ผ่ามติมส.ตั้ง'สมเด็จช่วง'ฝ่าด่านม.7 ติดหล่มข้อครหา กับ บทบาทบุรุษไปรษณีย์ 'บิ๊กตู่'
"...หากมีการเสนอนามผู้สมควรดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช พบว่ามีปัญหาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคดีความ หรืออื่น ๆ นายกรัฐมนตรีสามารถขอให้ทบทวนนามได้ ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่เป็นบุรุษไปรษณีย์เท่านั้น.."
เกมยื้อเวลาแต่งตั้ง 'สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์' หรือ 'สมเด็จช่วง' เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ หมดไปหนึ่งเงื่อนไข
ภายหลังที่ 'คณะกรรมการกฤษฎีกา' ส่งความเห็นตามที่รัฐบาลส่งเรื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามคำร้องของ 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาให้รับทราบเป็นทางการ
โดย 'สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ' รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ระบุว่า กฤษฎีกาได้ตีความขั้นตอนการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ไม่ขัดกับมาตรา 7 ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์
ทำให้มติของ 'มหาเถรสมาคม' (มส.) เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่าน ให้ส่งชื่อ 'สมเด็จช่วง' ให้ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' นายกรัฐมนตรี เพื่อนำความขึ้นทูลเกล้า เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ดำเนินการถูกต้องทุกขั้นตอน
เมื่อการตีความกฎหมายที่ออกมาถือว่า เข้าทางฝ่ายสนับสนุน 'สมเด็จช่วง' โดยเฉพาะกลุ่มของพระเมธีธรรมมาจารย์ หรือเจ้าคุณประสาร รองอธิการบดี ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ที่เตรียมชูธงออกมากดดันให้ 'บิ๊กตู่' ส่งชื่อ 'สมเด็จช่วง' ขึ้นทูลเกล้าโดยเร็วที่สุด
ซึ่งเหตุผลทางกฎหมายดังกล่าวจะถูกนำมากล่าวอ้างเพิ่มความชอบธรรม เงื่อนไขระยะเวลาที่ส่งชื่อมากว่า 4 เดือนแล้ว จะถูกนำไปเป็นเงื่อนไขต่อรอง-ปลุกระดมกองเชียร์ 'สมเด็จช่วง' ให้ออกมาแสดงตัว-วัดกำลังกันมากขึ้น
แต่อย่าลืมว่าฝั่งที่ยืนอยู่ตรงข้าม 'สมเด็จช่วง' แม้มีไม่เยอะ
แต่หากออกมากดดันเมื่อไรมีทั้งพลังจริง-พลังแฝงเยอะ ชื่อของ 'ไพบูลย์ นิติตะวัน'-'มโน เลาหวาณิช' อดีตลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย 'พระพุทธอิสระ' อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย ยังคงเป็นตัวตั้งตัวตีที่ไม่ยอมให้ “สมเด็จช่วง” ขึ้นเป็นประมุขฝ่ายสงฆ์ได้ง่าย และแม้ตัวละครหลักของกลุ่มต้านจะมีแค่ 3 คน แต่อาจจะทรงพลังมากกว่ามวลชนฝั่งสนับสนุน
ที่สำคัญการเดินเกมอาศัยช่องทางทางกฎหมายทำให้เกิดประเด็นข้อสงสัยในตัวของ 'สมเด็จช่วง' ได้ตลอดเวลา โดยมีหน่วยงานรัฐบางหน่วยงานพร้อมรับลูกสิ่งที่ทั้ง 3 คนชงให้ไปเล่นต่อตลอดเวลา
ยิ่งการที่ 'เจ้าคุณประสาร' ที่เน้นงานด้านมวลชน ระดมพระ ระดมคน พยายามขู่จะใช้มวลชนออกมามากเท่าไร เกมจะกลับไปเข้าทางฝ่ายต่อต้าน 'สมเด็จช่วง' มากขึ้นเท่านั้น
หากยังจำกันได้ครั้งหนึ่ง 'เจ้าคุณประสาร' เคยนำพระจำนวนมหาศาลมาชุมนุมที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เพื่อสนับสนุน 'สมเด็จช่วง' แต่กลายเป็นว่าภาพที่ออกมาถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวางว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่
โดยเฉพาะกับ 'พระสงฆ์' ที่ควรจะครองตนเป็นตัวอย่าง ละซึ่งกิเลส แต่กลับมาเคลื่อนไหวในลักษณะของ 'ม็อบผ้าเหลือง' และคราวนี้หากจะทำแบบเดิมก็ยิ่งสร้างปมขัดแย้งขึ้นมาใหม่ ส่งผลให้การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ต้องล่าช้าไปอีก เหมือนที่ 'บิ๊กตู่' ย้ำตลอดว่าหากยังไม่ได้ข้อยุติการแต่งตั้งก็จะเลื่อนออกไปอีก
