ซีพีเอฟจับมือสถาบันไทยพัฒน์พัฒนาบุคลากรส่งเสริมองค์กรดำเนินธุรกิจเคารพสิทธิเด็ก
ซีพีเอฟร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์จัดอบรมพนักงานที่ปฎิบัติงานด้านซีเอสอาร์ได้เข้าใจหลักการปฏิบัติธุรกิจที่เคารพสิทธิเด็ก นำไปส่งเสริมและต่อยอดนำหลักปฏิบัติทางธุรกิจที่เคารพสิทธิเด็กในการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ (Workplace) ในด้านการตลาด (Marketplace) และในการดำเนินกิจกรรมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม (Community and Environment) อันเป็นปัจจัยที่จะนำองค์กรให้เข้าสู่วิถีกิจการที่ยั่งยืน
นายสว่าง สุขศรี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟร่วมมือกับสถาบันไทยพัฒน์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง หลักการสิทธิเด็ก และหลักปฏิบัติทางธุรกิจ (Children’s Rights and Business Principle) แก่บุคลากรด้านซีเอสอาร์ของบริษัทฯ เพื่อส่งเสริมให้ทุกหน่วยธุรกิจของบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของการสนับสนุนและเคารพสิทธิพนักงานทั่วทั้งองค์กร รวมถึงเด็กและเยาวชน อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ควบคู่กันไปทั้งองค์กรและประชากรเด็กอย่างยั่งยืน
หลักการสิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ เป็นหลักการที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การยูนิเซฟ UN Global Compact และองค์กรช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจได้มีส่วนร่วมในการนำหลักการดูแลประชากรเด็กเข้าไปอยู่ในกระบวนการดำเนินธุรกิจขององค์กร ตามค่านิยมหลักขององค์กร คือ 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืนที่การดำเนินธุรกิจต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ ประชาชน และบริษัท ควบคู่กันไป
“การอบรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ในการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนที่บริษัทฯ ได้ประกาศไว้และส่งเสริมให้พนักงานทุกคนและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มรวมถึงเด็กได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เสมอภาค และเป็นธรรม และการที่พนักงานทุกคนในองค์กรเข้าใจและคำนึงถึงความสำคัญของหลักสิทธิเด็กจะมีส่วนช่วยให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจตามหลักสิทธิมนุษยชนได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น” นายสว่างกล่าว
นายสว่างกล่าวต่อว่า เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนในองค์กรยึดถือและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ซีพีเอฟจึงได้กำหนด 3 แนวทางซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากล ได้แก่ 1. Respect การส่งเสริมให้ทุกคนเคารพสิทธิ์ที่ทุกคนพึงมีตามหลักการสิทธิมนุษยชน 2. Protect การตรวจสอบ ติดตามการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนภายในองค์กรอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งกำหนดแนวทาง หรือมาตรการในการปกป้องสิทธิ์ 3. Remedy การจัดการข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหน่วยงาน พร้อมพัฒนาช่องทางการสื่อสารแบบสองทาง เพื่อส่งเสริมให้พนักงานทุกคนได้รู้และเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังส่งต่อนโยบายสิทธิมนุษยชนให้คู่ค้าธุรกิจของบริษัทได้มีแนวทางการบริหารจัดการที่สอดคล้องกันตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต
ในการอบรม ผู้เข้าอบรมจะได้เข้าใจ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเกิดการพัฒนาและต่อยอดกิจกรรมที่สอดคล้องตามหลักสิทธิเด็ก ทั้งในการดำเนินงานในสถานประกอบการ กระบวนการด้านการตลาดที่สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก รวมถึง การดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในชุมชนรอบข้างและสิ่งแวดล้อม
“สถานประกอบการของบริษัทฯ บางแห่งได้ดำเนินโครงการนำร่องเรื่องการดูแลพนักงานที่ตั้งครรภ์และมีบุตร เช่น การจัดมุมคุณแม่ ที่ให้พนักงานที่ตั้งครรภ์ได้พักผ่อน มีพยาบาลตรวจสุขภาพและให้คำปรึกษา มีกิจกรรมส่งเสริมรายได้ ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้นำด้านอาหาร ความตระหนักในหลักสิทธิเด็ก ก็จะเข้าไปช่วยต่อยอดในการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่เหมาะสมกับวัยเด็กมากขึ้น รวมถึงการต่อยอดออกไปทำกิจกรรมที่มีส่วนพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในชุมชนที่อยู่รอบๆ สถานประกอบการอีกด้วย” นายสว่างกล่าวเสริม
หลังจากการอบรม หน่วยงานทรัพยากรมนุษย์ ซีพีเอฟ จะนำข้อเสนอของผู้เข้าอบรมเกี่ยวกับการต่อยอดโครงการที่ช่วยส่งเสริมตามหลักการสิทธิเด็กในหน่วยงาน มาพิจารณาถึงประโยชน์ และจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการ เพื่อกำหนดเป็น Roadmap และแผนงานด้านการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรต่อไป รวมถึงการเสริมสร้างให้องค์กรซีพีเอฟ เป็น “บ้านแห่งความสุข” อีกด้วย.