ขมวดปมร้อน! 3ข้อสังเกตคดีจัดซื้อจีที200ลวงโลก อย่าเพิ่งรีบสรุปจนท.รัฐไม่ผิด?
"... บริษัทเอกชนที่ปรากฎชื่อเป็นผู้ขายเครื่องจีที 200 ก็ยังทำธุรกิจได้ตามปกติ แถมยังปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญาขายสินค้าให้กับหน่วยงานรัฐมาจากต่อเนื่องด้วย โดยเฉพาะในส่วนของกองทัพ ทั้งที่ โดยหลักการที่ถูกต้องแล้ว บริษัทที่มีปัญหาการซื้อขายสินค้ากับราชการ จะถูกขึ้นบัญชีดำ ห้ามเข้ามาซื้อขายสินค้า.."
หากใครที่ติดตามข่าวตรวจสอบปัญหาการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด หรือ จีที 200 ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนออย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา คงจะทราบว่า ภายในเดือนกันยายน 2559 นี้ คือ ช่วงเวลาที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุให้คำมั่นสัญญาต่อสาธารณชนว่า จะสรุปสำนวนและวินิจฉัยคดีการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 14 สำนวน จาก 12 หน่วยงานรัฐที่จัดซื้อให้ได้
(อ่านประกอบ : 2 สัปดาห์ลงมติปมถอนฟ้องสลายพธม.-ป.ป.ช.เร่งขอข้อมูล ตปท.ฟันซื้อจีที 200)
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะถึงช่วงเวลาสำคัญนั้น สำนักข่าวอิศรา มีข้อสังเกตสำคัญ 3 ประการเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ของหน่วยงานรัฐ ที่เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรทำความจริงให้สาธารณชนได้รับความกระจ่างเสียก่อน ดังนี้
ประการแรก :ข้อมูลการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ของหน่วยงานรัฐ ในประเทศไทย มีจำนวนกี่หน่วยงานกันแน่? รวมจำนวนกี่เครื่อง? คิดเป็นวงเงินเท่าไร?
ข้อสังเกตนี้ เป็นเรื่องข้อมูลพื้นฐาน ที่ดูเหมือนจะไม่ยากในการค้นหาคำตอบในการอธิบายกับสังคม แต่ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ข้อมูลส่วนนี้จนถึงปัจจุบันดูเหมือนจะยังไม่มีหน่วยงานใด ที่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่า ที่ผ่านมา มีหน่วยงานรัฐกี่แห่ง ที่ซื้อเครื่องจีทีมาใช้งาน? ซื้อจากใคร? กี่เครื่อง? วงเงินเท่าไรกันแน่?
และที่สำคัญปัจจุบันเครื่องมือที่จัดซื้อมาไปอยู่ไหน สภาพเป็นอย่าง?
เพราะการเปิดข้อมูลของหน่วยงานตรวจสอบ ที่ประกาศออกมาทั้งเป็นทางการและไม่ทางการมีความแตกต่างมาก ดูแล้วไม่น่าจะใช้ข้อมูลชุดเดียวกัน
ตัวอย่าง ข้อมูลสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่แจ้งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2559
ระบุว่า มี 6 หน่วยงาน ที่จัดซื้อ ได้แก่ กองทัพบก กรมราชองครักษ์ กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และสถานีตำรวจภูธรจ.ชัยนาท รวมระยะเวลาจัดซื้อตั้งแต่ปี 2548-2552 จำนวน 34 สัญญา 836 เครื่อง รวมวงเงิน 759.14 ล้านบาท
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ พบว่า นับตั้งแต่ปี 2550 -2553 มีหน่วยงานรัฐ 7 หน่วยงาน ที่จัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด หรือ GT200 มาใช้งาน รวมจำนวน 19 สัญญา คิดเป็นวงเงินทั้งสิ้น 688,287,264.49 บาท
โดยข้อมูลที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากข้อมูลของ สตง. คือ การจัดซื้อของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 1 สัญญา วงเงิน 1,230,000 บาท จัดซื้อจากบริษัท ดีเพนเทค จำกัด, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สระแก้ว จัดซื้อ 2 เครื่อง วงเงิน 2,380,000 บาท และอบจ.สมุทรปราการ จัดซื้อ3 เครื่อง วงเงิน 1,800,000 บาท โดยจัดซื้อหน่วยงานละ 1 สัญญา จากบริษัท บ.เอวิเอ แซทคอม จำกัด ทั้งหมด รวมวงเงิน 4,180,000 บาท
ขณะที่ ในฐานข้อมูลคดีการจัดซื้อจีที 200 ที่อยู่ระหว่างการไต่สวน ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวน 12 คดี พบว่ามีข้อมูลการจัดซื้อที่เพิ่มขึ้นมาจากการตรวจสอบของ สตง. จำนวน 1 รายการ คือกรมศุลกากร จัดซื้อจำนวน 6 เครื่อง วงเงินรวม 2,556,000 บาท ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 426,000 บาท ตามสัญญา เลขที่ 77/2552 ลว.19 มิ.ย. 52 ซึ่งจัดซื้อจากบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด
ส่งผลทำให้ยอดการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ของหน่วยงานราชการในประเทศไทย เพิ่มขึ้นเป็น 10 หน่วยงาน 38 สัญญา 848 เครื่อง วงเงิน 767.106 บาท
ขณะที่บริษัทเอกชน ที่ปรากฎชื่อเป็นผู้จำหน่ายเครื่องจีที 200 ให้กับหน่วยงานรัฐ มีทั้งหมด 3 ราย คือ
บริษัท Global Technical Limited ได้รับงานไปทั้งสิ้น 14 สัญญา จำนวน 58 เครื่อง วงเงิน 54.39 ล้านบาท
บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ได้รับงานไปทั้งสิ้น 23 สัญญา จำนวน 789 เครื่อง วงเงิน 711.486 ล้านบาท
บริษัท ดีเพนเทค จำกัด ได้รับงานไปทั้งสิ้น 1 สัญญา (18 Card) วงเงิน 1,230,000 บาท
(อ่านประกอบ : เปิดครบข้อมูล 10 หน่วยงานรัฐ แห่ใช้สารพัดวิธีพิเศษซื้อจีทีฯ ลวงโลก 848 เครื่อง 767 ล., INFO: ข้อมูลหน่วยงานรัฐจัดซื้อจีทีฯ 767 ล.-ผลสอบ สตง.มัดลวงโลก?)
แต่ล่าสุด พล.ต.อ.วัชรพล ประธาน ป.ป.ช. ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการไต่สวนคดีจัดซื้อเครื่องจีที 200 ว่า ปัจจุบันดำเนินการทั้งหมด 14 สำนวน จาก 12 หน่วยงานรัฐที่จัดซื้อ มีจำนวนหน่วยงานรัฐ เพิ่มขึ้นมาอีก 2 แห่ง ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ตรงกัน และไม่ได้ระบุ หน่วยงานรัฐ ที่จัดซื้ออีก 2 แห่ง คือ หน่วยงานใด
ถามว่าข้อมูลการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ว่ามีหน่วยงานรัฐกี่แห่งที่จัดซื้อ ซื้อกี่เครื่อง วงเงินเท่าไร มีความสำคัญอย่างไร
คำตอบคือ มีประโยชน์อย่างมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะการคำนวณความเสียหายที่ประเทศไทย ได้รับจากการซื้อเครื่องจีที 200 ที่มีผลการตรวจสอบยืนยันออกมาเป็นทางการแล้วว่า ไม่มีประสิทธิภาพจริง และนำไปสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทเอกชนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องยาก ที่ภาครัฐจะตั้งหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ขึ้นมาเป็นเจ้าภาพในการรวบรวมข้อมูลส่วนนี้ (อาจจะเป็น ศอตช.ก็ได้)และเปิดแถลงให้สาธารณชนรับทราบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนมากที่สุด
