"ต้มรากหญ้าประชานิยม" ปีกระต่าย 2554 ส่งต่อปีมะโรง 2555
ผ่านความระทมเกือบจมน้ำตามหาอุทกภัย ที่รอบนี้กระจายความทุกข์ให้คน กทม.ศูนย์กลางการกระจุกความเจริญอย่างอ่วมอรทัย ไม่เพียงน้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์ ปีกระต่าย’55 ที่คาบเกี่ยว 2 รัฐนาวาไทย ยังเต็มไปด้วยความตื่นเต้นมวลรวมทั้งด้านเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง ไม่เว้นเดือนและพร้อมจะส่งต่อไปยังปีมะโรง’56
……………………
“เมืองไทยปีกระต่าย'54” ภายใต้ “ประชาวิวัฒน์รัฐนาวาอภิสิทธิ์”
“รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่หลายคนมองว่าขึ้นแท่นมาด้วยอุบัติเหตุทางการเมืองไม่ผ่านเลือกตั้ง ท่ามกลางสงครามแบ่งสี-สงครามกลางเมือง ยังพยายามชูวาระ “สร้างความสมานฉันท์” ตั้ง “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ” นำโดย ดร.คณิต ณ นคร หวังลดอุณภูมิการเมือง
และวาระ “ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม” โดยมี “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ”(คปร.) นำโดยคุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี “คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป”(คสป.) โดย นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นตราประทับทางการเมือง นัยว่าสร้างกระบวนการสังเคราะห์รากเหง้าปัญหาสังคมไทยและถอดสลักทางออกผ่านการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ภายใต้คอนเซ็ปต์แก้ปัญหาชาวบ้านรากหญ้า
ด้านเมกะโปรเจ็ค สานต่อโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือ “โครงการไทยเข้มแข็ง” วางตัวเลขมหาศาลกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ทยอยจัดสรรผ่านหน่วยงานต่างๆ ซี่งมีข่าวฉาวคาวทุจริตเป็นระยะ ที่โด่งดัง เช่น งบยาและเวชภัณฑ์กระทรวงสาธารณสุขปี 52 รวมทั้งเสียงวิจารณ์ความไร้ประสิทธิภาพ เช่น โครงการถนนไร้ฝุ่น ของกรมทางหลวงชนบท
ด้านการศึกษา โชว์ “โครงการเรียนดีเรียนฟรี 15 ปี” ด้านสาธารณสุขอัพเกรดโครงการ 30 บาทรักษาโรคของรัฐบาลทักษิณเป็น “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรี” ส่วนที่โดนใจขบวนชาวบ้านรากหญ้าที่เดินเท้าเข้ากรุงม็อบเรียกร้องแก้สารพันปัญหาเห็นจะเป็น“นโยบายออกโฉนดชุมชน” ที่มาพร้อมแพ็คเก็จปฏิรูปที่ดิน แม้จะไม่ค่อยมีใครมั่นใจว่าเดินหน้าได้จริงจัง โดยเฉพาะการออกกฏหมายภาษีที่ดินซึ่งกระทบกลุ่มธุรกิจการเมือง
ประชานิยมที่เปลี่ยนมาเรียกว่า “ประชาวิวัฒน์” ที่เด่นดังเกี่ยวกับภาคเกษตรกรรมฐานหลักเศรษฐกิจไทย อาทิ โครงการประกันรายได้เกษตรกรเกือบ 5 ล้านคน แก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร หมอหนี้ และโครงการแก้หนี้นอกระบบเกือบ 6 แสนราย ส่วนที่เอาใจชนชั้นกลาง(ค่อนข้างจน) เช่น แคมเปญฮือฮากู้ซื้อบ้านหลังแรกไม่เกิน 3 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0%นาน 2ปี และยังปล่อยกู้แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซด์ หาบเร่แผงลอย
การแก้ปัญหาสไตล์ราชการที่อืดอาด ไม่ทำให้การเร่งสปีดประชาวิวัฒน์โค้งสุดท้ายของรัฐบาลนักเรียนนอกอภิทธิ์ ที่ควงแขนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชื่อ “กรณ์ จาติกวณิช” โดนใจพอจะส่งให้ประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งกลับมาเป็นรัฐบาลอีก ภายหลังตัดสินใจยุบสภา และทิ้งทวนด้วยประชุมคณะรัฐมนตรีนัดสุดท้ายอนุมัติโครงการต่างๆเฉียดแสนล้านบาท
