5 ปมยังไม่เคลียร์ กรณีขายซากชีนุก 420 ล. ล่ม 3 ครั้งรวด รัฐเสียหายแล้วหรือยัง?
ขมวด 5 ปมเงื่อน ยังไม่เคลียร์ กรณีแลกซากชีนุก-แบล็กฮอว์ค ก่อนนำออกประมูลขาย 420 ล. แต่ล่ม 3 ครั้งรวด ไฮไลท์ รัฐเสียหายแล้วหรือยัง?
กรณีการประมูลขายซากเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบ 47 หรือ ฮ.ล.47 (CH-47D-ชีนุก) จำนวน 6 ลำ (เครื่อง) พร้อมชิ้นส่วน เครื่องมือซ่อมบำรุง และบริภัณฑ์ภาคพื้น ราคากลาง 420 ล้านบาท ซึ่งจัดประมูลขายตั้งแต่ ก.พ.-พ.ค. 2559 จำนวน 3 ครั้ง และยกเลิกทั้ง 3 ครั้ง เนื่องจาก มีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว
และก่อนจะดำเนินโครงการขายซากชีนุก จำนวน 6 ลำ ดังกล่าว กองทัพบกมีความพยายามในการเจรจาแลกเปลี่ยน เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง แบบ 47 (CH-47D-ชีนุก) จำนวน 6 ลำ และ เครื่องบินใช้งานทั่วไป แบบ 1900 จำนวน 2 ลำ กับ เฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ 60 M (BLACK HAWK หรือ แบล็ค ฮอว์ค – เหยี่ยวดำ) จำนวน 1 ลำ ผ่าน ตัวแทนบริษัทค้าอาวุธยุทธภัณฑ์จากสหรัฐ ชื่อ บริษัท เมอร์ลิน อินเทลลิเจ้นท์ ทรี จำกัด แต่กองทัพบกได้ยกเลิกดีลดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เอกชนมีข้อขัดข้อง 3 ข้อ (อ่านประกอบ : เปิดเบื้องหลัง ขายซาก ฮ.ซีนุก 420 ล.! ดีลแลก ‘แบล็ค ฮอว์ค’บ.ค้าอาวุธ สหรัฐ ล่ม! - เปิดหนังสือฉบับเต็ม! ผบ.ทบ.‘อนุมัติตามเสนอ’ล้มดีลแลก‘แบล็ค ฮอว์ค-ชีนุก’บ.ค้าอาวุธ)
ขณะที่ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2559 ว่า เป็นความตั้งใจดีของกองทัพ ในการหาทางสร้างประโยชน์ตอบแทนจากซากอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ปลดระวาง ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว คืนกลับต่อราชการ กองทัพไม่มีเจตนาที่จะแสวงหาประโยชน์จากการดำเนินการเรื่องนี้ ในทางตรงกันข้าม การทำงานยังเป็นการปกป้องรักษาผลประโยชน์ของราชการ อีกด้วย (อ่านประกอบ : จับเข่าคุย'วินธัย สุวารี' เบื้องหลังประมูลซาก 'ชีนุก' ล่ม3ครั้ง กองทัพรู้ทันเอกชน!)
เพื่อให้ข้อมูลครบถ้วน สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลมาเสนอเพิ่มเติม ดังนี้
ข้อแรก กรณี กองทัพบก ชี้แจงอาวุธที่เอกชนมาแลก นั้น คุณภาพไม่ถึงขั้น ได้ไม่คุ้มเสียจึงยกเลิกการแลกดังกล่าว
ข้อเท็จจริง บ.เมอร์ลิน ฯ เสนอการแลกเปลี่ยน ดังนี้
• 1.ฮท.60 M จำนวน 1 ลำ (ของใหม่)
• 2.หลักสูตรนักบิน จำนวน 2 นาย
• 3.รับประกันการปรนนิบัติบำรุงและการซ่อมบำรุง ระยะเวลา 500 ชม.หรือ 2 ปี อย่างไหนถึงก่อน
ต่อมา เอกชนได้เจรจาต่อรองเพิ่มเติมกับ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผบ.ทบ.(2) ในขณะนั้น แสดงเจตจำนงขอเสนอ การปรนนิบัติบำรุง AW-139 ตามระยะเวลาครบ 300 ชม. (ดูเอกสารประกอบ)
หลังการเสนอดังกล่าว มีการจัดการประชุมข้อตกลงสรุปให้ บ. เมอร์ลิน ฯ จอง ฮท.60M. รายละเอียดใบจองเครื่อง ฮท.60M สรุปได้ ดังนี้
1.จองในนามกองทัพบกเพื่อให้กองทัพบกเป็นกำหนดความต้องการเอง
2.สั่งจองกับ บ.ผู้ผลิตของสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลิตที่เดียวกันกับ ฮท.60M ที่ยังประจำการกับกองทัพบก (ดำเนินการเหมือน ทบ.จัดหา)
ข้อ 2. ตามที่ทราบกันแล้วว่า บ.เมอร์ลิน ฯ เป็น บ.ลูกของ บริษัท ไทยแอร์โรสเปซ อินดัสทรี จำกัด กรณี บ.เมอร์ลิน ฯ ดำเนินการแลกซาก ฮล.47 แต่ไม่เป็นผล เนื่องจาก ถูกยกเลิกเพราะผิดเงื่อนไข 3 ข้อ กรณีนี้ บ.ลูก พยายามแลกเปลี่ยนแต่ไม่เป็นผล ต่อมา บ.แม่จะขอเข้าซื้อซากแทน กระทำได้หรือไม่?