เพราะต้องไม่ลืมว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก เจ้าของบริษัทเอกชนที่ผลิตเครื่องมือชนิดนี้ ถูกศาลอังกฤษฟ้องดำเนินคดีและสั่งอายัดเงิน เพื่อชดเชยให้เหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากการใช้งานเครื่องมือนี้ไปแล้ว ขณะที่ประเทศไทยถูกระบุว่าเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สั่งซื้อเครื่องมือชนิดนี้ แต่ในทางปฏิบัติเรากับไม่มีตัวเลขสรุปเป็นทางการว่า ยอดจัดซื้อเครื่องมือชนิดนี้จริงๆ มีเท่าไรกันแน่
นี่ยังไม่นับรวมกรณีล่าสุดที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในช่วงปี 2552 ที่ทำการปกครองอำเภอเมืองอำนาจเจริญ ได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อเครื่องค้นหาข้าวสาร จำนวน 1 ชุด วงเงิน 1,148,000 บาท จาก บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ตามสัญญาเลขที่ 1/2552 มาใช้งาน ซึ่งยังไม่มีใครยืนยันข้อมูลเป็นทางการว่าแท้จริงแล้ว เครื่องค้นหาข้าวสาร ดังกล่าว ก็คือ จีที 200 ที่เปลี่ยนการ์ดจากหาวัตถุระเบิดยาเสพติดมาเป็นค้นหาข้าวสารแค่นั้นหรือไม่
(อ่านประกอบ : ข้อมูลใหม่ 'บ.จีที200'โผล่ขายเครื่องค้นหาข้าวสาร อ.อำนาจเจริญ 1.1 ล.)
ประการสอง : การทุจริตซื้อเครื่องจีที 200 ของหน่วยงานรัฐ รีบสรุปกันไปหรือเปล่า ว่าไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง?
ข้อสังเกตกรณีนี้ มาจากความเห็นเบื้องต้น ของ สตง. และ ป.ป.ช.
โดย สตง.ระบุในหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2559 ว่า "การจัดซื้อเครื่อง GT 200 ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และยังไม่พบว่ามีการทุจริตหรือมีเหตุที่เชื่อได้ว่ามีการจงใจที่จะกระทำผิดใดๆ ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง"
ขณะที่ในส่วนของ ป.ป.ช. นั้น นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า "ประเด็นหลักในการตรวจสอบของป.ป.ช.จะดูเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างว่า มีการจัดซื้อในราคาแพงเกินจริงหรือไม่ เพราะแต่ละหน่วยงานจัดซื้อเครื่อง GT 200 ในราคาไม่เท่ากัน ส่วนเรื่องประสิทธิภาพของเครื่อง GT 200 ที่ซื้อแล้วใช้งานไม่ได้ เป็นประเด็นที่พิสูจน์ลำบากว่า มีการทุจริตหรือไม่ เพราะหลายประเทศที่ซื้อเครื่องดังกล่าวต่างก็ถูกหลอกทั้งสิ้น โดยในผู้ถูกกล่าวหากรณีดังกล่าว เท่าที่ทราบไม่พบว่า มีรายชื่ออดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพมีส่วนเกี่ยวข้อง รายชื่อผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าหน่วยงานที่จัดซื้อเครื่อง GT 200 เท่านั้น"
ทั้งนี้ หากพิจารณาความเห็นเบื้องต้น ของทั้งสองหน่วยงาน ที่ออกมา จะพบว่ามีความเป็นไปได้สูง ที่ผลสอบของ ป.ป.ช. ในเร็วๆ นี้ อาจจะออกมาในทำนองว่า เป็นการกระทำความผิดของเอกชนฝ่ายเดียว เจ้าหน้าที่รัฐถูกหลอกให้จัดซื้อเครื่องมือในราคาแพง โดยอ้างเหตุผลมาจากการ์ดของเครื่อง ที่ถูกแพงตามลักษณะงานที่นำมาใช้ จึงทำให้ราคามีความแตกต่างกัน
สนับสนุนแนวคิดนี้ จากความเห็นของแหล่งข่าวระดับสูงของ สตง. ที่เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่า เชื่อมั่นว่าผู้บริหารหน่วยงานที่จัดซื้อเครื่องมือ ชนิดนี้ มีเจตนาบริสุทธิ์ใจ เพราะเชื่อมั่นว่าเครื่องมือทำงานได้มีประสิทธิภาพจริง ส่วนกรณีที่ต้องใช้วิธีพิเศษจัดซื้อ ก็เพราะเครื่องมือนี้ต้องซื้อจากเอกชนรายนี้เท่านั้น