“นารีขี่ม้าแดง 15 ล้านคะแนนเสียง” กับ 4 เดือนรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
หลังเลือกตั้ง ส.ค.54 “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่ไม่เคยอยู่ในเวทีการเมืองได้รับ 15 ล้านคะแนนเสียงหย่อนบัตรขึ้นเป็น “นารีขี่ม้าแดง” บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหญิงไทยคนแรก ท่ามกลางสายตาประมาณคู่มิได้ที่จับจ้องว่าเป็น “การเมืองแบบตัวแทน” อิมพอร์ตจากดูไบ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ประชานิยมเพื่อไทย” ฮือฮาโดนใจชาวบ้านรากหญ้า-ขยับฐานเอาใจคนชั้นกลางรายได้น้อย เป็นแรงผลักสำคัญการเปลี่ยนรัฐนาวาเช่นกัน
นอกจากการเมืองแบ่งสีที่เปลี่ยนรูปแบบจากท้องถนนสู่สภาฯมากขึ้น นำอดีตผู้นำรัฐประหารโค่นนายกฯทักษิณปี 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่เข้าสู่สภาในฐานะ สส.คนเดียวหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ มาเป็นหัวหน้าคณะกรรมการปรองดอง ภายใต้บริบทการเมืองที่ซีกหนึ่งผลักดันแก้รัฐธรรมนูญ พ.ร.ฏ.นิรโทษกรรม(ด้วยคำติฉินเพื่อนำทักษิณกลับไทย) และข้อหาสลายการชุมนุมหัวหน้ารัฐบาลชุดก่อน อีกซีกก็คดีก่อจราจลคนเสื้อแดง ความปรองดองภายใต้หลักนิติรัฐนิติธรรม เป็นแค่ฝันหรือแปรสภาพ “ยอมความ” คงต้องดูกันไป
แต่ข้อเสนอเล่มหนาเตอะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของ คปร.-คสป.วันนี้หายเข้ากลีบเมฆ ไม่นับรวมอีกหลายๆเรื่อง โฉนดชุมชน กฏหมายภาษีที่ดิน หรือที่ถูกจับเขวี้ยงทิ้งอย่างโครงการประกันรายได้ และเช็คบิลล์งบไทยเข้มแข็ง 1.8 หมื่นล้านบาทพ่วงข้อหาว่า “โกง”
ล้วนเป็นสัจธรรมว่า “เมื่อการเมืองเปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยนได้” แม้กระทั่งวาระเพื่อประชาชน!!
ลองไปติดตามความคืบหน้าประชานิยมภาคเกษตร ภาคชุมชน ภาคแรงงาน และภาคกลางศึกษาของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์-พรรคเพื่อไทย” จากสัญญาประชาคมก่อนเลือกตั้ง และ 4 เดือนรัฐนาวาใหม่….
โยนทิ้งประกันรายได้ แทนที่ด้วย “จำนำข้าว-บัตรเครดิตชาวนา“
“โครงการรับจำนำข้าว(ทุกเม็ด)” รัฐบาลเพื่อไทย ภายหลังล้มประกันรายได้เกษตรกรประชาธิปัตย์ ทุ่มงบกว่า 4 แสนล้านบาทตั้งเป้า19-20 ล้านตันข้าวเปลือกนาปี 2554/2555 ตั้งแต่ 7 ต.ค.54-29 ก.พ.55 พร้อมแพ็คเก็จ “บัตรเครดิตชาวนา” เพื่อป้องกันทุจริตโครงการ โดยให้สินเชื่อ 70%ของมูลค่าผลผลิตข้าวที่เข้าโครงการ ให้เกษตรกรนำบัตรไปรูดซื้อปัจจัยการผลิตราคาย่อมเยาว์ เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย การใช้จ่ายก็จะเป็นฐานข้อมูลไปด้วย
ท่ามกลางเสียงคัดค้านว่าบิดเบือนกลไกตลาด ที่ราคากลางตันละ 1 หมื่น แต่รับจำนำ 1.5 หมื่นบาท แปลง่ายๆว่าขาดทุนยับ และยังเปิดช่องความไม่โปร่งใส ซึ่งเคยมีบทเรียนจากอดีต เช่น สต็อคลม สวมสิทธิ์ ส่วนบัตรเครดิตนั้นมีเสียงท้วงติงว่า “ต้องมาควบคู่ทักษะและวินัยการเงินที่คุ้มค่ากับการลงทุน” มิเช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับ “การสร้างหนี้” ที่วันนี้เกษตรกรไทยมีหนี้สินท่วมตัวไม่เฉพาะกับ ธ.ก.ส. แต่รวมหนี้นอกระบบที่ส่งทอดเป็นมรดกจนลูกหลานรุ่นใหม่ไม่สนใจจะเดินตามบรรพบุรุษที่มองไม่เห็นอนาคต
