1.2หมื่นล.!ปรากฏการณ์‘ไข่เซอร์ไพรส์’ครองเมือง-เด็กไทยได้อะไรจากขนมชนิดนี้?
"..สินค้ามีจุดมุ่งหมายเน้นไปที่ตัวเด็ก เพราะเด็กชอบกินของหวาน เด็กคือ user แต่ไม่ใช่ผู้ตัดสินใจซื้อ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงสร้างแรงจูงใจหรือกระตุ้นไปที่ตัวเด็กแทน ถ้าเด็กไม่ได้ไปด้วยผู้ปกครองจะไม่ซื้อหรือถ้าลูกไม่ร้องเอาก็ไม่ซื้อให้ โดยธรรมชาติแล้วผู้ปกครองไม่อยากซื้อให้ลูก”
อะไร คือ เคล็ดลับความสำเร็จของขนม(ของเล่น)ชนิดนี้ ที่ทำให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก-เยาวชน และที่สำคัญที่สุด 'เด็กไทย' ได้อะไรจากขนมชนิดนี้
เชื่อว่าคำถามเหล่านี้ คงอยู่ในใจของใครหลายคน เวลาพบเห็น ขนมชนิดหนึ่ง ในแพ็กเกจรูปไข่ ที่มีของเล่นแถมมาด้วย แต่ไม่บอกว่า ของเล่นที่แถมมาคืออะไร จนเป็นที่มาของคำพูดติดปากว่า ‘ไข่เซอร์ไพรส์’ ซึ่งปัจจุบันมีวางขายอยู่ตามร้านสะดวกซื้อ และมีเด็กหลายคนให้ความสนใจ ร้องขอพ่อแม่ผู้ปกครอง ให้ซื้อให้ คนละฟองสองฟอง แล้วลุ้นระทึกว่า ของเล่นที่อยู่ด้านใน จะเป็นอะไรกันแน่?
ก่อนจะกลับบ้านไปแล้วเปิด ‘ไข่เซอร์ไพรส์’ ดู (เด็กบางคนเปิดดูตั้งแต่ช่วงเดินออกมาจากร้านสะดวกซื้อ) และหยิบของเล่นที่อยู่ภายในซึ่งถูกจัดวางอยู่ในไข่ครึ่งใบ ออกมาต่อเล่นอยู่สักพัก (ของเล่นส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนพลาสติก ถูกออกแบบมาเป็นตัวต่อขนาดเล็ก เช่น แป้นบาส ) พร้อมกับตักขนมช็อกโกแลต ที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งขึ้นมารับประทาน
จากนั้นไม่นาน ขนมชนิดนี้ ก็จะถูกปล่อยทิ้งไว้ พร้อมกับความรู้สึกประหลาดใจของผู้ซื้อ ที่หมดลงไป เช่นกัน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลขนมชนิดนี้ พบว่า ขนมชนิดนี้ ปัจจุบันมีจำหน่ายหลากหลายยี่ห้อ แต่สินค้าที่วางจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อ เป็นสินค้าของ 'เฟอเรโร อินเดีย พีวีที แอลทีดี' จากประเทศอินเดียนำเข้าและจัดจำหน่าย โดย บริษัท ซีโน-แปซิฟิคเทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2513 ทุนปัจจุบัน 160 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 122/2-3 ถนนนนทรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจ นำเข้า จำหน่าย ยาอม ผงโกโก้ (ขายสินค้าชนิดอื่นด้วย)
ปรากฏชื่อ นาย เอกชัย เศวตสมภพ นาย เศวต เศวตสมภพ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นาย เศวต เศวตสมภพ ถือหุ้นใหญ่สุด (ณ วันที่ 20 ก.ค.2558)
บริษัทฯ นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบธุรกิจล่าสุด 31 ธ.ค. 2557 แจ้งว่ามีรายได้จากการขายสินค้า 12,336,310,861.63 บาท รายได้อื่น 1,059,145,042.05 บาท รวมรายได้ 13,395,455,903.68 บาท
ส่วนรายจ่าย มีต้นทุนสินค้าที่ขาย 8,989,356,917.37 บาท ค่าใช้จ่ายในการขาย 3,371,436,085.47 บาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 369,964,643.85 บาท รวมรายจ่าย 12,730,757,646.69 บาท
กำไรสุทธิ 481,244,998.10 บาท
จากการสอบถามผู้ปกครองหลายคน ให้เหตุผลตรงกันว่า ลูกชอบ จึงซื้อให้ แม้ว่าราคาสินค้าที่วางขายในร้านสะดวกซื้อต่อชิ้นจะสูงอยู่ที่ลูกละ 35 บาทก็ตาม
