เปิดโผมหาวิทยาลัยจ่อคิว รมว.ศึกษาใช้มาตรา 44 ฟัน แก้ปัญหาขัดแย้ง-ธรรมาภิบาล
"มหาวิทยาลัยดี ๆ มี อยู่ 80-90% ของมหาวิทยาลัยทั้งหมด มีเพียง 10% เท่านั้นที่มีปัญหา"
ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยจำนวนมากที่มีปัญหาเรื่องความขัดแย้งและหลักธรรมาภิบาล จนกระทบต่อการบริหาร เช่น ว่างเว้นอธิการบดีมานานหลายปี เนื่องจากความขัดแย้ง, สภามหาวิทยาลัยใช้อำนาจในการปลดอธิการบดีจนเกิดการฟ้องร้อง การซื้อขายใบประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) การจัดการศึกษาไม่ได้มาตรฐานตามวิชาชีพ ตลอดจนการชุมนุมประท้วงขับไล่ผู้บริหารระดับสูง โดยที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.)ไม่มีอำนาจดำเนินการใดๆ เพราะอำนาจการบริหารงานอยู่ที่สภามหาวิทยาลัย
ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.)ที่ใช้ อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 จัดระเบียบแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ใน 2 ประเด็นใหญ่ คือ
1.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีอํานาจยับยั้งการแต่งตั้งหรือการดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ที่จะดํารงตําแหน่ง นายกสภาสถาบันอุดมศึกษา กรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา หรืออธิการบดี หากการดำเนินการได้มาซึ่งตำแหน่งดังกล่าว เกิดความขัดแย้ง ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
และ 2.ให้คณะกรรมการการอุดมศึกษารายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปรากฏว่า สภาสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาแห่งใด จัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐาน หรือมาตรฐานหลักสูตร,จงใจ หลีกเลี่ยง หรือประวิงการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษา, นายกสภาสถาบันอุดมศึกษา กรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา หรือผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา มีพฤติการณส่อไปในทางทุจริต ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในสถาบันอุดมศึกษาจนสภาสถาบันอุดมศึกษา หรือสถาบันอุดมศึกษาไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
(อ่านประกอบ:บิ๊กตู่ ใช้ม.44 รื้อสถาบันอุดมศึกษา- ประเดิมฟันมรภ.สุรินทร์-ชัยภูมิ )
"มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ" ประเดิมคำสั่งจัดระเบียบธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษานี้ทันที ถือว่า มีปัญหาเข้าขั้นวิกฤติ ระบบการสรรหาอธิการบดีที่มีปัญหา และความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับสภามหาวิทยาลัย
ในส่วนของมรภ.สุรินทร์ หนักที่สุด อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถึง 3 คน เคยใช้อำนาจสั่งการไปแล้วให้ดำเนินการสรรหาอธิการบดีและสภามหาวิทยาลัยใหม่ ให้เรียบร้อย แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รับรู้กันว่า คสช.เตรียมจะใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะกับมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาเรื้อรังมานาน จนกระทบต่อการจัดการศึกษา มีความพยายามเจรจาให้ออกคำสั่งเป็นรายกรณีไป
รวมทั้ง ยังมีรายงานด้วยว่า คิวต่อไปที่จะถูกจัดระเบียบธรรมาภิบาล อาทิ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งยังมีปัญหาการสรรหาผู้เหมาะสมเป็นอธิการบดี ที่ยืดเยื้อมานาน
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญกับปัญหาความขัดแย้งภายใน จนรมว.ศึกษาธิการ ลงนามให้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ อยู่ในความควบคุม สกอ. ุ ถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถคืนอำนาจให้เอแบคได้
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช กับการปลดอธิการบดีก่อนหมดวาระ และมีเรื่องฟ้องร้องนายกสภามหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยบูรพา มีปัญหาในเรื่องของการฟ้องร้อง และไม่มีอธิการบดีมาไม่ต่ำกว่า 6 ปี
รวมถึงกรณีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี (มกธ.) ที่กรรมการคุรุสภามีมติไม่อนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา ให้แก่นักศึกษาจำนวน 2,500 คน เนื่องจาก มกธ.ขออนุญาตเปิดหลักสูตรกับ สกอ. 500 คน แต่รับสมัครนักศึกษาจำนวน 2,000 คน เป็นต้น
ทั้งหมดถือเป็นความแตกแยกภายใน หากสภามหาวิทยาลัยที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ จนในที่สุดลุกลาม และส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษา
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เคยให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขปัญหาในอุดมศึกษาว่า จะใช้กฎหมายปกติเข้ามาแก้ไขก่อน แต่หากไม่ได้ก็จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ มาตรา 44 แก้ไขปัญหา แต่เป็นการใช้กฎหมายพิเศษ มาตรา 44 หรืออาจจะออกเป็นมาตรการเพื่อกำกับดูแลมุ่งให้เกิดประโยชน์ในภาพรวม กำกับดูแลให้ดำเนินการบริหารต่างๆ เป็นไปอย่างที่ถูกที่ควร
"มหาวิทยาลัยดี ๆ มี อยู่ 80-90% ของมหาวิทยาลัยทั้งหมด มีเพียง 10% เท่านั้นที่มีปัญหา" รมว.ศึกษาฯ ย้ำชัด และชี้ว่า นี่คือการวางกติกาเพื่อส่วนรวม มหาวิทยาลัยใดที่ทำดีอยู่แล้วคงไม่ต้องปรับตัวอะไรทั้งสิ้น ยกเว้นมหาวิทยาลัยที่อาจจะมีปัญหาในการบริหารจัดการก็อาจจะต้องปรับตัวเอง
ขณะที่ คำสั่ง ม.44 ฉบับนี้ ยังเข้าไปจัดระเบียบผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ในอนาคต โดยยังไม่ไปแตะผู้นั่งเก้าอี้อยู่ปัจจุบัน ด้วยหลายแห่งกำลังหมดวาระในไม่ช้า ซึ่งก่อนหน้านี้ ในส่วนของ สกอ. เคยมีความพยายามจะแก้ไข พ.ร.บ.อุดมศึกษา ให้ครอบคลุมไปถึงกติกาในการแต่งตั้งสภามหาวิทยาลัย เช่น กำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีงานประจำ ไม่ควรเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยเกินกว่า 3 แห่ง ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่มีงานประจำ ควรเป็นกรรมการสภาฯ ไม่เกินกว่า 5 แห่ง จะได้ทุ่มเททำงานให้กับมหาวิทยาลัยนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่
แต่รายละเอียดในคำสั่ง คสช.ที่ 39/2559 จัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา โดยกำหนดหลักเกณฑ์ชัดกว่านั้น
- ผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาจะดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาในเวลาเดียวกันเกิน 3 แห่งไม่ได้
- ผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาจํานวน 2 แห่งแล้ว อาจได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา หรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาอีกได้ไม่เกิน 1 แห่ง
- ผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาจํานวน 1 แห่งแล้ว อาจได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา หรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาอีกไดไ้ม่เกิน 2 แห่ง
- ผู้ดํารงตําแหน่งกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาจํานวน 4 แห่งแล้ว ไม่อาจได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาในเวลาเดียวกันนั้นได้อีก
นี่จึงเป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาผู้ทรงคุณวุฒินั่งควบเก้าอี้นายกสภามหาวิทยาลัย หลายแห่ง เพราะบางคนมีชื่อเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่งซ้อนกัน ซึ่งอาจเป็นเหตุผลทำให้ผู้บริหารไม่มีเวลาดูแลมหาวิทยาลัย หรือลงมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
คสช.เข้ามาแก้วิกฤติแบบ"กระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว"...