มีหลักสูตรฝึกอบรมให้ทั้งที่อบรมฟรีและเสียเงินที่เป็นหลังสูตรเร่งรัด ซึ่งเรียกว่าหลักสูตร ตั้งหลัก ตั้งใจ ตั้งต้น ตั้งตัว หลังน้ำท่วม เทคนิคทำนา 1 ไร่ได้เงิน1แสนบาทด้วยเทคโนโลยีสรรพสิ่งอะตอมมิคนาโน เมื่ออบรมเสร็จแล้วสามารถนำไปปฏิบัติสร้างอาชีพช่วงน้ำลดได้จริง
“เป็นที่น่ายินดีที่มีเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านที่น้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในหลวงไปใช้แล้วเห็นผลนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้กับประชาชนทั่วไป นำไปประยุกต์ใช้เพื่อความมีอยู่มีกินมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น แนวคิดของงานบอกว่าในหลวงรักเรา จึงอยากให้ประชาชนทั่วไปมาศึกษาเรียนรู้อัจฉริยภาพในหลวง เราจะรู้ว่าในหลวงรักเรามากขนาดไหนและท่านยังทำงานเพื่อประชาชนมาตลอดยาวนานมหกรรมฯจะมีไปถึงวันที่ 11 ม.ค.นี้ ซึ่งวันที่ 7-8 ม.ค.จะมีการแสดงดนตรีเพื่อชีวิตจากศิลปินชื่อดัง อาทิ หงา คาราวาน อิ๊ด ฟุตบาธ แฮมเมอร์ ฯลฯ”
นายเสถียร ใจคำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่ตำบลกื้ดช้างเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยว แต่ชุมชนไม่เคยมีส่วนร่วม รายได้ตกเป็นของนายทุนผู้ประกอบการโรงแรม ปัญหาต่างๆจากภายนอกรุกเข้าทำลายขนบธรรมเนียมประเพณีสิ่งแวดล้อมของชุมชน จึงได้นำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงขององค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ 8 หมู่บ้านทั้งชนพื้นเมืองและชนเผ่าอาข่า ม้ง ลาหู่ ลีซู กะเหรี่ยง ก่อเกิดเป็นกลุ่มอาชีพ สร้างรายได้ในชุมชน
“ชุมชนกื้ดช้างยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จนเป็นที่รู้จักของคนไปทั่วโลก ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้ การได้เข้ามาร่วมกับพิพิธภัณฑ์ฯในงานครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ชาวบ้านจะได้นำองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่าการทำเศรษฐกิจพอเพียงทำได้จริงและทำให้ชีวิตดีขึ้น”
อุ่นเรือน จันทร์ได เกษตรกรแม่บ้านกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านนางเติ่ง ต.โคกโพธิ์ อ.ภูพาน จ.สกลนคร กล่าวว่า กลุ่มทอผ้าเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่ทำมาหากินฝืดเคืองด้วยการลงขันกันออมเงินมาทำกลุ่มอาชีพ ทำให้ทุกวันนี้มีกลุ่มอาชีพมั่นคง เมื่อก่อนชาวบ้านวิ่งหาเงิน แต่เดี๋ยวนี้เงินวิ่งเข้ามาหาคนในชุมชนเพราะทุกคนเชื่อมั่นและยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงนั่นเอง.