สช. จุดประกายภาคีเครือข่าย ปลุกพลังเรียนรู้ ‘สร้างสุขที่ปลายทาง’
สช. เผยทุกภาคส่วนในสังคมไทยขานรับการ “สร้างสุขที่ปลายทาง” เพื่อสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต โดยเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ ต่างร่วมกันขับเคลื่อนการเรียนรู้ แนะเร่งพัฒนาระบบการแพทย์แบบประคับประคอง
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาคณะรัฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเสวนา Rest in Peace 2: Illness, Suffering & Dying “ทรรศนะใหม่ต่อการเจ็บป่วย ความทุกข์ และการตายในสังคมไทย” ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “คนไทยตายดีได้ไหม-การรักษาพยาบาลและการเตรียมตัวเพื่อการจากไปอย่างสงบ” ว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีการรับรู้และเข้าใจถึงสิทธิในการเลือกที่จะจากไปอย่างสงบได้ โดยไม่ต้องทุกข์ทรมานจากการรักษาและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือแนวทางที่เรียกว่า ‘สร้างสุขที่ปลายทาง’ ซึ่งมีองค์ประกอบด้านการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ด้านสังคม และด้านนโยบาย ควบคู่กันไป โดยมีองค์ประกอบในส่วนของความรู้เชื่อมโยงทั้งสามองค์ประกอบเข้าด้วยกัน
“ขณะนี้สังคมไทยเดินหน้าเรื่องนี้ไปไกลพอสมควรแล้ว ทำให้ การตายดีเป็นวิถีที่เลือกได้ โดยมีระบบกฎหมายและบริการทางการแพทย์รองรับทั้งในโรงพยาบาลของภาครัฐและเอกชน ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และในสถาบันการศึกษาก็มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการจากไปด้วยดีและมีความสุข”
นพ.อำพล กล่าวอีกว่า ตาม มาตรา 12 ของพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้กำหนดสาระสำคัญไว้ 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1.ผู้ป่วยมีสิทธิในทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย 2.กฎกระทรวงเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขฯ พ.ศ.2553 และ 3.การให้ความคุ้มครองแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขในการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาฯ ของผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความสบายใจในการปฏิบัติงานและไม่เกิดการฟ้องร้องในภายหลัง
สำหรับการเขียนหนังสือแสดงเจตนา ถือเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างผู้ป่วย ครอบครัว ญาติพี่น้อง และแพทย์ เพื่อแสดงความต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ไม่ได้หมายความว่าแพทย์ต้องปล่อยให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด เพราะยังคงให้การดูแลแบบประคับประคองต่อไปโดยที่มิใช่การยื้อชีวิตด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ นอกจากนี้ การออกจากห้องไอซียูมาอยู่ในห้องที่เงียบสงบซึ่งญาติสามารถดูแลได้ หรือการอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านเพื่อใช้เวลาอยู่กับลูกหลานในช่วงสุดท้าย ก็นับเป็นการสร้างสุขที่ปลายทางได้
“สิ่งที่อยากเห็นคือการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น การสร้างระบบดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองทั้งที่บ้านและในชุมชน รวมถึงการวางมาตรฐานวิชาชีพแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขให้มีทัศนคติที่ดีต่อการรักษาผู้ป่วยระยะท้าย พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจสังคมไทยถึงประเด็นเรื่องการตายดีว่าเป็นวิถีที่เลือกได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทยได้อย่างแท้จริงในอนาคต”
ด้าน รศ.ดร.เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา คณบดีรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการ Rest in Peace 2 ถือเป็นกิจกรรมที่สถาบันเอเชียศึกษาและคณะรัฐศาสตร์ให้ความสำคัญมาก เพราะได้ถ่ายทอดความรู้และเปิดให้สัมผัสประสบการณ์จริงๆ เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ร่วมกันกับสถาบันต่างๆ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย