พลิกมุม 360 องศา ทิศทางแรงงานไทยในสายตา ‘แล ดิลกวิทยรัตน์’
ภายหลังวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ปลายปี 2554 ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าคนงานกว่า 9 แสนคนได้รับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมปิดตัว ยังไม่นับลูกจ้างในธุรกิจรายย่อยที่กระจัดกระจายเก็บกระเป๋ากลับบ้านนอก ส่งผลต่อสภาวะความมั่นคงของแรงงานไทยเป็นอย่างยิ่ง
รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ ศาตราภิชาน ที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมองว่า นายจ้างมีส่วนสำคัญในการกำหนดชะตากรรมของลูกจ้างตามกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิการเลิกจ้างเป็นของนายจ้าง เนื่องจากกฎหมายให้สิทธินายจ้างจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย นายจ้างก็มีความถูกต้องแม้ว่าจะไม่ชอบธรรมก็ตาม
หลังจากภาวะน้ำท่วมคิดว่าจะมีปัญหาวิกฤตแรงงานหรือไม่
ถือว่าน้ำท่วมครั้งนี้กระทบชะตากรรมของลูกจ้างมาก ในแง่จำนวนลูกจ้างที่หายไป เช่น นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่มีงานทำในช่วงน้ำท่วม 1-2 เดือน ปัญหาคือ 1.แม้ว่ากฎหมายจะบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้าง 75 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ซึ่งหลายบริษัทยื้อเวลาไม่ยอมจ่ายให้ ทำให้ลูกจ้างเดือดร้อน และมีหนี้สินพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ 2. ความสามารถในการใช้หนี้ถูกลดทอนลง เงิน 75 เปอร์เซ็นต์ไม่พอสำหรับใช้จ่าย อย่างไรก็ตามหวังว่าช่วงน้ำลด การฟื้นฟูภาคแรงงานต้องมีการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาย้อนหลัง เนื่องจากมีหนี้สินที่พอกพูนเพิ่มขึ้นระหว่างที่ทำงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีปัญญารับผิดชอบ เรื่องเหล่านี้จะกลายเป็นดินพอกหางหมูไปเรื่อย ๆ และกลายเป็นภาระ ท้ายที่สุดแล้วการจ้างงานจะกลับมา
แรงงานมีแนวโน้มจะกลับมาเท่าเดิมกับที่หายไป
คิดว่าช่วงฟื้นฟูจะมีการเรียกใช้แรงงานเต็มเหนี่ยว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ในช่วงวิกฤตเปิดช่องให้นายจ้างใช้ข้ออ้างอย่างหนึ่ง ชำระสะสางในเรื่องที่ตนเองไม่พอใจได้ เช่น กำจัดบรรดาสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งซึ่งนายจ้างมองว่าเป็นพวกตัวแสบ หัวหมอ อาจจะไม่นำแรงงานเหล่านั้นกลับมา และบอกเลิกจ้างในที่สุด นอกจากนี้แรงงานที่ทำงานมาหลายปีหรือมีประสบการณ์ทำงานยาวนาน จะเป็นช่วงนายจ้างผ่องถ่ายคนงาน เนื่องจากอายุมากและมีเงินเดือนสูง อาจจะไม่รับคนกลุ่มนี้กลับเข้าทำงานและจะรับแรงงานใหม่ ๆ เข้ามา
จุดไหนจึงจะเรียกว่าวิกฤตด้านแรงงาน
จุดที่จะเกิดวิกฤตที่ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ทำให้ความขัดแย้งนั้นนำไปสู่การสั่นสะเทือนของโครงสร้างทางสังคมการเมือง เช่นช่วงปี 2515-2516 นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเช่นเดียวกัน หรือภาวะเงินเฟ้อสูงสุด คิดว่าทุกวันนี้กระบวนการบริหารงานสมัยใหม่ สามารถสยบคนงานได้พอสมควร โอกาสที่จะเกิดวิกฤตรุนแรงนั้น ถ้าโครงสร้างการควบคุมคนงานไม่วิกฤต โอกาสจะกระทบแรงงานขนาดใหญ่ก็ไม่เกิดขึ้น
นักลงทุนจากต่างประเทศมีโอกาสย้ายฐานการผลิตหรือไม่
