ไร้ล่ามกลาง-แพทย์ตรวจ! ล้วงเหตุผล สตช.ยันไม่มีซ้อมทรมานจำเลยคดีเกาะเต่า
“…แม้แต่ประเด็นเรื่องล่ามที่ สตช. ระบุว่า ยังไม่มีระเบียบการใช้ล่ามหรือผู้ช่วยแปลภาษาที่ชัดเจน แต่เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในการหาล่าม โดยเบิกจ่ายให้ล่ามได้ 3,500 บาท ดังนั้นจะทำให้สังคมมั่นใจได้อย่างไรว่ามีการจ้างล่ามจริง หรือล่ามไม่บิดเบือนคำพูดของจำเลยในคดีนี้ หรือคดีอื่น ๆ…”
หลายคนอาจจะจำกันได้กับคดีสะเทือนขวัญชาวไทยเมื่อช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ กรณีนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษถูกข่มขืนและฆ่าที่เกาะเต่า อ.พะงัน จ.สุราษฎร์ธานี กระทั่งมีการสืบสวนโดยตำรวจ และสื่อมวลชน มีการสาวลึกเชื่อมโยงไปถึงนักการเมืองท้องถิ่น และตำรวจระดับสูงหลายราย ทว่าท้ายสุดจับบุคคลที่กระทำความผิดได้ 2 ราย ที่เป็นชาวเมียนมา
กระทั่งเมื่อปลายปี 2558 ศาลชั้นต้นจังหวัดเกาะสมุย มีคำพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลยทั้ง 2 รายดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ผลการตรวจ DNA ระหว่างจำเลยกับเหยื่อที่ถูกฆ่าตรงกัน
อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ถูกทนายฝ่ายจำเลย รวมถึงหลายฝ่ายในสังคมเรียกร้องไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้เข้ามาตรวจสอบ เพราะ ‘เคลือบแคลง’ ในขั้นตอนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอาจเชื่อได้ว่ามีการ ‘ซ้อมทรมาน’ จำเลยเพื่อให้รับสารภาพดังกล่าว
ร้อนถึง ‘บิ๊กต๊อก’ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อหารือถึงข้อเท็จจริงประเด็นนี้
กระทั่งล่าสุด มีการสรุปผลแล้ว โดย สตช. ยืนยันว่า ไม่ปรากฏหลักฐานในการซ้อมทรมานจำเลย และคำพิพากษาของศาลก็พิจารณาอย่างรอบด้าน พร้อมกับผลตรวจ DNA ก็ชี้ให้เห็นชัดว่า มีการกระทำความผิดจริง
(อ่านประกอบ : ไร้หลักฐานซ้อมทรมาน! สตช.ยันผลตรวจ DNA มัดจำเลยฆ่านักท่องเที่ยวเกาะเต่า)
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเอกสารคำชี้แจงของ สตช. มาให้สาธารณชนเห็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง กรณีมีข้อเสนอให้ สตช. พิจารณาตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่าบุคคลใดได้กระทำการทรมานด้วยการทำร้ายร่างกายอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนายวินพิว และนายซอลิน (สองจำเลย) จนมีการบาดเจ็บทางร่างกาย
ผู้แทน สตช. ได้ยืนยันว่า คดีนี้ได้มีการให้แพทย์ตรวจและบันทึกสภาพร่างกายของผู้ต้องสงสัยไว้เป็นหลักฐาน และได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งจากสำนวนคดี คำพิพากษา รวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการทรมาน จึงไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบเจ้าหน้าที่ในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ในแง่ของหลักความเป็นธรรม อสส. ได้ยืนยันว่า คำพิพากษาคดีนี้มีความชัดเจนแล้ว อีกทั้งผลการตรวจพิสูจน์ DNA โดยนักนิติวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่าถูกต้องตรงกับจำเลย คำพิพากษาของศาลจึงมาจากการพิเคราะห์พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างรอบด้าน ไม่ได้นำคำรับสารภาพของจำเลยมาพิจารณาเพียงอย่างเดียว
สตช. พิจารณาแล้วเห็นชอบกับสรุปผลการพิจารณาดังกล่าว
