สภาเกษตรแห่งชาติเตรียมคลอด หลังรอนาน 10 ปี ปลัด ก.เกษตรฯนั่งเลขาธิการเฉพาะกาล
ธีระ วงศ์สมุทร เผยร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติฯ ผ่านวุฒิสภาเตรียมเสนอสภาผู้แทนฯ 4 ส.ค.นี้ คาดสิ้นปีบังคับใช้เป็นกฏหมาย ภายใน 2 ปีให้ปลัดกระทรวงฯนั่งเลขาธิการเฉพาะกาล ให้เกษตรจังหวัดเป็นหัวหน้าสำนักงาน เตรียมเลือกตั้งสภาเกษตรแห่งชาติชุดแรกจากทั่วประเทศ ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์กระดูกสันหลังของชาติ
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. .... ว่าได้ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาแล้ว คาดว่าจะสามารถเสนอสภาผู้แทนราษฎร 4 ส.ค.นี้ และหากผ่านความเห็นชอบ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็จะนำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไทย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย คาดว่ากระบวนการต่างๆจะแล้วเสร็จไม่เกินสิ้นปี 2553 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้มีสภาเพื่อรักษาและสร้างประโยชน์ให้เกษตรกรที่เป็นคนกลุ่มใหญ่และเป็นอาชีพสำคัญของประเทศ เหมือนกลุ่มอาชีพอื่นๆ
“สาระสำคัญจะเป็นการคุ้มครองรักษาผลประโยชน์เกี่ยวกับการผลิต การตลาด เพื่อให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายอย่างเป็นเป็นเอกภาพเข้มแข็ง ที่สำคัญเกษตรกรสามารถจัดทำแผนแม่บทเสนอคณะรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับภาคเกษตรกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงกับความเป็นจริง ไม่ใช่การแก้ปัญหาจากแนวคิดฝ่ายบริหารส่วนเดียว”
นายธีระ กล่าวต่อไปว่า เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายแล้ว กระทรวงเกษตรฯจะดำเนินการตามบทเฉพาะกาลของกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี โดยปฏิบัติตามรายละเอียดที่ให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ทำหน้าที่เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัดทำหน้าที่หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด มีระยะเวลา 2 ปี รวมทั้งดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกร/องค์กรเกษตรกร
“ภารกิจสำคัญคือจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกร 76 จังหวัด ซึ่งจะเป็นที่มาของสภาเกษตรกรแห่งชาติ เข้ามาทำหน้าที่พัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรไทย สภานี้จะเป็นเวทีให้เกษตรกรทั่วประเทศมีส่วนร่วมต่างๆเกี่ยวกับภาคเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก ราคา ปัญหาหนี้สิน การพัฒนาด้านต่างๆผ่านสภาเกษตรกรจังหวัดส่งต่อมายังสภาเกษตรกรแห่งชาติ”
รมว.เกษตรฯ ยังกล่าวว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกร กระทรวงได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประชุมเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ และหน่วยงานในสังกัด เพื่อร่วมวางแนวทาง หลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินงาน และจัดทำแผนปฏิบัติการ โดยนำข้อกฎหมายที่มีความซับซ้อนมาแจกแจงรายละเอียดสู่การปฏิบัติให้ชัดเจนมากที่สุด รวมถึงเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ทุกระดับปฏิบัติงานในกระบวนการดังกล่าวอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ให้สมกับที่รอคอยการเกิดขึ้นของสภาดังกล่าวมานานกว่าสิบปี .