"ในการส่งสำนวนการตรวจสอบกรณีการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ไปให้ป.ป.ช. ตรวจสอบต่อ บางหน่วยงานเราไม่ได้ระบุชื่อของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบไปด้วย เนื่องจากเชื่อว่า กรณีนี้ภาครัฐถูกเอกชน หลอกให้ซื้อเครื่องมือมากกว่า ส่วนการไต่สวนของป.ป.ช. ซึ่งมีอำนาจมากกว่าเรา จะไปพบว่ามีการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของป.ป.ช.แล้ว"
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูง สตง. รายนี้ ยืนยันว่า ยังไม่ได้ตัดประเด็นเรื่องเจ้าหน้าที่ว่าเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดกรณีนี้ไปสักทีเดียว เพราะในช่วงแรกที่สตง.เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ ได้รับแจ้งเบาะแสว่า มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานรัฐบางคน เป็นผู้ริเริ่มพาตัวบริษัท และเครื่องมือชนิดนี้ เข้ามาให้ผู้บริหารกองทัพ ได้รู้จัก ก่อนที่การจัดซื้อจะกระจายไปตามหน่วยงานต่างๆ เห็นได้จากการทำหนังสือแจ้งไปถึง ปปง. เพื่อขอให้ใช้อำนาจตรวจสอบเส้นทางการเงินของบริษัท ว่าเชื่อมโยงไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจด้วยหรือไม่ (กองทัพอากาศเป็นหน่วยงานแรกที่จัดซื้อเครื่องจีที 200)
(อ่านประกอบ :เปิดข้ออ้าง-เบื้องหลัง'กองทัพ'แห่ซื้อจีที200 ทอ.ต้นแบบ ก่อนสอบพบ"ลวงโลก")
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลพบว่า บริษัท เอวิเอฯ ซึ่งปรากฎชื่อเป็นผู้ขายเครื่องจีที 200 มีฐานธุรกิจเกี่ยวโยงกับอดีตข้าราชการระดับสูงหลายคน บริษัทอื่นในกลุ่มเป็นคู่ค้ากับหน่วยงานรัฐอีกหลายแห่ง รวมถึงกองทัพด้วย
อ่านประกอบ :โชว์ 17 บ.ขุมข่าย‘เอวิเอ แซทคอม’ผู้ขาย GT 200 โยงบิ๊ก ขรก.-กลุ่มค้าเครื่องบิน)
คำถามที่น่าสนใจ คือ ในกระบวนการตรวจสอบคดีจีที 200 ที่ผ่านมานั้น ป.ป.ช. ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข้อมูลเส้นทางการเงินซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการตรวจสอบคดีทุจริตมากน้อยแค่ไหน?
และข้อมูลที่อยู่ระหว่างประสานงานกับต่างประเทศ ในขณะนี้ คือ อะไร เป็นการประสานงานเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือราคาต้นทุนสินค้าที่แท้จริง เพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐานมัดเอกชน ในประเด็นเรื่องการหลอกขายเครื่องมือให้กับหน่วยงานรัฐเพียงเดียว หรือมีเรื่องเส้นทางการเงิน และข้อมูลการติดต่อกับบุคคลต่างๆ ที่จะเป็นเบาะแสสำคัญในการเชื่อมโยงไปถึง 'ไอ้โม่ง' ที่ค่อยแอบรับประโยชน์อยู่เบื้องต้นจากกรณีนี้ ว่ามีตัวตนจริงหรือเปล่า?
ดังนั้น ขณะนี้จึงไม่ควรมีการสรุปว่า กรณีนี้ เอกชนเป็นฝ่ายผิดอย่างเดียว เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย และในส่วนของบริษัทเอกชน ซึ่งขณะนี้ยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ก็ควรออกมาเปิดแถลงข่าวชี้แจงข้อมูลเรื่องนี้ให้สาธารณชนได้รับทราบโดยเร็ว
ประการสาม : รัฐบาล-หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง นิ่งเฉยกับคดีนี้ไปหรือเปล่า?
ข้อสังเกตนี้ มาจากปัจจัยสำคัญ ที่ว่ากรณีการตรวจสอบพบว่า เครื่องจีที 200 มีปัญหาไม่มีประสิทธิภาพใช้งานได้จริง เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2553 ปัจจุบันระยะเวลาผ่านมาเกือบ 6 ปี แล้ว ทำไมคดีความต่างๆ ถึงดูไม่มีความคืบหน้าอะไร (หลายฝ่ายมีการตั้งข้อสังเกตว่า กรณีศาลอังกฤษสั่งยึดทรัพย์เจ้าของบริษัทผู้ผลิต เรื่องนี้ก็คงจะเงียบหายไปเหมือนเดิม)
มิหน่ำซ้ำ บริษัทเอกชนที่ปรากฎชื่อเป็นผู้ขายเครื่องจีที 200 ก็ยังทำธุรกิจได้ตามปกติ แถมยังปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญาขายสินค้าให้กับหน่วยงานรัฐมาจากต่อเนื่องด้วย โดยเฉพาะในส่วนของกองทัพ ทั้งที่ โดยหลักการที่ถูกต้องแล้ว บริษัทที่มีปัญหาการซื้อขายสินค้ากับราชการ จะถูกขึ้นบัญชีดำ ห้ามเข้ามาซื้อขายสินค้า
(อ่านประกอบ :โชว์ 17 บ.ขุมข่าย‘เอวิเอ แซทคอม’ผู้ขาย GT 200 โยงบิ๊ก ขรก.-กลุ่มค้าเครื่องบิน)
ขณะที่ การดำเนินการทางกฎหมายเรื่องการฉ้อโกงกับเอกชน ตามที่ สตง. ระบุนั้น ก็มีประเด็นสำคัญอยู่มิใช่น้อย กล่าวคือ แม้ในประมวลกฎหมายอาญา ในเรื่องการฉ้อโกง มาตรา 341 จะระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอก ลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามหรือ ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือ ปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ คดีฉ้อโกง เป็นคดีที่สามารถยอมความได้ และในมาตรา 96 ระบุว่าเงื่อนไขว่า ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความ ผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
คำถาม คือ กรณีการจัดซื้อเครื่องจีที 200 มีการตรวจสอบพบว่า เครื่องไม่มีประสิทธิภาพ ใช้งานไม่ได้จริง มาตั้งแต่ปี 2553 และรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว
หลังจากที่รู้เรื่องแล้ว หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แจ้งความดำเนินคดีกับเอกชน ตามเงื่อนข้อกฎหมายนี้ภายในเวลาที่กำหนดหรือไม่ (สตง.ระบุว่าปัจจุบันมีการระบุข้อมูลว่าหลายหน่วยงานได้การดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแก่กรรมการผู้มีอำนาจการ กระทำแทนบริษัท Global Technical Limited และบริษัท เอวิเอแซทคอม จำกัด และผู้เกี่ยวข้องในความคิดฐานฉ้อโกงและดำเนินคดีแพ่งกับบริษัททั้งสองแห่งแล้ว แต่ไม่ได้มีการระบุว่าเข้าร้องทุกข์เมื่อใด) และถ้าไม่จะมีผลอะไรเกิดขึ้นกับคดีนี้หรือไม่ และหากเงื่อนไขกฎหมายข้อนี้ มีผลต่อทางคดีในปัจจุบัน ส่งผลทำให้ราชการ ไม่อาจฟ้องดำเนินคดีต่อบริษัทได้ มีความเสียหายเกิดขึ้นกับราชการ ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อกรณีนี้
และที่สำคัญ ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ เคยรับรู้ทราบข้อมูลเรื่องนี้ด้วยหรือไม่
ถ้ารับทราบแล้ว แต่ไม่ดำเนินการอะไร ปล่อยให้มีปัญหาเกิดขึ้น อาจจะเข้าข่ายเจตนาช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ปล่อยให้คนผิดลอยนวล และจะกลายเป็นประเด็นใหม่ ในคดีจีที 200 ที่จะต้องถูกตรวจสอบเพิ่มเติมอีกหนึ่งคดี
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อสังเกต 3 ประเด็นใหญ่ เกี่ยวกับประเด็นการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ที่สำนักข่าวอิศรา หยิบยกขึ้นมาให้สาธารณชนรวมกันพิจารณา และผู้มีหน้าที่รับผิดชอบควรทำความจริงให้กระจ่าง เพื่อให้ผลการพิจารณาคดี ของ ป.ป.ช. ที่จะประกาศออกมาเป็นทางการในเดือนกันยายน 2559 นี้ เป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมที่สุด
หลังจากสังคมไทยปล่อยให้เรื่องนี้ ล่วงเลยผ่านพ้นมาเป็นเวลานานกว่า 6 ปี และยังไม่สามารถหาบทสรุปคำตอบสุดท้ายได้มาจนถึงปัจจุบันนี้
อ่านประกอบ :
ข้อมูลใหม่ 'บ.จีที200'โผล่ขายเครื่องค้นหาข้าวสาร อ.อำนาจเจริญ 1.1 ล.
