วิสาหกิจชุมชนพันธุ์ข้าว “ผักไหม” สนับสนุนชาวนาให้พึ่งตนเอง
"ปัญหาการใช้สารเคมีมากเกินความจำเป็น มีการใช้เพิ่มมากขึ้นทุกปีกลายเป็นภาระหนี้สินเงาตามตัว สารเคมีตกค้างในดินทำให้ดินมีคุณภาพต่ำ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วก็ต่างคนต่างขาย ไม่มีการรวมกลุ่ม ไม่มีอำนาจต่อรองทั้งการซื้อปัจจัยการผลิตและการขายผลผลิต"
พื้นที่ ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนาเป็นหลัก แต่ด้วยมีพื้นที่น้อยและอาศัยฟ้าฝน ชาวนาจึงมักใช้สารเคมีเร่งการเจริญเติบโต ทำให้ต้นทุนในการเพาะปลูกสูง พอผลผลิตออกมาก็ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ขณะเดียวกันก็ขาดความรู้ในการทำนาที่ถูกต้อง ทำให้ชาวบ้านผักไหมประสบปัญหาเป็นหนี้เป็นสิน จนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวม
จากปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม ถูกต่อยอดขึ้นจากกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2541 เพื่อสร้างกระบวนการพัฒนาอาชีพการเกษตรแบบครบวงจร ตั้งแต่การส่งเสริม พัฒนา สนับสนุนปัจจัยการผลิต ตลอดจนแปรรูปจำหน่ายแบบครบวงจร จนเป็นวิสาหกิจชุมชนตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จดังเช่นปัจจุบัน ภายใต้ โครงการพัฒนาทักษะด้านการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพให้แก่บุคลากรขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
คุณสมบัติและหลักเกณฑ์สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจ จะต้องประกอบด้วย
1.มีพื้นที่ทำการเกษตรเข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 5 ไร่ขึ้นไป ไม่เป็นพื้นที่แล้งหรือน้ำท่วมซ้ำซาก หรือมีแหล่งน้ำสำรอง ไม่ใช้ข้าวหลายพันธุ์ในแปลงเดียวกัน
2.ปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ทางกลุ่มจัดหาให้
3.การปลูกต้องเป็นแถวเป็นแนวหรือปลูกด้วยระบบนาดำเท่านั้น
4.ต้องปฏิบัติตามแผนการผลิตหรือมติของกลุ่มเท่านั้น
5.ต้องเข้าร่วมกระบสนการโรงเรียนเกษตรกรอย่างน้อย 3 ครั้งต่อฤดูการผลิต
6.ต้องมีการจดบันทึกข้อมูลรายละเอียดการผลิตทุกแปลง
และ 7.ต้องถือหุ้นและฝากเงินออมทรัพย์ต่อเนื่องตามระเบียบเพื่อเป็นการระดมทุน
ภายในศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลชุมชนผักไหม ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ได้แก่ การให้ความรู้กับเกษตรกรในการทำนาอินทรีย์อย่างถูกวิธี ทั้งการทำนาดำ การทำเกษตรปลอดการเผา การปลูกพืชหมุนเวียน การขยายแปลงนา การคัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าว การเพาะกล้า การทำปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพ การสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรให้แก่สมาชิก
นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนชาวนา ซึ่งมีแปลงนาสาธิตที่ให้สมาชิกทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำนาร่วมกันมีการกำหนดแผนการทำนาที่ชัดเจน เพื่อนำเอาประสบการณ์หรือข้อคิดเห็นไปปรับใช้ในแปลงนาของตนเอง โดยจะมีการกำหนดแผนการทำนาใน 1 ฤดูการผลิตให้สมาชิกได้ทำตาม 8 ขั้นตอน คือ ช่วงที่หนึ่ง ธ.ค.-ม.ค. เตรียมแปลงทำนา ช่วงที่สอง ก.พ.-มี.ค. เตรียมปุ๋ย ช่วงที่สาม มี.ค.-เม.ย. เก็บผลผลิตถั่วเหลืองที่ปลูกในช่วงเตรียมแปลงขาย ช่วงที่สี่ มี.ค.-พ.ค. ปรับแปลงทำนา ช่วงที่ห้า พ.ค.-ก.ค. เตรียมกล้า ช่วงที่หก ก.ค.-ส.ค. ปรักดำนา ช่วงที่เจ็ด ส.ค.-พ.ย. ดูแลข้าวให้เจริญเติบโต และช่วงที่แปด พ.ย.-ธ.ค. เก็บเกี่ยวผลผลิต
ตลอดระยะเวลาการผลิตจะมีการตรวจประเมินแปลงเมล็ดพันธุ์อย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อให้ผลผลิตได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ จากนั้นแล้วโรงสีชุมชนจะทำหน้าที่รับช่วงต่อเพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน และผลิตเป็นสินค้าตรา “ผักไหม” เพื่อจำหน่ายต่อไป
