เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ หวังสื่อช่วยเชื่อมชนบท-เมือง ลดความเหลื่อมล้ำ
มูลนิธิปิดทองหลังพระ มอบรางวัล “สื่อเพื่อการพัฒนาชนบท” เตรียมจัดนิทรรศการผลงานให้ประชาชนได้เข้าชมฟรีถึง 3 ก.ค 2559 ที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ
วันที่ 30 มิ.ย 2559 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริฯ และชมรมสื่อบ้านนอก จัดโครงการสื่อบ้านนอกเติมเต็มความเข้าใจระหว่างคนเมืองและคนชนบท โดยคัดเลือก 22 ผลงาน จาก480 ชิ้นงาน ในหัวข้อ “รางวัลสื่อเพื่อการพัฒนาชนบท” ชิงรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี โดยมี ม.ร.ว ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ และ ม.ร.ว ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานการตัดสินรางวัล เข้าร่วมพิธี โดยหลังจากนี้จะมีการจัดนิทรรศการผลงานให้ประชาชนได้เข้าชมฟรีถึงวันที่ 3 ก.ค 2559 ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ
ม.ร.ว ดิศนัดดา กล่าวถึงรางวัลสื่อเพื่อการพัฒนาชนบท เป็นรางวัลพระราชทานรางวัลแรกสำหรับงานสื่อมวลชน ความสำคัญของเนื้อหาในการประกวดครั้งนี้ คือต้องการให้สื่อและประชาชนทั่วไปร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวชนบทในรูปแบบต่างๆ เพราะชนบทมีความสำคัญ คนเมืองหลายคนไม่รู้จักชนบทว่า คนชนบทอาศัยอย่างไรและมีปัญหาอะไร ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเมืองสองระบบ คือระบบเมืองกับระบบชนบทที่ไม่มีความเชื่อมโยงกันเลย อีกทั้งยังถอยห่างออกจากกันไปตลอดเวลา ในขณะที่คนชนบทเดือดร้อน คนเมืองกลับไม่รู้สึกอะไร ไม่เห็นความสำคัญว่า เกี่ยวข้องกับตัวเองอย่างไร
เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ ยกตัวอย่าง ปัญหาชุมชนแออัด เมื่อพืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำ เกษตรกรเดือดร้อน อพยพเข้ามาทำงานในเมือง ทำงานเป็นกรรมกรหรือช่างก่อสร้าง และอาศัยอยู่กันอย่างแออัด จนเกิดปัญหาน้ำเสีย ขยะ และอื่นๆ อีกมากมายตามมา เยาวชนที่เรียนจบแล้วก็ไม่กลับไปทำงานที่บ้าน เพราะกลับไปแล้วไม่มีงานทำ ยากจน จึงอยู่ในเมืองกันแทบทั้งนั้น นี่ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งเรื่องของความเชื่อมโยงปัญหาในชนบทและชุมชนเมือง
“ไม่ใช่แค่ปัญหาชนบทจะสร้างปัญหาให้กับชุมชนเมืองเท่านั้น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมในเรื่องรายได้ การกระจุกตัวของความเจริญ และที่สำคัญคือความไม่แยแสคิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง เพราะมีสิ่งที่ตัวเองพึงมีพึงได้อยู่แล้ว มีเงิน ตำแหน่ง และหน้าตาในสังคม ด้วยทัศนคติแบบนี้ของคนเมืองจึงทำให้คนชนบทยังเดือดร้อนจากปัญหาความยากจน ซึ่งความเหลื่อมล้ำนี้ได้เป็นปัญหาของสังคมไทยมาช้านาน และยังคงเป็นปัญหาหลักมาจนทุกวันนี้”
ม.ร.ว ดิศนัดดา กล่าวถึงการที่สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปช่วยกันถ่ายทอดเรื่องราวชนบท รวมถึงเรื่องราวของการพัฒนาที่ยั่งยืน ศักยภาพของคน ศักดิ์ศรี ความภูมิใจในความพอเพียงและความสุขของคนในชุมชนต่างๆจึงถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นการกระตุกต่อมความคิดของคนเมืองให้เข้าใจประเทศไทยมากขึ้น ตระหนักรู้ และนึกถึงกระทำของตัวเอง สำนึกถึงประโยชน์ส่วนรวม และสำคัญที่สุดคือการกระตุ้นให้เกิดการกระทำนำไปปฏิบัติจริง ชุมชนจากพื้นที่ต่างๆสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันผ่านสื่อในมือและนำไปปรับปรุงต่อยอดสิ่งที่ตัวเองทำ เพื่อให้ข้าราชการ นักธุรกิจ และฝ่ายกำหนดนโยบายต่างๆ ได้เข้าใจและปรับแผนการพัฒนาแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดที่แท้จริง เพื่อให้ชนบทพัฒนาทัดเทียมกับเมืองใหญ่ มีการพัฒนาเกษตรกรจากรากฐาน ตั้งแต่การปลูก ดูแล แปรรูป จนกลายเป็นธุรกิจเพื่อสังคมโดยชุมชน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุมาจากชนบท และเราต้องเชื่อมระหว่างชนบทกับเมืองให้ได้
สำหรับโครงการประกวดสื่อเพื่อการพัฒนาชนบท มีผู้ให้ความสนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวด 250 คน มีจำนวนชิ้นงานที่ส่งเข้าประกวด 480 ชิ้นงาน แบ่งเป็นประเภทภาพถ่าย 142 คน 368 ชิ้นงาน ประเภทสารคดีเชิงข่าวและคลิปวิดีโอ 35 คน 38 ชิ้นงาน ประเภทบทความและสารคดี 48 คน 50 ชิ้นงานและประเภทความเรียงเยาวชน 25 คน 25 ชิ้นงาน โดยคัดเลือกผลงานทั้งหมดออกมาเหลือเพียง 22 ผลงานที่ดีที่สุดได้รับมอบรางวัลพระราชทาน