2 สัปดาห์ลงมติปมถอนฟ้องสลายพธม.-ป.ป.ช.เร่งขอข้อมูล ตปท.ฟันซื้อจีที 200
เปิดข้ออ้าง-เบื้องหลัง'กองทัพ'แห่ซื้อจีที200 ทอ.ต้นแบบ ก่อนสอบพบ"ลวงโลก"
เปิดครบข้อมูล 10 หน่วยงานรัฐ แห่ใช้สารพัดวิธีพิเศษซื้อจีทีฯ ลวงโลก 848 เครื่อง 767 ล.
ชำแหละชัดๆจีที200ไฉนราคาแตกต่าง ทบ.ซื้อหลักล้าน-ตร.5แสน
เทียบชัดๆ ราคาจีที200ฉบับสตง.!กองทัพซื้อของบ.เดียวกัน ราคาต่างหลายแสน
INFO: ข้อมูลหน่วยงานรัฐจัดซื้อจีทีฯ 767 ล.-ผลสอบ สตง.มัดลวงโลก?
โชว์ 17 บ.ขุมข่าย‘เอวิเอ แซทคอม’ผู้ขาย GT 200 โยงบิ๊ก ขรก.-กลุ่มค้าเครื่องบิน
เหลือแค่ตึกไร้คนดูแล! ตามไปดู 'บ.เปโตรฯ' ขาย'อัลฟ่า6'กรมการปกครอง 349 ล.
ลุยสอบปมซื้อจีที 200 แพง! ป.ป.ช. ยันไร้ ผบ.เหล่าทัพเอี่ยว-สรุป ก.ย.นี้
โชว์ 17 บ.ขุมข่าย‘เอวิเอ แซทคอม’ผู้ขาย GT 200 โยงบิ๊ก ขรก.-กลุ่มค้าเครื่องบิน
บ.GT200 คู่ค้ากองทัพอื้อ1.3 พันล.-ทอ.ขุมทรัพย์ใหญ่-หุ้นส่วนโยงบิ๊ก กสทช.
จนท.รัฐซื้อจีที200ไม่ผิด!สตง.การันตี'บิ๊กตู่'- ชงฟันอาญาแพ่งเอกชนคดีฉ้อโกง
บ.ขายอัลฟ่า349 ล.เลิกกิจการแล้ว!แกะรอยเอกชนพันคดีจีที200 ในบัญชีสอบป.ป.ช.
เปิด 12 คดีซื้อจีที 200! ป.ป.ช.สอบกราวรูด ขรก.-เอกชน 75 ราย-ทหารอื้อ 6 นายพล
19 สัญญา 688 ล.!เจาะข้อมูล7 หน่วยงานรัฐซื้อจีที200 ก่อนผู้ผลิตโดนยึดทรัพย์
ผู้ว่าฯสตง.สั่งรื้อคดีจีที200สอบใหม่-ส่งเรื่อง 'ศอตช.'สาวลึกตัวแทนขายในไทย