'จันทรา หาญสุทธิชัย' นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผักไหม (อบต.ผักไหม) กล่าวถึงผลการดำเนินงาน ว่า ภายหลังประสบปัญหา ทางอบต.ได้เข้าไปส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพื่อให้ผลผลิตได้มาตรฐาน เมื่อทำได้หนึ่งฤดูกาลผลิตพบว่า เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น หนี้สินก็ลดลลง เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูกันในชุมชน ต่อมาก็มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ร้านค้าชุมชน โรงสีชุมชน สนับสนุนการดำเนินของวิสาหกิจชุมชนไม่ต้องไปพึ่งข้างนอก
ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม มีสมาชิก 125 คน และที่เข้าร่วมโครงการ 349 คน นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายต่างตำบลอีก 4 แห่งที่มาทำงานร่วมกัน
"ไพฑูรย์ ฝางคำ" ประธานศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม เล่าว่า แต่เดิมชาวบ้านขาดความรู้ในการทำเกษตร ขาดการเตรียมดิน ทำให้ผลผลิตต่ำ นอกจากนี้ยังขาดองค์ความรู้เพิ่มผลผลิต และที่สำคัญเกษตรกรขาดเครือข่ายองค์ความรู้ที่ช่วยเสริมทำให้ขาดองค์ความรู้ใหม่ๆ มาช่วยพัฒนผลผลิตทางเกษตรได้
"อีกปัญหาหนึ่ง คือ การใช้สารเคมีมากเกินความจำเป็น มีการใช้เพิ่มมากขึ้นทุกปีกลายเป็นภาระหนี้สินเงาตามตัว สารเคมีตกค้างในดินทำให้ดินมีคุณภาพต่ำ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วก็ต่างคนต่างขาย ไม่มีการรวมกลุ่ม ไม่มีอำนาจต่อรองทั้งการซื้อปัจจัยการผลิตและการขายผลผลิต"
ศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม จึงเกิดขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ให้ชาวบ้านพึ่งตนเองให้มากที่สุด ใช้ปัจจัยที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด หันมาทำนาแบบพึ่งตนเอง และเป็นเกษตรกรต้นแบบได้ และเกิดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งสร้างพลังต่อรองได้เพื่อประโยชน์ของชุมชน
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานหรือชุมชนที่สนใจได้เข้ามาศึกษาการดำเนินงาน ทั้งรูปแบบการบริหารองค์กร การทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ ขั้นตอนการทำนา การต่อยอดผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งเราจะถ่ายทอดให้อย่างเต็มที่เพื่อให้เห็นว่าเราทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จอย่างเช่นทุกวันนี้ ซึ่งแต่ละเดือนมีผู้มาศึกษาดูงานไม่ต่ำกว่า 300-400 คน
นพ.ชาตรี เจริญศิริ กรรมการบริหารสำนักสร้างสรรโอกาสและนวัตกรรม สสส. ชี้ว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลผักไหม ถือได้ว่ามีความเข้มแข็งในการจัดการออมทรัพย์ของกลุ่มเกษตรกรเพื่อแก้ปัญหาให้กับชุมชนของตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งปัจจัยผลิตภายนอก มีการส่งเสริมการทำปุ๋ยอินทรีย์เพื่อส่งเสริมผลผลิตในรูปแบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบการจัดการให้ชุมชนอื่นที่มีวิถีเกษตรกรรมอย่างเช่น การทำนา ได้ด้วย ซึ่งจะต้องมีการดำเนินงาน 3 อย่าง คือ การออม การทำเกษตรปลอดภัย และการตรวจมาตรฐาน และหากชุมชนได้สามารถรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น และมีความเข้มแข็ง ก็จะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม ทำการรวบรวมผลผลิตของสมาชิกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายใต้ตรา “ผักไหม” ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวสารคุณภาพ และเมล็ดพันธุ์ข้าว ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตเกษตรกร สร้างรายได้อย่างเป็นธรรมให้กับสมาชิกอันส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่อยู่ดีกินดีขึ้น และเป็นแบบอย่างให้ชุมชนเกษตรกรรมพื้นที่อื่นๆ ได้ศึกษากระบวนการจัดแก้ปัญหาด้วยพลังของคนชุมชนอย่างแท้จริง