สสค. ชี้ 60% กำลังแรงงานรุ่นใหม่ไทยเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยวุฒิ ม.6/ปวช.
บอร์ดสสค. จ่อเสนอตั้ง ‘สสค.’ ยกเป็นกลไกยกระดับทักษะการประกอบอาชีพและลดความเหลื่อมล้ำคุณภาพการเรียนรู้ ที่ใช้ข้อมูลในการชี้เป้าหมาย เชื่อมระบบสารสนเทศดึงเด็กด้อยโอกาสคืนสู่ระบบสอดรับนโยบายรัฐ พบสถานการณ์ร้อยละ 60 ของกำลังแรงงานรุ่นใหม่ไทยเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยวุฒิ ม.6/ปวช. กว่าร้อยละ 55.9 เป็นแรงงานนอกระบบขาดสวัสดิการ เริ่มพัฒนาโมเดลต้นแบบ 4 จังหวัดเขตพิเศษ ตอบโจทย์การศึกษาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ครั้งที่ 1/2559 โดยมีพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ สสค. พิจารณารับทราบผลงาน 5 ปีของสสค. และมอบหมายให้สสค.พัฒนาแผนงานสร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 4 จังหวัด ได้แก่ ตราด ตาก สระแก้วและหนองคาย
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค.กล่าวว่า หลังจากได้รับมอบหมายจากครม.ให้พัฒนาแผนงานสร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 4 จังหวัด พบว่า ประเทศไทยมีสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาขีดความสามารถกำลังคน โดยพบว่า ร้อยละ 80 ของกำลังแรงงานไทย 38.6 ล้านคนมีระดับการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. ทำให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันจำกัด และกว่าร้อยละ 55.9 เป็นแรงงานนอกระบบซึ่งขาดสวัสดิการ และยังมีเยาวชนมากกว่าร้อยละ 60 ยุติการเรียนในระบบการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยวุฒิการศึกษาสูงสุดเฉลี่ยเพียงระดับม.6 หรือปวช. หรือต่ำกว่า กลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือและขาดความรู้ในการดูแลสุขภาวะ
"แผนงานนี้จึงเป็นโมเดลในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรคนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 4 จังหวัดแรก จำนวน 50,000 คน ประกอบด้วย ประชากรวัยเรียน 20,000 คน และวัยแรงงาน 30,000 คน"
สำหรับมาตรการสำคัญ 4 ข้อดังนี้ 1) การป้องกันการออกจากระบบร่วมกับการพัฒนาทักษะอาชีพตั้งแต่ในระบบและการแนะแนวเพื่อส่งต่อไปสู่สายอาชีพ 2) การทำงานผ่านนายจ้างกลุ่ม SMEs 3) การสร้างสมรรถนะของชุมชนระดับตำบลในการพัฒนาอาชีพที่เหมาะกับสภาพท้องถิ่น และ 4) การสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการและการรณรงค์สำหรับกลไกการพัฒนาในระดับตำบลและระดับจังหวัดเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในลักษณะประชารัฐและการรณรงค์สื่อสารสาธารณะ
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสค.กล่าวถึงมติเห็นชอบของคณะกรรมการ สสค.ที่มีมติให้รีบเสนอให้จัดตั้ง ‘สสค.’ ให้เป็นองค์กร เพื่อใช้เป็นกลไกพัฒนายกระดับคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ ที่สามารถใช้ข้อมูลงานวิจัยเพื่อชี้เป้าหมาย พัฒนาต้นแบบ และส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการต่ออย่างยั่งยืน โดยใช้ระบบสารสนเทศในการค้นหาและดึงเด็กเยาวชนด้อยโอกาสคืนสู่ระบบได้อย่างตรงจุดสอดรับกับนโยบายปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล
"สสค.จึงเป็นตัวอย่างของการลงทุนไม่มาก แต่ได้ผลรับเชิงประจักษ์ที่ช่วยเสริมสร้างการจัดสรรงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนจะเป็นตั้งเป็นหน่วยงานในลักษณะใด หรือสังกัดใดจะเหมาะสมสอดคล้องกับบทบาทและภารกิจต่อไป ก็ต้องดูในตัวกฎหมายเพื่อให้ออกแบบมาได้รองรับตามเจตนารมย์ โดยเฉพาะในส่วนงบประมาณสนับสนุนที่ยังต้องรอการเข้ารับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง"
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้การศึกษายังขาดกลไกเชื่อมโยงสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมกำลังคนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ หรือการสนับสนุนทางด้านวิชาการให้กศจ.มีองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ซึ่งเห็นว่าประเทศไทยยังขาดหน่วยงานยุทธศาสตร์ที่คอยสนับสนุนองค์ความรู้เชิงระบบเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปในระยะยาว จึงจำเป็นต้องมีองค์กรเฝ้าระวัง และมีคนจับตา เชื่อว่า สสค.จะเข้ามาทำหน้าที่สำคัญนี้ให้รัฐบาล เป็นองค์กรอิสระที่เป็นกลาง สามารถทำงานเชื่อมต่อกับองค์กรที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีคุณภาพ และตามมติครม.ก็มอบหมายให้กระทรวงศึกษาเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนการตั้งองค์กร ซึ่งครั้งนี้สำนักงบประมาณก็มีความเห็นตรงกันว่าสสค.เป็นกลไกสำคัญ แต่ยังติดประเด็นปัญหาในเรื่องแหล่งงบประมาณที่ไม่ชัดเจน ทำให้งานที่สสค.ได้รับมอบจากรัฐบาลอาจจะติดขัด จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายและต้องขอให้มีการประชุมหารือกับคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งต่อไป