วิเคราะห์ 5 ปัจจัยใต้ป่วน 10 วันสุดท้ายรอมฎอน
เป็นที่ชัดเจนว่าสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดูดีขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมานั้น เป็นเพียงภาพลวงตา
เพราะล่าสุดในช่วงเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม โดยเฉพาะห้วง 10 วันสุดท้าย มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นจำนวนมาก ล่าสุดสดๆ ร้อนๆ คือเหตุคาร์บอมบ์ในฐานปฏิบัติการ ด่านตรวจเกาะหม้อแกง ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ทำให้เมื่อเทียบสถิติเหตุรุนแรงและความสูญเสียแล้ว ตัวเลขเท่าๆ หรือมากกว่าปีก่อนๆ ด้วยซ้ำไป
ข้อมูลที่รวบรวมโดย “ศูนย์ข่าวอิศรา” พบว่า ปี 2557 มีเหตุรุนแรงห้วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน รวมทุกประเภท (ยิง – เผา – วางเพลิง – ก่อกวน ฯลฯ) จำนวน 22 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บ 74 ราย
ปี 2558 มีเหตุรุนแรง 50 ครั้ง เสียชีวิต 20 ราย บาดเจ็บ 33 ราย และปี 2559 ซึ่งสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนนับจากวันที่ 26 มิถุนายน จนถึงวันที่ 5 กรกฎาคม มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งสิ้น 30 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 16 ราย บาดเจ็บ 24 ราย
หากนับเฉพาะเหตุระเบิด ปี 2557 มีระเบิดเกิดขึ้น 8 ครั้ง ปี 2558 มีระเบิด 12 ครั้ง และปีนี้ 2559 มีระเบิดเกิดขึ้นถึง 15 ครั้ง
และที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ ในจำนวนระเบิด 15 ครั้ง เป็นคาร์บอมบ์ถึง 2 ครั้ง!
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ก็ยอมรับว่า สถานการณ์ในช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้ สถิติเหตุรุนแรงสูงขึ้นจริง แต่ก็ออกตัวว่าภาพรวมสถานการณ์ในรอบปีก็ยังดีกว่าปีอื่นๆ พูดง่ายๆ คือสถานการณ์แย่ลงเฉพาะช่วงรอมฎอนเท่านั้น
เหตุผลของรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง คือ เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเชิงรุกได้มาก โดยเฉพาะการปิดล้อมตรวจค้นและยิงปะทะจนก่อความสูญเสียให้ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรง ทำให้มีการเคลื่อนไหวตอบโต้ล้างแค้น
เหตุผลของ พล.อ.ประวิตร ก็เป็นความจริงบางส่วน เพราะห้วง 1 เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเชิงรุกได้มากจริงๆ โดยก่อนเกิดเหตุคาร์บอมบ์ด่านเกาะหม้อแกงเพียงไม่กี่ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นมัสยิดบ้านบาโงแยะ หมู่ 2 ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส พบอาวุธปืนเอ็ม 16 ซุกซ่อนอยู่ 1 กระบอก ตรวจพิสูจน์เบื้องต้นแล้วเป็นปืนที่ถูกคนร้ายปล้นชิงไปจากเหตุการณ์ระเบิดและยิงซ้ำเจ้าหน้าที่ชุดครูฝึกเยาวชนโครงการใต้สันติสุขเสียชีวิต 7 นาย เมื่อปี 2550 ใน อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 2 ก.ค. เจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านอูยิ หมู่ 4 ต.ลาโละ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และยิงปะทะกับกลุ่มก่อความไม่สงบ ก่อนวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง 2 ราย ยึดปืนได้ 3 กระบอก
ห้วงเดือน พ.ค.ถึง มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการเปิดยุทธการเอกซเรย์เขาตะเว จ.นราธิวาส ถึง 10 ครั้ง พบแหล่งซุกซ่อนอาวุธปืน และยึดปืนสงครามคืนได้ถึง 25 กระบอก