คิดว่าต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความปลอดภัยทางด้านโครงสร้างเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความปลอดภัยเชิงโครงสร้างกฎหมายและภาษีด้วย ดังนั้นเรื่องน้ำท่วมไม่ได้ทำให้กลุ่มทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิต แต่สิ่งที่จะทำให้ย้ายก็คือ มาตรการทางภาษีที่เปลี่ยนไป รวมถึงเรื่องนักการเมืองที่คอร์รัปชั่นเกินกติกา จะกระทบกระเทือนต่อการตัดสินใจของต่างชาติเช่นเดียวกัน
“ขณะเดียวกันมองว่าเรื่องน้ำท่วมไม่ส่งผลกระทบต่อทุนการผลิต เนื่องจากขยายใหม่ได้เรื่อย ๆ และตราบเท่าที่ไทยไม่เปลี่ยนแปลงกติกาด้านภาษีอากร และนโยบายการควบคุมคนงาน ถึงแม้ว่าไทยจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็ไม่กระทบกระเทือนอะไร รวมไปถึงกรณีน้ำท่วมหนัก”
คิดว่าหากจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ลึก ๆแล้วคิดว่า ประเทศที่เพิ่งผ่านระบบสังคมนิยม รวมถึงประเทศที่มีศาสนาเป็นปฏิปักษ์อย่างมาก ความเป็นวัตถุนิยม อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ก็ไม่ได้สนิทกับทุนนิยมเหมือนไทย ถือว่าไปกันลำบาก ไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยมในอดีตหรือศาสนิกที่เข้มข้น ถือว่าคนไทยนี่แหละที่สามารถร้องเพลงเดียวกันได้ กอดคอกันได้ ฉะนั้นการจะถอนตัวออกไปง่าย ๆ คงไม่เกิดขึ้น
คิดว่าปี 55รัฐบาล จะเปลี่ยนแปลงกติกาทางด้านภาคธุรกิจแรงงานอย่างไร
รัฐบาลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน อย่างน้อยก็พยายามตอบรับเสียงเรียกร้องของประชาชนชั้นรากหญ้า ประชานิยม หรือการเปลี่ยนแปลงในเชิงปฏิวัติ ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ จริง ๆ แล้วบางเรื่องก็ดูหวือหวาแต่ยั่งยืน เช่น กรณีประกันสังคม ถ้าพูดกันถึงที่สุดมีความพยายามเปลี่ยนแปลงในชนชั้นรากหญ้า กระนั้นก็ตามไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่กระทบกระเทือนการลงทุน ในทางตรงกันข้ามช่วยให้สังคมอยู่ได้กับการฉกฉวยประโยชน์จากนักลงทุนมากขึ้น มีภูมิต้านทานมากขึ้น เช่น ก่อนหน้าคนทำงานเจ็บป่วย เสียชีวิตจากการทำงาน ไม่มีกองทุนอะไรรองรับ รักษาไม่หายก็ถูกให้ออกจากงาน กลับไปนอนรอความตายที่บ้าน แต่วันนี้มีหลายมือออกมายื่นช่วยเหลือคนเหล่านี้ ทำให้ไม่ต้องระแวงในการทำงานที่เสี่ยงอันตรายและสามารถทำงานภายใต้ อุตสาหกรรมเหล่านั้นได้ด้วยความสนิทใจ
นโยบายปรับปรุงกฎหมาย กติกาการร่วมทุนแก่ต่างชาติ เป็นอย่างไร
รัฐบาลนี้พูดภาษาธุรกิจกับนักลงทุนได้ดีกว่ารัฐบาลอื่น ซึ่งไม่ค่อยติดยึดกับระบบราชการเท่าไหร่ แต่ไม่ได้หมายความว่าดี มันกลับเสี่ยงมากกว่า ความที่มีธรรมชาติพูดคุยกับนักธุรกิจแบบนักธุรกิจมากขึ้น ทำให้ไม่ระแวง และคิดถอนตัวออกไปน้อยลงกว่ารัฐบาลอื่น อย่างน้อยที่สุดภาพมันเห็นว่า รัฐบาลที่แล้วเป็นแบบราชการ ซึ่งเห็นความแตกต่างมากและนักธุรกิจชอบ เว้นเสียแต่ว่า คล่องตัวมากจนไม่เคารพกฎเกณฑ์กลายเป็นเรื่องคอร์รัปชั่น มีผลเกินเลย หักล้างความน่าเชื่อถือต่อการดำเนินธุรกิจของรัฐบาล
มาตรการเยียวยาน้ำท่วมของรัฐบาลในส่วนของภาคแรงงานเป็นอย่างไร
เรื่องงบประมาณไม่น่าเป็นห่วงสักเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ห่วงคือ ห่วงเรื่องการช่วยเหลือ เพราะถ้าช่วยเหลือนักธุรกิจซึ่งมีองค์กรรองรับช่วยเหลือ แต่ในแง่ลูกจ้าง กรรมกร ถ้าเอาความเป็นทางการมาเป็นตัวตั้งจะทำให้ลูกจ้างนอกระบบที่ไม่สามารถเข้าถึงทางการได้ รวมถึงแรงงานต่างด้าว ทำอย่างไรเราถึงออกแบบระบบให้คนตัวเล็ก ๆ เหล่านี้ ได้เข้าถึงระบบไม่ใช่เอาระบบเดิมไปกางแล้วขีดเส้นใต้ ใครอยู่เหนือเส้นไม่ได้