ข้อ 3 กรณีการประมูลขายซากชีนุก นั้น ทบ. แจ้งว่า ได้เชิญเอกชนมาหลายราย เพื่อมาดำเนินการสอบราคาเพื่อจะกำหนดราคากลางมีเอกชนเสนอมา มีราคา 600 ล้านบาท 400 ล้านบาท 200 ล้านบาท กองทัพบกจึงเลือก และกำหนดราคา 600 ล้านบาท เป็นราคากลาง เพราะเป็นราคาดีที่สุด (600 ล้านบาทเป็นราคากลางของการประมูลขายซาก ฮล.47 ครั้งที่ 1)
จากข้อมูลดังกล่าว แสดงว่า เอกชนที่เสนอราคาดีที่สุดในการกำหนดราคากลาง คือ บ.ไทยแอโร ฯ ฉะนั้น เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2559 บ.ไทยแอโร ฯ มีหนังสือแสดงเจตจำนงขอซื้อซาก ฮล.47 ในราคา 600 ล้านบาท
กรณี ดำเนินการก่อนมีประกาศขายซากครั้งที่ 1 กระทำได้หรือไม่ ขัดต่อระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการพัสดุหรือไม่?
ข้อ 4. ในหนังสือที่ จ.ส.อ.คงศักดิ์ คงคามาศ ตัวแทนของ บ. ไทยแอโร ฯ (ขณะนั้น) ยื่นขอความเป็นธรรม (ข้อ5) ได้แจ้งให้ทราบว่า ในวันที่ 12 ก.พ. 2559 ได้เข้าพบรักษาการ จก. ขส.ทบ. ขณะนั้น พร้อมด้วยประธานกำหนดราคากลาง ณ ห้องรักษาการ ฯ สรุปการต่อรองการซื้อซาก ฮล.47 ซึ่งตัวแทน ฯ ได้เสนอราคาซื้อ จาก 600 ล้านบาท เป็น 610 ล้านบาท กรณีดังกล่าว กองทัพบกได้รับทราบการตกลงราคาการขายจำนวน 610 ล้านบาทหรือไม่ หากทราบราคา 610 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่กองทัพบกพอใจที่จะขายหรือไม่ หากไม่พอใจในราคานี้ เหตุใด จึงไม่กำหนดราคาขายเป็นตัวเลขให้ชัดเจนเพื่อที่เอกชนที่มีเจตจำนงจะขอซื้อซาก ฮล.47 จะได้นำไปตรวจสอบและวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการตัดสินใจที่จะขอซื้อตามราคาที่ ทบ.กำหนด เป็นการตกลงที่สองฝ่ายพอใจ อาจไม่เกิดเหตุ ประมูลล่มถึง 3 ครั้ง
ข้อ 5. การประมูลขายซาก ฮล.47 ครั้งที่ 1 กองทัพบก ระบุชัดว่าราคากลางอยู่ที่ 600 ล้านบาทซึ่งกรมการขนส่งทหารบกจัดให้มีการประมูลครั้งที่ 1 ในวันที่ 23 ก.พ.59 มี เอกชนรายเดียวเข้าร่วมประมูลคือ บริษัท ธนพิพัฒน์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด ประมูลได้เสนอราคา 420 ล้านบาท ราคาดีที่สุดในการประมูลครั้งที่ 1 แต่ต่ำกว่าราคากลางที่ ทบ.กำหนด ทำไม ขส.ทบ.จึงได้มีหนังสือตอบรับและยืนยันว่า บ.ธนพิพัฒน์ฯ เป็นผู้ได้งานตามหนังสือตอบรับในวันที่ 24 ก.พ.59 ต่อมากองทัพบกได้สั่งให้ยกเลิกตามข่าว กรณีนี้ ขส.ทบ.ปฎิบัติตามระเบียบของการพัสดุ หรือไม่ ถือว่า รัฐเสียหายแล้วหรือยัง?
สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) น่าจะตรวจสอบให้กระจ่าง
อ่านประกอบ:
ประมูลชีนุกรอบ 3 ส่อล้ม 'จิรภัทร'ส่ง บ.ใหม่แข่ง- รับ ใช้ชื่อ'ลูกน้อง'ซื้อซากรถ 128 คัน