“ลูกอยากได้ ก็ซื้อให้ ไม่ได้คิดอะไรมาก เห็นในยูทูปเขาก็นิยมกันนะ จริงๆ มันมีหลายแบบหลายยี่ห้อนะ ตามห้างสรรพสินค้าก็มีด้วย ส่วนของเล่นที่อยู่ข้างใน บางยี่ห้อของดีมาก เป็นตัวการ์ตูนดังๆ เป็นของสะสมได้เลย บางคนเขาซื้อมาจากเมืองนอกเลยนะ เพราะของเล่นดีกว่าของในเมืองไทย" ผู้ปกครองรายหนึ่งระบุ
ขณะที่ ดร.ศศิประภา ชัยประสิทธิ์ หัวหน้าภาควิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าว ถึงปัจจัยที่ทำให้ไข่เซอร์ไพรส์ ได้รับความนิยม ว่า เป็นเรื่องของการจัดวางสินค้า โดยการวางสินค้าไว้ตามหลักของการของสินค้าสะดวกซื้อ convenience goods โดยเน้นเอาสินค้าไปวางไว้ตามแคชเชียร์ ที่พ่อแม่ปฏิเสธไม่ได้ ยังไงลูกต้องหยิบ ถือเป็นแรงกระตุ้นจากการจัดวางสินค้า โดยก่อนหน้านี้มีเหตุมาจากคนประโคมข่าวกัน รวมถึงกระแสในโซเชียลมาก่อนว่าจะมีการลดราคาจาก 100 กว่าบาทมาเป็น 31 บาท ให้ผู้บริโภครับรู้ จากนั้นก็ต่อที่การจัดวางแผนผังสินค้า ตามหลักจัดการสินค้าปลีก retail management ซึ่งถือเป็นการจูงใจเบื้องต้นตามธรรมชาติของสินค้าสะดวกซื้อ
“สินค้ามีการโปรโมททั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งเป็น marketing communication โดยการใช้โซเชียลนำ ถ้ามองในเรื่องของความนิยม มันเป็นแค่กระแส ที่คนอยากได้ อยากตามหา ซักพักจะลดความนิยมลงไปเอง และเนื่องด้วยขนมเป็นช็อกโกแลตซึ่งเป็นของหวานที่ผู้ปกครองไม่สามารถให้ลูกกินได้ตามที่ชอบ และคงไม่มีใครที่จะทิ้งขนมเพื่อเอาของเล่น ซึ่งลักษณะที่กล่าวมาเรียกว่า popular culture หรือกระแสนิยมในเชิงวัฒนธรรมที่คนนิยมกันเพียงชั่วครู่”
ดร.ศศิประภา กล่าวว่า สินค้ามีจุดมุ่งหมายเน้นไปที่ตัวเด็ก เพราะเด็กชอบกินของหวาน เด็กคือ user แต่ไม่ใช่ผู้ตัดสินใจซื้อ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงสร้างแรงจูงใจหรือกระตุ้นไปที่ตัวเด็กแทน ถ้าเด็กไม่ได้ไปด้วยผู้ปกครองจะไม่ซื้อหรือถ้าลูกไม่ร้องเอาก็ไม่ซื้อให้ โดยธรรมชาติแล้วผู้ปกครองไม่อยากซื้อให้ลูก เพราะไม่ได้ในเชิง functional แต่เป็น Emotional Marketing ล้วนๆ
ในส่วนของโซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยเฉพาะยูทูปที่มียอดผู้เข้าชมคลิปในจำนวนหลักแสน ไปจนถึงหลักล้าน บางคลิปมีจำนวนผู้เข้าชมกว่า100 ล้านวิว
ขณะที่ อ.อรภัค สุวรรณภักดี นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายสังคมหรือSocial Network ให้ความเห็นอีกมุมหนึ่งกับทางสำนักข่าวอิศราไว้อย่างน่าสนใจ ถึงคุณภาพของสินค้าที่ขายดีมาก่อนหน้านี้แล้ว ยิ่งเมื่อมองถึงวิธีทำการทำตลาดก็ไม่ได้มุ่งไปที่ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม แต่มุ่งไปที่เด็กทั่วโลก ซึ่งมีจำนวนมาก
"ในต่างประเทศเป็นกระแสมาหลายปี ตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปัจจุบันที่มียอดผู้ซื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ในประเทศไทยเกิดจากช่องยูทูปเกี่ยวกับของเล่นเด็กซึ่งมีผลมาก เพราะผู้ปกครองเวลาดูของเล่นให้ลูกจะอาศัยการดูยูทูป
ในส่วนของตัวเด็กเองทุกครั้งที่เข้าไปดูการรีวิวขนมและมีของเล่นจะให้ความรู้สึกเหมือนดูการ์ตูน โดยยูทูปเป็นปัจจัยหลักในการทำให้เกิดกระแสขึ้นมาทั่วโลก นอกจากนี้ยังได้รับความนิยมมาจากรายการเด็กทางโทรทัศน์ ซึ่งตัวรายการเด็กมีผลอีกเช่นกัน และบางทีก็มีการรีวิวขนมผ่านรายการเด็กในแต่ละประเทศแล้วเอาคลิปลงยูทูปอีกทีหนึ่ง โดยการทำตลาดไม่ใช้แค่การใช้โซเชียลในการกระจายข่าวทางยูทูปหรือ viral marketing videos เท่านั้น แต่ยังไปโปรโมทในรายการเด็กในทั่วโลกด้วย"
ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ เชื่อว่า ระยะสั้นสินค้าตัวนี้ก็ยังไม่ตก ด้วยจุดวางจำหน่าย การทำโปรโมชั่น และจุดที่ผู้บริโภคมองว่ายังคุ้มอยู่ ไข่ลูกใหญ่กว่าเดิม ได้ช็อกโกแลต และยังได้ของเล่นด้วย
พร้อมกันนี้ อ.อรภัค ตั้งข้อสังเกตุทิ้งท้ายด้วยว่า ทำไมแบรนด์สินค้าตัวอื่นก็ยังขายดี จึงไม่น่าจะเป็นแค่กระแสเท่านั้น
ขณะที่ พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผอ.สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุกับสำนักข่าวอิศราว่า โดยปกติแล้วหมอโภชนาการไม่ต้องการให้เด็กรับประทาน โดยเฉพาะขนมที่ผ่านกระบวนการมีแพ็กเกจเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถ้าสำรวจในท้องตลาดส่วนใหญ่แล้วจะเจอขนมที่ไม่จำเป็น ที่ขนมมีส่วนประกอบของน้ำตาล ไขมัน แป้ง เกลือ เป็นหลัก โดยเฉพาะแป้งหรือน้ำตาลที่จะทำให้เด็กได้รับพลังงานที่มากเกินไป ซึ่งหมออยากแนะนำผู้ปกครองควรให้เด็กทานขนมไทยมีส่วนประกอบของผลไม้ผสมหรือให้เด็กทานผลไม้แทนขนมหวาน
“สำหรับขนมที่ให้ความหวาน มันเป็นผลที่ทราบโดยทั่วไป โดยเฉพาะผู้ประกอบการจะรู้ว่ารสหวานเป็นการติดรสชาติ เพราะฉะนั้นบริษัทที่ผลิตก็จะทำรสชาติให้หวานเพื่อจะทำให้คนติด และเด็กๆก็หลงอยู่ในเล่ห์กลของผู้ประกอบการ บางครั้งเด็กไม่ได้กินขนม ก็เอาของเล่นมาล่อ ซึ่งนอกเหนือจากการเสียเงินหรือได้ของที่ไม่มีคุณภาพแล้ว ยังเป็นการแอบสอนเด็กเรื่องการพนันอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งเด็กไม่รู้ว่าของเล่นข้างในคืออะไร และกระตุ้นให้เด็กอยากได้ หรือบางทีของเล่นข้างในมี 6 แบบในแพ็กเกจให้สะสมให้ครบ ขึ้นอยู่กับว่าเปิดมาแล้วจะได้แบบไหน"
พญ.นภาพรรณ ยังระบุด้วยว่า "ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับขนมแต่ทำให้เด็กติดพฤติกรรมในเรื่องของการเสี่ยงโชค ความอยาก และการควบคุมอารมณ์ หลายอย่างที่จะกลายเป็นปัญหาพฤติกรรมที่ติดตัวเด็ก นอกเหนือจากการที่คุณแม่ต้องเสียเงิน”
“ถ้าพุ่งเป้าไปที่ประเด็นของโภชนาการเรื่องความหวานของขนมเพียงอย่างเดียวผู้ประกอบการของบริษัทก็จะออกมาบอกว่าจะพัฒนาขนมให้มีสารอาหารหรือมีโภชนาการที่ดีขึ้น แต่ถ้ายังไม่เลิกการทำ tie in ของเล่นหรือของแถมก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น”
พญ.นภาพรรณ ยังแนะนำด้วยว่า ผู้ปกครองควรให้เวลาในการเลี้ยงดูลูกอย่างเหมาะสมต่อเนื่อง ไม่เลี้ยงลูกด้วยวัตถุและไม่ควรใช้ขนมในการให้รางวัลลูกหรือทำให้เด็กคิดว่าขนมคือของวิเศษ ส่วนผู้ประกอบการควรทำการตลาดโดยให้คิดเสมอว่า ผลิตภัณฑ์นี้คือลูกที่คุณรักมากที่สุดเป็นคนรับประทาน และควรทำการตลาดเหมาะสม พออยู่พอได้ตามวิถีเศรษฐกิจที่พอเพียง ไม่หวังกำไรมากเกินไป ผู้วางจำหน่ายหรือผู้วางขายสินค้าควรเอาขนมวางให้ไกลมือเด็ก แต่เอาผักผลไม้หรืออาหารที่ประโยชน์ไว้ใกล้มือเด็กแทน
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลที่น่าจะสามารถอธิบาย ปรากฏการณ์ ‘ไข่เซอร์ไพรส์’ ได้ในระดับหนึ่ง
โดยเฉพาะเหตุผลสำคัญที่ว่า เด็กไทย ได้อะไร และสังคมไทยเรียนรู้อะไรจากขนมชนิดนี้บ้าง!