“ทุกวันนี้ระบบการเปิดทางให้เจ้าของสิทธิตัวเล็ก ๆ เข้าถึงสิทธิ เป็นปัญหาใหญ่โตมาก ต้องมีการปฏิรูปทะเบียนราษฎร์ ที่ยืดหยุ่นได้ วิกฤตคราวนี้น่าจะเป็นโอกาสที่จะปรับปรุงสิ่งที่รับรองความเป็นคนของคนไทย เหล่านี้ให้ชัดเจนขึ้น ไม่เช่นนั้นความช่วยเหลือจะไม่ทั่วถึง”
ปัญหาแรงงานนอกระบบและแรงงานต่างด้าว มองว่ารัฐควรเพิ่มศักยภาพในการดูแลอย่างไร
รัฐต้องยอมรับกลไกของคนเหล่านี้ ไม่ใช่ใช้กลไกของรัฐเพียงอย่างเดียว เนื่องจากคนเหล่านี้อยู่กันเป็นกลุ่มก้อน รัฐจะสามารถเชื่อมโยงกับระบบของแรงงานนอกระบบเหล่านี้ได้อย่างไร ถ้าทำได้การช่วยเหลือก็จะทั่วถึง ปัญหาคือ ทางการรู้หรือไม่ จะเชื่อมต่อระบบของประชาชนและระบบราชการอย่างไร รัฐต้องรับรองระบบที่ประชาชนมี
จำเป็นหรือไม่ต้องเปิดพื้นที่พูดคุยกับแกนนำของกลุ่มคนนอกระบบเหล่านี้
ถือว่าจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าไม่ทำจะไม่สามารถควบคุมระบบของคนเหล่านี้ได้เลย เหมือนกับซากฟอสซิลที่มีไว้ดูแต่ทำอะไรไม่ได้เลย ในที่สุดแล้วจะเป็นทางการที่มีไว้ แต่ไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้ จะเรียกว่าเปิดพื้นที่ หรือญาติดีกับคนเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องต้องทำ แม้ว่าในบางกรณีรัฐก็ทำเกินเลยไปดูคนเหล่านี้มาเป็นเครื่องมือของรัฐ กลายเป็นการทำลายข้อต่อระหว่างรัฐกับภาคประชาชน
หมายถึงดึงแรงงานนอกระบบให้เข้าสู่ระบบใช่หรือไม่
ไม่ได้หมายถึงแรงงานนอกระบบ แต่หมายถึงโอกาสที่จะได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ไม่ใช่โอกาสหรืออภิสิทธิ์ แต่ถ้าจะพูดถึงเรื่องรัฐ นำแรงงานนอกระบบมาเป็นเครื่องมือของรัฐ หมายถึง นำคนมาเป็นกรรมการของรัฐในหลาย ๆหน่วยงาน เช่น คณะกรรมการไตรภาคี กลายเป็นเจ้าหน้าที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรี พูดง่าย ๆ คือ เรากำลังสร้างขุนนางใหม่ขึ้นมา ซึ่งถือเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์กันมาก คิดว่าการดึงนอกระบบให้เข้ามาสู่ระบบต้องมองในเรื่องการเข้าถึงสิทธิ แต่การไปไกลกว่านั้น การสร้างขุนนางขึ้นมาในระบบแรงงานจะเป็นตัวทำลายข้อต่อระหว่างภาครัฐกับแรงงานนอกระบบ ระบบศักดินาจะหมดไปแต่วัฒนธรรมศักดินายังคงอยู่ ซึ่งหลายคนเป็นกังวลว่าข้อต่อเหล่านี้จะยังคงทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน
ถึงที่สุดปี 55 จะไม่เกิดวิกฤตด้านแรงงานใช่หรือเปล่า
แรงงานจะไม่วิกฤตตกงานแล้วต้องกลับไปอยู่ภาคชนบท เหมือนปี 40 แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ เปิดโอกาสให้นายจ้างอ้างวิกฤตเอาเปรียบลูกจ้าง แต่จะคุ้นเคยกับแรงงานซับคอนแทรกต์ (เป็นการจ้างบริษัทอื่นทำงานแทนเป็นรายวัน โดยบริษัทที่ว่าจ้างไม่ต้องรับภาระเรื่องสวัสดิการ) เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว นายจ้างก็พบวิธีใหม่ในการจ้างงานที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อสวัสดิการและความมั่นคงในการทำงานของลูกจ้าง เพราะจะมีข้ออ้าง เนื่องจากธุรกิจยังไม่นิ่งจึงไม่สามารถว่าจ้างลูกจ้างเป็นการถาวรได้ หรือที่เรียกกันว่า การจ้างงานแบบยืดหยุ่น มีงานก็ให้เงิน ไม่มีงานก็ไม่จ่ายเงิน ไม่มีเงินชดเชย สวัสดิภาพ สวัสดิการในการทำงาน เหมือนกรณีที่เข้ามาทำงานกับหน่วยงานราชการแต่ไม่ได้ค่าจ้าง หรือสวัสดิการแบบข้าราชการทั้งหมด
หวังเป็นที่สุดว่าแรงงานไทยคงได้รับความเมตตาจากผู้ประกอบการในการคืนสิทธิอันชอบธรรมและรับการดูแลจากภาครัฐอย่างดีในปี 55 เหมือนก่อนหน้าเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปีที่ผ่านมา...เช่นนั้นเชื่อแน่ว่าแรงงานไทยคงไม่ถูกลอยแพ