หน่ำซ้ำ 'สุวพันธุ์' ยังบอกชัดเจนว่า “ตอนนี้ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับขั้นตอนการเสนอนามสมเด็จพระสังฆราช จึงต้องขอเวลาดูเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องก่อนทำความเห็นถึงนายกฯต่อไป ไม่สามารถระบุเวลาได้ เพราะมีหลายปัจจัย ต้องให้สังคมเข้าใจตรงกันก่อน ผมขอแบกเรื่องนี้ รับภาระ เป็นของตัวเองก่อน และไม่รู้สึกกดดันอะไร เพราะเชื่อว่าทุกฝ่ายเข้าใจ”
ชี้ให้เห็นเกมมวลชนของฝ่ายสนับสนุน 'สมเด็จช่วง' เหมือนทางจะโล่ง แต่อาจจะเข้าทางอีกฝั่งได้ง่ายดาย
ขณะที่คดีครอบครองรถหรูของ 'สมเด็จช่วง' ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นอีกปมปัญหาใหญ่ สำหรับการขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่เช่นกัน
เพราะตราบใดที่ยังมีข้อครหา เรื่องความเหมาะสมของ 'สมเด็จช่วง' ก็จะเป็นคำถามได้ตลอดเวลา
อีกทั้งคดีดังกล่าวยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะจบลงเมื่อไร และผลการสอบสวนจะออกมาเป็นโทษหรือเป็นคุณต่อ 'สมเด็จช่วง' ยังต้องรอลุ้นกันอีกยาว
แถมเงื่อนเวลาของการตีความมาตรา 7 เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่พนักงานอัยการจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีทุจริตเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่มี 'พระธัมมชโย' เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา
เหมือนเกมถูกตั้งให้กระแสอยู่ในช่วงเดียวกัน เพื่อกระทบชิ่งให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างกัน
เพราะยิ่งปัญหาของ 'ธัมมชโย' บานปลายออกไปมากเท่าไร ก็จะกระทบชิ่งไปยัง 'สมเด็จช่วง' ในทางอ้อมในฐานะพระอุปชา และถูกมองว่าทั้งวัดปากน้ำและวัดพระธรรมกายเกื้อกูลกันมาตลอด
แต่ที่น่าสนใจที่สุด อยู่ตรงที่บทบาทของ 'ท่านผู้นำ' ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาเรื่องนี้
โดยล่าสุดแหล่งข่าวจากสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า กรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์กรณีการเสนอนามสมเด็จพระสังฆราชของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ตามมติของมหาเถรสมาคม (มส.) ชอบหรือไม่ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความทั้งหมด 3 ประเด็น
ประเด็นสำคัญที่สุดและมีการถกเถียงกันคือ นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีอำนาจตามมาตรา 7 ในฐานะผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์อย่างไรซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะดูความเหมาะสมของนามที่ มส. เสนอเพื่อทูลเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชด้วย
ดังนั้นหากมีการเสนอนามผู้สมควรดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช พบว่ามีปัญหาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคดีความ หรืออื่น ๆ นายกรัฐมนตรีสามารถขอให้ทบทวนนามได้ ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่เป็นบุรุษไปรษณีย์เท่านั้น
(อ่านประกอบ : กฤษฎีกายัน‘นายกฯ’มีอำนาจทบทวนเสนอนาม ‘พระสังฆราช’ไม่ใช่แค่ไปรษณีย์)
แต่ประเด็นนี้ นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างชัดเจน ซึ่งยังไม่ใครออกมายืนยันเหตุผลนี้อย่างชัดเจน ว่า มีเหตุผลอะไรถึงทำแบบนี้
แต่มันก็สะท้อนให้เห็นถึงนัยยะบางประการ เกี่ยวกับบทบาทของ 'ท่านผู้นำ' ต่อกรณีนี้ได้ชัดเจน!