คาดไม่เกิน 5 ปี ธุรกิจรับซื้อผลไม้เมืองจันท์ ตกอยู่ในมือ ‘ล้งจีน’
กรณีของล้งจีนจังหวัดจันทบุรี มีความเป็นห่วงว่า หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่รีบหาทางป้องกันการครองงำการค้าผลไม้ของล้งจีน อาจทำให้ภาครัฐไม่สามารถนำกฎกติกา หรือนโยบายให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรมาใช้อย่างได้ผล เช่นเดียวกับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับกรณีลำไย
“ทุเรียน ลำไย มังคุด มะม่วง ลิ้นจี่ เงาะ” ถือได้ว่า เป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ส่งออกไปต่างประเทศกว่า 70-80% จากที่ผลิตได้ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมักประสบปัญหาผลไม้ล้นตลาดและมีราคาตกต่ำในช่วงฤดูกาลผลไม้ออกสู่ตลาด แต่ปัจจุบัน พบว่า ผลไม้ไทยเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรขายผลไม้ได้ในราคา โดยเฉพาะในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งในอดีตเกษตรกรจะดูแลการปลูก ผลิต และขายให้พ่อค้าเพื่อขนส่ง และกระจายผลไม้ส่งเข้าสู่ตลาด
มาระยะหลังๆ เริ่มมีผู้ค้าชาวจีนเข้ามาตั้งโรงคัดบรรจุผลไม้ หรือล้ง เข้ามารับซื้อผลไม้ถึงในสวน และส่งออก รวมทั้งสามารถแข่งขันซื้อผลไม้กับล้งไทยในท้องถิ่นได้ดีกว่า ในที่สุดก็ได้ครอบงำตลาดการค้าผลไม้ของไทยไปได้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการตลาดผลไม้ที่มีมาในอดีต
มีข้อมูลการเข้ามาประกอบธุรกิจรับซื้อผลไม้ของคนต่างด้าว จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูล โรงคัดบรรจุที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรทั่วประเทศแล้ว เบื้องต้นพบว่า มีล้ง ซึ่งมีสถานะเป็นคนต่างด้าวจำนวน 5 ราย และมีสถานะเป็นนิติบุคคลไทยที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงอาจใช้คนไทยถือหุ้นแทน จำนวน 95 ราย เป็นล้งในจ.จันทบุรี จำนวน 5 ราย
สอดคล้องกับข้อมูลที่พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุถึงปัญหาดังกล่าวว่า รัฐบาลได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แก้ไขปัญหาการตั้งโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) ของผู้ประกอบการชาวต่างชาติในภาคตะวันออก โดยเฉพาะในจังหวัดจันทบุรี หลังได้รับการร้องเรียนว่า พ่อค้าจีนเข้ามาตั้งล้งจำนวนมากส่งผลกระทบต่อพ่อค้าไทย ซึ่งภาครัฐได้ลงไปตรวจสอบใบอนุญาตทำงานและการเข้าเมืองของพ่อค้าจีน รวมทั้งใบอนุญาตจัดตั้งล้งที่ถูกต้อง โดยทั่วประเทศมีล้งที่ขึ้นทะเบียน 1,139 ราย เป็นล้งของคนต่างด้าว 5 ราย (จีน ญี่ปุ่น ดัช อินเดีย) และมีคนไทยเป็นนอมินี 95 ราย ในจำนวนนี้เป็นล้งใน จ.จันทบุรี 5 ราย
ขณะที่ในรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การตั้งโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) ของผู้ประกอบการชาวต่างชาติในจังหวัดจันทบุรี โดยคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ส่งให้ครม.รับทราบนั้น
รายงานฉบับดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ผลไม้ไทยที่เคยประสบปัญหาถูกล้งจีนเข้าครอบงำมาแล้ว เช่น กรณีเรื่องลำไยภาคเหนือ ซึ่งในขณะนั้นเมื่อเกิดราคาลำไยตกต่ำ ภาครัฐพยายามเข้าไปช่วยเหลือเกษตร โดยออกมาตรการกำหนดราคารัฐซื้อเพื่อดึงราคาลำไยให้สูงขึ้น แต่ปรากฎว่า การออกมาตรการดังกล่าว ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาราคาลำไยตกต่ำได้ เนื่องจากพ่อค้าผู้รับซื้อ หรือล้ง อยู่ในมือของพ่อค้าคนจีนถึง 80% ได้รวมตัวกันหยุดรับซื้อลำไยทันที
กรณีของล้งจีนจังหวัดจันทบุรีก็เช่นกัน มีความเป็นห่วงว่า หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่รีบหาทางป้องกันการครองงำการค้าผลไม้ของล้งจีน อาจทำให้ภาครัฐไม่สามารถนำกฎกติกา หรือนโยบายให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรมาใช้อย่างได้ผล เช่นเดียวกับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับกรณีลำไย
ปัจจุบันประเทศไทย เป็นผู้ผลิตและส่งออกผลไม้ที่สำคัญของโลก จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2557 ประเทศไทยส่งออกผลไม้มูลค่า 40,725 ล้านบาท และในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ก.ค.) ส่งออกได้ 29,469 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.72
ตลาดผลไม้ที่สำคัญของไทยอันดับหนึ่ง คือ จีน รองมาได้แก่ ฮ่องกง เวียดนาม ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลี และอินโดนีเซีย
ขณะที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดให้ผู้ส่งออกผักและผลไม้ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกโดยผลผลิตที่ส่งออกต้องมาจากแปลงปลูก เก็บเกี่ยว และใส่บรรจุภัณฑ์ตามขั้นตอนการผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice:GAP) และมาจากโรงคัดบรรจุที่ผ่านการรับรองคุณภาพและมาตรฐานตามระบบการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practice:GMP) ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรที่ส่งออก
อย่างไรก็ตาม ในกรณีการส่งออกไปประเทศจีน ผลไม้ที่ส่งออกต้องปฏิบัติตามมาตรฐานบังคับ AQSIQ ของจีนด้วย ซึ่งมักเป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ล้งไทยเสียเปรียบล้งจีน
มีข้อมูลจากศูนย์วิจัยพืชสวนจังหวัดจันทบุรี ขณะนี้มีโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) ที่ได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐาน GMP แล้ว ในจังหวัดจันทบุรีทั้งสิ้น 122 โรง ในจำนวนนี้เป็นล้งของพ่อค้าชาวจีนเกือบครึ่งหนึ่งของล้งทั้งหมด
และผลไม้ส่งออกโดยเฉพาะทุเรียนที่ส่งไปตลาดจีนส่วนใหญ่ และเป็นการส่งออกโดยล้งจีน ซึ่งเข้ามาประกอบธุรกิจรับซื้อและตั้งโรงคัดบรรจุผลไม้โดยอาศัยคนไทย เข้าชื่อบังหน้าในลักษณะ "Nominee" ซึ่งคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ฯ สนช.ยังชี้ให้เห็นถึง วิธีการทำตลาดการค้าในลักษณะดังกล่าวได้แพร่กระจายไปสู่ตลาดผลไม้ชนิดอื่นๆ ในหลายจังหวัด จนเป็นที่หวาดหวั่นว่า หากปล่อยไว้เช่นนี้ เกรงว่า ภายใน 5 ปี ธุรกิจรับซื้อผลไม้ในจังหวัดจันทบุรีจะตกอยู่ในมือของล้งจีนทั้งหมด
เมื่อ “ล้งจีน” สามารถผูกขาดการซื้อขายและเป็นผู้กำหนดราคาผลไม้ไทยในอนาคต หากปล่อยไว้โดยไม่มีการแก้ไข หรือควบคุม ธุรกิจการค้าผลไม้ของไทยอาจประสบปัญหาวิกฤติด้านราคาและการตลาดได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอนาคตหากปริมาณการผลิตผลไม้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้ประกอบการไทยไม่มีประสบการณ์ในการทำตลาดการค้าผลไม้ เนื่องจากปล่อยให้คนต่างด้าวเข้ามาทำตลาดแทน ในที่สุด คนไทยก็จะขาดประสบการณ์ในการทำตลาดส่งออก โดยเฉพาะตลาดจีน
กอรปกับนโยบายของประเทศไทยมุ่งเน้นในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) เช่น การแปรรูปเป็นผลไม้อบแห้ง ผลไม้กระป๋อง เป็นต้น รวมถึงการสร้าง Supply Chain ในการผลิตตั้งแต่การผลิต แปรรูป ส่งออกจนไปถึงตลาดผู้ซื้อ แต่ขณะนี้กลับถูกชาวต่างด้าวเข้ามาทำ Demand Chain คือ การใช้ความต้องการสินค้าของลูกค้า เป็นเงื่อนไขต่อรองการซื้อตามคุณสมบัติผลไม้ที่ต้องการ แล้วยังทำ Supply Chain ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยผู้ประกอบการไทยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
นอกจากนี้ จีนยังมีระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่แตกต่างกับของไทยโดยประเทศไทยไม่เก็บภาษี VAT กับสินค้าเกษตรที่ทั้งนำเข้าและผลิตในประเทศไทย แต่จีนเก็บ VAT กับสินค้าเกษตร ที่นำเข้าอัตราร้อยละ 13 ด้วยระบบการปฏิบัติที่ซับซ้อนของจีน ท้ายที่สุดสินค้าเกษตรของจีนก็ไม่ได้เสียภาษี VAT แต่อย่างใด ซึ่งจากมาตรการทางภาษีที่แตกต่างกันดังกล่าว ทำให้ผลไม้ของไทยมีราคาสูงกว่าของจีน ทำให้ไทยเสียเปรียบในด้านต้นทุนและเข้าสู่ตลาดจีน
ประเด็นที่ต้องติดตาม คือ การตรวจสอบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจต่างด้าวเข้ามาทำธุรกิจล้งในประเทศไทย ได้เข้ามาอย่างถูกกฎหมายไทยหรือไม่ได้มีการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีอื่นๆ อาทิเช่น ภาษีที่ดินอย่างถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่
ทั้งนี้ หากยอมรับว่า ชาวจีนที่เป็นต่างด้าวสามารถเข้ามาประกอบธุรกิจล้งในประเทศไทยได้ ชาวต่างชาติประเทศอื่นอาจเอาเป็นตัวอย่างและเข้ามาทำธุรกิจในลักษณะนี้ได้ด้วยเช่นกัน
คณะกรรมมาธิการการพาณิชย์ฯ สนช. ได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.ให้มีการจัดระเบียบทางการค้าและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ได้แก่ พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 2542 (ธุรกิจล้งของต่างชาติอาจถือเป็นธุรกิจที่ต้องขออนุญาตตามธุรกิจบริการ ตามบัญชี 3 (21) ท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้ พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า 2542 และพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง 2522)
2.ควบคุมดูแลการเสียภาษีเงินได้ให้ถูกต้องตามระเบียบ รวมทั้งให้มีการกำกับดูแลการนำเข้าส่งออกผลไม้ให้เป็นไปตามกฎระเบียบของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ
3.ส่งเสริมการตลาดเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่คนไทยที่เคยออกจากตลาดไปแล้ว ให้กลับเข้ามามีบทบาทในการส่งออก สนับสนุนกลุ่ม SMEs ในการหาตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ รวมทั้งวางแนวทางสนับสนุนให้การค้าผลไม้ไทย เป็นวาระขับเคลื่อนสำคัญ
4.มาตรการเพิ่มเติมอื่นๆ ได้แก่ ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มและมีการซื้อขายแบบ On-line กำหนดให้ผลไม้เป็นรายการสินค้าสำคัญที่ควรมีการควบคุม กำหนดดูแลปริมาณที่นำเข้าส่งออกตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปการส่งออกไปนอกและการนำเข้าในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 จัดระบบการเก็บภาษีรองรับ มาตรการส่งเสริมอื่นๆ ให้ชาวสวนมีความเข้มแข็ง เช่น โครงการส่งเสริมการรวมตัวเป็นสมาคมการค้า และการหาตลาดประเทศอื่น รวมทั้งสร้างรูปแบบการดำเนินการของสหกรณ์การเกษตรให้เข้มแข็งในการบริหารจัดการ การสนับสนุนการเปิดเว็บไซต์เพื่อการจำหน่ายผลไม้ออนไลน์
"ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเบื้องต้น อาจมีผลกระทบต่อเกษตรกรไทยไม่มากก็น้อย แต่หากปัญหาดังกล่าวถูกปล่อยปะละเลยไป อาชีพเกษตรกรของไทยอาจรวมถึงที่ดินในการทำการเกษตรของคนไทยอาจตกเป็นของคนต่างชาติได้" ในรายงานฉบับนี้ ระบุ
ขณะที่คนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ให้ข้อมูลยืนยันว่า อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ที่ติดกับจังหวัดระยอง มีล้งจีนอยู่จำนวนมาก ขณะที่ อำเภอโป่งน้ำร้อนติดชายแดน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสวนลำไย เกือบจะเป็นของคนจีนหมดแล้ว
"ขณะนี้ ผลผลิตลำไยจากจันทบุรี สามารถตีตลาดลำไยจากเชียงใหม่ได้ เนื่องจากลำไยจันท์ ลูกใหญ่ เนื้อดี และกินอร่อย" คนในพื้นที่ระบุ และบอกด้วยว่า คนจีนที่มากว้านซื้อที่ดินที่นี่ จะใช้วิธีการมาแต่งงานอยู่กินกับคนไทย ขณะที่การทำสวนลำไย ก็จะใช้วิธีการอัดยา อัดปุ๋ย จำนวนหนักมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
รัฐแก้ปัญหาล้งจีนเมืองจันท์คืบ ออกมาตรการ 3 ด้าน อุดช่องโหว่
เจ้าของสวนละไม ชี้ 'ล้งจีน' เหมาสวนทุเรียน ให้ราคาดี เชื่อเกษตรกรดีใจไม่เกิน 3 ปี