กรมการข้าวเผยลดรอบทำนาแก้ปัญหาน้ำ-เพลี้ยกระโดด ชดเชยรายได้ด้วยพืชหมุนเวียน
อธิบดีกรมการข้าวเผยแนวคิดแผนจัดระบบปลูกข้าว ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาน้ำไม่พอทำนา แต่ตัดวงจรระบาดเพลี้ยกระโดด พักฟื้นหน้าดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นผลดีต่อสุขภาพและประหยัดต้นทุน ส่วนรายได้ที่ขาดไปจากรอบการทำนาที่ลดลงจาก 3 ครั้งเป็น 2 ครั้งต่อปี ชดเชยด้วยพืชหมุนเวียน และข้าวคุณภาพดี อย่างไรก็ตามปีนี้ยังเริ่มไม่ทัน ที่สำคัญต้องเร่งทำความเข้าใจกับชาวนาซึ่งยังเป็นปัญหาหลัก
จากสถานการณ์ภัยแล้ง ที่รัฐบาลมีแผนการจัดระบบปลูกข้าวใหม่เพื่อแก้ไขวิกฤตขาดแคลนน้ำทำนา โดยข้อมูลฤดูการผลิตข้าว 2550-2551 มีการทำนาปรัง 10-12 ล้านไร่ ใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ 2500 ล้าน ลบ.ม.(เฉพาะในเขตชลประทาน) ฤดูการผลิต 2552-2553 ทำนา 16 ล้านไร่ ใช้น้ำจากเขื่อน 3 พันล้าน ลบ.ม. ซึ่งมีแนวโน้มว่าน้ำในเขื่อนหลักจะไม่เพียงพอสำหรับการทำนาตลอดทั้งปี รัฐบาลจึงมีแผนให้ลดรอบการทำนาจากปีละ 3 เป็น 2 ครั้ง โดยอาจจะมีแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ เช่น สนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชหลังนา 470 บาท ต่อไร่ ปุ๋ยพืชสด 200 บาทต่อไร่ ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษกรณีนำไปจัดระบบจาก 6.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ และจะได้เข้าโครงการประกันราคาด้วย
วานนี้(24 มิ.ย.) นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ในรายงานเรื่องเด่นเย็นนี้ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ซึ่งมีนายสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา เป็นผู้ดำเนินรายการเรื่อง “การเปลี่ยนระบบปลูกข้าว ปฏิวัติการใช้น้ำ” ว่าที่มาของแนวคิดแผนจัดระบบปลูกข้าว เกิดจากวิกฤติปัญหาโรคแมลง เพลี้ยกระโดดระบาดไป 2 ล้านกว่าไร่ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯจึงวางแผนการจัดระบบปลูกพืชใหม่ เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของศัตรูพืช โดยเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งมีมติเห็นชอบ และให้กระทรวงตั้งคณะกรรมการที่มีปลัดกระทรวงเป็นประธาน และมีการรับฟังความเห็นของเกษตรกรครั้งแรกที่กรุงเทพฯวันที่ 23 และ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรที่เข้ามาร่วมเห็นด้วยหมด เพราะวิธีการนี้เป็นไปได้และช่วยในการปรับระบบนิเวศน์ เผอิญมาสอดคล้องกับวิกฤตน้ำ เลยเป็นการบรรเทาปัญหาภัยแล้งด้วย โดยจะประหยัดน้ำลงได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000-2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ต้องปฏิบัติร่วมกับ 48 โครงการชลประทานที่ต้องจัดระบบให้กับผู้ใช้น้ำอย่างทั่วถึงด้วย แต่ทั้งนี้ยังไม่ใช่การบังคับ ต้องมีการระดมความคิดเห็นเกษตรกรก่อน
“อาหารของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลคือข้าว ตัวผู้ตัวเมีย 1 คู่ออกลูกได้ 200 แต่วงจรชีวิตแค่ 25 วันก็ตาย ถ้าเว้นระยะปลูกข้าวจาก 3 ครั้งหรือตลอดปีเป็น 2 ครั้ง ก็จะตัดวงจรระบาดเพลี้ยได้ ในภาวะภัยแล้งขณะนี้ยังมีปัญหาหนอนกอ จากที่มันเคยอาศัยตามพืชอื่น ไม่มีอาหารให้กิน ก็ลงมากินข้าว ปกติผู้อยู่ต้นน้ำจะสูบน้ำเยอะ ปลายน้ำจึงไม่มีใช้ ถ้ามีการจัดระบบบริหารน้ำที่ดีจึงจะช่วยในเรื่องพื้นที่เพาะปลูกด้วย”
นายประเสริฐ ยังกล่าวว่า ตามแผนระบบปลูกข้าวใหม่ของกระทรวงเกษตรฯ มี 4 รูปแบบ รูปแบบที่หนึ่งคือปลูกข้าวรอบที่ 1-รอบที่ 2-ปลูกพืชหมุนเวียน, แบบที่สองคือปลูกรอบ 1-รอบ 2-และเว้น แบบที่สามคือปลูกรอบ 1-ปลูกพืชหมุนเวียน-และปลูกรอบ 2 และรูปแบบที่สี่คือปลูกรอบ 1-แล้วเว้นที่ว่าง-ปลูกรอบที่2 ทั้งนี้ถ้ามีการจัดระบบที่พอดีมีการดูแลอย่างใกล้ชิด จากการศึกษาจะสามารถลดต้นทุนการผลิตจากปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ทำให้มีส่วนเหลื่อมของราคาข้าวในโครงการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐ คือชาวนามีกำไรมากขึ้น และยังสุขภาพดีที่ไม่ต้องใช้สารเคมี นอกจากนี้การปลูกพืชหมุนเวียนซึ่งอาจจะเป็นถั่วเขียว ข้าวโพดฝักอ่อน รวมถึงพืชสีสด ซึ่งอายุสั้นใช้น้ำน้อย ยังบำรุงดินซึ่งเป็นการลดต้นทุนเรื่องปุ๋ย ทำให้ข้าวมีคุณภาพดีขึ้น และมีรายได้เสริมเข้ามาแทนที่รอบการทำนาที่ลดลงด้วยพืชหมุนเวียน
“ตรงนี้รัฐต้องมีสิ่งต่างๆที่จะเข้าไปช่วยเหลือ เช่น การจัดการพันธุ์ การตลาด และมีวิธีการนำมาใช้ และกระทรวงเกษตรฯคงต้องร่วมกันหลายๆส่วนราชการ กรมชลประธาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมการข้าว ในรายละเอียดต่างๆต้องมีการหารือกัน”
อธิบดีกรมการข้าว ยังต่อไปว่า เรื่องดังกล่าวผ่านคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) วันที่ 10 มิ.ย. ซึ่งทาง กขช. เห็นชอบในหลักการ และให้มาเตรียมรายละเอียดที่นำเสนอต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แนะให้ปรับวิธีการนิดหน่อย ในการดำเนินการปีนี้อาจไม่ทัน เพราะมีการปลูกข้าวไปบ้างแล้ว คงเริ่มหลังช่วงเก็บเกี่ยวนาปี อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีได้ให้ไปประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้มาก โดยเน้นผลดีระยะยาวต่อระบบนิเวศน์ แก้ปัญหาน้ำ รวมถึงการปลูกพืชเสริมให้มีรายได้ในช่วงที่เว้นปลูกข้าว
“ก็เข้าไปคุยกับกลุ่มชาวนาตลอดให้ยืดระยะเวลาปลูก ก็ไม่ค่อยได้รับการยอมรับ เพราะชาวบ้านเขาเคยทำมานาน ก็ต้องมีการทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นต่อไป เพราะผลระยะยาวจะเป็นบวก จากการปลูกปีนี้เราเห็นชัดว่าเกษตรกรได้รับความเสียหายมากกว่า ไม่คุ้มทุนที่จะปลูก และรัฐบาลต้องมารับภาระการชดเชยความเสียหายจากภัยแล้ง” .
ภาพประกอบจาก http://www.coopinthailand.com/viewnews.php?news_id=46