ประเด็นที่สอง มีข้อเสนอให้ สตช. พิจารณาเข้มงวดกวดขันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดปฏิบัติและเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องสงสัยผู้ถูกจับกุม ผู้ถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด และจัดให้ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขังได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ทันที เมื่อมีการกล่าวหาว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย
ผู้แทน สตช. ได้ชี้แจงว่า ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี บทที่ 16 เรื่อง การปฏิบัติในการควบคุมตัวผู้ต้องหาที่บาดเจ็บ ข้อ 1-3 และคำสั่ง สตช. ที่ 419/2556 เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญาฯ สำหรับการตรวจร่างกายโดยแพทย์นั้น ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตำรวจจะตรวจสอบสภาพร่างกายในชั้นก่อนและหลังการควบคุมตัว และทำบันทึกรายละเอียดสภาพร่างกายและบาดแผลอยู่แล้ว เว้นแต่กรณีที่มีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย จึงจะส่งให้กับแพทย์และขอรับข้อเสนอในส่วนนี้ไปหารือภายในหน่วยงาน และกำหนดเป็นมาตรการดำเนินงานต่อไป
สตช. เห็นว่า การให้การคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาก่อนการควบคุมตัวเป็นสิ่งที่ดี แต่ขณะนี้ สตช. ยังไม่มีความพร้อมในเรื่องของแพทย์ที่จะมาเข้าร่วมการตรวจร่างกายและค่าตอบแทนแพทย์ จึงยังขอไม่รับรองข้อเสนอแนะในส่วนนี้
ประเด็นที่สาม มีข้อเสนอให้ สตช. พิจารณากำหนดระเบียบการใช้ล่ามหรือผู้ช่วยแปลภาษา
ผู้แทน สตช. ได้รับว่า จะนำไปพิจารณา เนื่องจากยังไม่มีระเบียบการใช้ล่ามหรือผู้ช่วยแปลภาษาที่ชัดเจน แต่เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในการหาล่าม ซึ่งส่ามารถเบิกจ่ายได้สูงสุด 3,500 บาท ทั้งนี้สำนักงาน อสส. เสนอให้มีการจับระบบล่ามกลางของแต่ละจังหวัด โดยหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อกำหนดระเบียบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่อไป
สตช. เห็นว่า ในข้อนี้พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการจัดหาล่ามอยู่แล้ว เพียงแต่ยังขาดระบบล่ามกลางที่จะสามารถใช้ร่วมกันในกระบวนการยุติธรรม หากมีระบบล่ามกลางแล้ว สตช. พร้อมที่จะร่วมมือใช้ล่ามกลาง ทั้งนี้ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการ พ.ศ.2553 ข้อ 11 (1) สามารถเบิกจ่ายได้อยู่แล้ว จึงเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอแนะดังกล่าว (ดูเอกสารประกอบ)
นี่คือเหตุผลของ สตช. ในประเด็นดังกล่าว ซึ่งมีข้อสงสัยบางประการ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ให้แพทย์ตรวจร่างกายก่อน โดยอ้างว่าไม่มีเงินจ้าง ทั้งที่ สตช. ก็อยู่ติดกับโรงพยาบาลตำรวจ และทำงานร่วมกันมาตลอด
หรือแม้แต่ประเด็นเรื่องล่ามที่ สตช. ระบุว่า ยังไม่มีระเบียบการใช้ล่ามหรือผู้ช่วยแปลภาษาที่ชัดเจน แต่เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในการหาล่าม โดยเบิกจ่ายให้ล่ามได้ 3,500 บาท ดังนั้นจะทำให้สังคมมั่นใจได้อย่างไรว่ามีการจ้างล่ามจริง หรือล่ามไม่บิดเบือนคำพูดของจำเลยในคดีนี้ หรือคดีอื่น ๆ
ตรงนี้เป็นข้อสงสัยที่ สตช. ต้องทำให้กระจ่างชัดโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาขึ้นอีก !
หมายเหตุ : ภาพประกอบ 2 จำเลยคดีฆ่านักท่องเที่ยวเกาะเต่าจาก nation