อย่างไรก็ดี ผลการปฏิบัติของฝ่ายความมั่นคง เป็นเพียงตัวเร่งหนึ่งเท่านั้น แต่เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงในห้วง 1 เดือนที่ผ่านมา ยังมีอีกหลายปัจจัย และบางแง่มุมมีข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
1.ห้วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน มีสถิติการก่อเหตุรุนแรงค่อนข้างสูงทุกปี ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่ามีการบิดเบือนคำสอนทางศาสนา ทำให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงเชื่อว่าก่อเหตุช่วงนี้จะได้บุญมากกว่าปกติ กลายเป็นแรงจูงใจให้มีการก่อเหตุมากขึ้น
2.สถานการณ์ความรุนแรงที่ดูเบาบางลงตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลโหมข้อมูลเชิงบวกต่างๆ โดยเฉพาะการประกาศว่าชายแดนใต้อาจสงบในเร็ววันนี้ มีการเร่งเครื่องโครงการ “พาคนกลับบ้าน” และเปิดปฏิบัติการเชิงรุกทางยุทธการ ทำให้ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงต้องเร่งสร้างสถานการณ์เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจของฝ่ายตนกลับมา รวมทั้งดำรงความมีอยู่และภาพความเข้มแข็งของกลุ่มขบวนการในสายตาชาวบ้านในพื้นที่
3.การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หยุดชะงักไป อาจมีส่วนทำให้สถานการณ์ร้อนแรงขึ้น เพราะอาจมีบางกลุ่มพยายามก่อเหตุรุนแรงเพื่อกดดันให้รัฐบาลกลับเข้าสู่โต๊ะพูดคุยอีกครั้ง
4.ที่ผ่านมามีข่าวการสร้างแนวร่วมรุ่นใหม่อยู่เป็นระยะ เพื่อทดแทนกลุ่มเก่าที่ถูกจับกุม เสียชีวิต หรือหันหลังให้ขบวนการ โดยเน้นไปยังบุคคลที่ประวัติสะอาด ไม่อยู่ในข่ายต้องสงสัยของฝ่ายความมั่นคง จึงมีความเป็นไปได้ว่าเป็นการเร่งก่อเหตุเพื่อแสดงผลงานของนักรบรุ่นใหมที่ผ่านการฝึกเรียบร้อยแล้ว
สำหรับทิศทางการก่อเหตุ มีข้อสังเกตคือ มุ่งกระทำกับเป้าหมายทางทหารและตำรวจค่อนข้างชัด สะท้อนว่าเป็นการแสดงศักยภาพของกองกำลังเป็นหลัก ทั้งๆ ที่บางเหตุการณ์สร้างความสูญเสียไม่มาก แต่ส่งผลทางจิตวิทยาสูง อย่างเช่น การใช้คาร์บอมบ์ 2 ครั้งในห้วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน แม้ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย แต่ก็สร้างภาพว่าสถานการณ์ในพื้นที่รุนแรงมาก
น่าคิดว่าปฏิบัติการกับเป้าหมายแข็งอย่างเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะจุดที่มีการเฝ้าระวังสูง อย่างฐานปฏิบัติการต่างๆ หรือในเขตเมือง ฝ่ายผู้ก่อการเตรียมการเพื่อก่อเหตุได้อย่างไร ใช้การโจมตีฉาบฉวยจากช่องโหว่ทางยุทธการ หรือนำกำลังคนกับยุทโธปกรณ์มาซุกซ่อนในบริเวณที่ฝ่ายความมั่นคงคาดไม่ถึง
ส่วนการโจมตีเป้าหมายพลเรือน แม้จะยังมีอยู่ แต่มุ่งใช้เพื่อวางกับดักรอโจมตีทหาร ตำรวจ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้จริง
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสังเกตอย่างมากก็คือ มีการโจมตีเป้าหมายใกล้กับที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญ เช่น มัสยิดกลางปัตตานี ซึ่งน่าวิเคราะห์ต่อว่าเหตุใดจึงมีการเลือกก่อเหตุในพื้นที่อ่อนไหวเช่นนี้ หรือมีความขัดแย้งอะไรซ้อนทับอยู่อีก
บทสรุปสุดท้ายแต่ยังไม่ท้ายสุดก็คือ สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นโจทย์ข้อยากของรัฐบาลทุกชุด แม้แต่รัฐบาลทหารอย่าง คสช.ที่พยายามบูรณาการทั้งโครงสร้างหน่วยงานและงบประมาณ แต่ก็ยังไม่สามารถบรรเทาปัญหาได้อย่างน่าพอใจ
และที่ต้องไม่ลืมก็คือ ไฟใต้มักถูกกระพือในห้วงการเมืองส่วนกลางกำลังร้อน จะเป็นด้วยความบังเอิญ ฉวยโอกาส หรือทฤษฎีสมคบคิด...เป็นคำถามที่น่าไขคำตอบให้กระจ่างเสียที
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ 1-2 : สถิติเหตุรุนแรงและความสูญเสีย รวบรวมโดยศูนย์ข่าวอิศรา