แต่พิษน้ำท่วมร่วม 2 เดือน ทำให้โครงการไม่เดินหน้า เพราะนาข้าวจมน้ำกว่า 10 ล้านไร่ ตีเป็นข้าวเปลือก 7-8 ล้านตัน จึงมีข้าวเข้าโครงการไม่ถึง 3 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอีสานและภาคเหนือ เพราะภาคกลางอ่วมน้ำ จนมีเสียงเรียกร้องให้ขยายเวลาจำนำข้าวออกไป
ด้านความช่วยเหลือน้ำท่วม คือเงินชดเชยไร่ละ 2 พันกว่าบาท เงินกู้ฟื้นฟูอาชีพไม่เกินรายละ 1 แสนบาท และโครงการพักหนี้ 3 ปี ซึ่งแม้ปี 55 แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรยังแพงทั้งจากปัจจัยน้ำท่วมและนโยบายแทรกแซงราคา นับว่าเป็นผลดีกับชาวนาที่จะเร่งเพาะปลูกทดแทนความเสียหาย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็มีแนวทางส่งเสริมปลูกข้าวนาปรัง 2 รอบ แต่ปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ก็ต้องได้รับการแก้ไขทันท่วงที ซึ่งปริมาณที่กรมการข้าวแจกนอกจากไม่ทั่วถึงพอเพียงยังมีเสียงบ่นด้อยคุณภาพ
ส่วนบัตรเครดิตชาวนาจาก ม.ค.55 เลื่อนเป็นกลาง ก.พ.จะติดตั้งระบบใน 5 สาขา ธ.ก.ส 10 ร้านค้า พร้อมแจกให้ชาวนา 5,000 ใบใน 5 จังหวัด เชียงใหม่ อยุธยา อุดรธานี ลพบุรี สระบุรี คาดว่าก่อนฤดูเพาะปลูก พ.ค.-มิ.ย.55 จะติดตั้งอีก 1,000 สาขา ธ.ก.ส. 3,000 ร้านค้า ทยอยแจก 1 ล้านใบปี 55 และอีก 1 ล้านใบปี 56
นอกจากนี้ยังมีโครงการพักหนี้ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 5 แสนบาท อย่างน้อย 3 ปี และปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้มีหนี้เกิน 5 แสนบาท ที่จะผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)
โยก “งบไทยเข้มแข็ง” ใส่กระเป๋า “กองทุนหมู่บ้าน” รีเทิร์น
ไม่แปลกที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์หยิบ “โครงการกองทุนหมู่บ้าน(ละล้านบาท)” ขึ้นมาชู เพราะนอกจากเป็นประชานิยมได้ใจรากหญ้าสมัยรัฐบาลทักษิณ ถ้าจะมองไปที่สาระ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจรัฐบาลอภิสิทธิ์ ยังขานรับแนวคิด “หม่อมอุ๋ย”-ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี-ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมปัดฝุ่นโครงการนี้มาใช้ ด้วยเหตุผลที่ว่า “นโยบายดี แต่เจ๊งหนี้เสีย เพราะไม่มีวินัยการเงิน” ถ้าแก้ไขข้อบกพร่องได้ เม็ดเงินเหล่านี้จะลงไปพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้าที่สุดระดับหมู่บ้าน เกิดการลงทุนสร้างงานสร้างอาชีพท้องถิ่น และช่วยแก้ปัญหาเงินกู้นอกระบบ
รัฐบาลยังอัพเกรดเป็น “กองทุนหมู่บ้าน(และชุมชนเมือง) 1 ล้านบาท” โดยจะเร่งเดินหน้า พ่วงด้วยสานต่อโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ “โอท็อป” ซึ่งจะส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น ผ่าน 1.กองทุนหมู่บ้าน เพิ่มขึ้นอีกแห่งละ 1 ล้านบาท 2.เงินเเอสเอ็มแอลเพิ่มขึ้นตามขนาดชุมชน 3-5 แสนบาท 3.กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จังหวัดละ 100 ล้านบาท 4.กองทุนตั้งตัวได้ 1,000 ล้านบาทให้ผู้ประกอบการรายย่อยกู้ยืม
แต่ต้องไม่ลืมว่าโอท็อปไทยที่บูมสมัยรัฐบาลทักษิณ ผ่านมา10 ปีเจ๊งไปนักต่อนัก ศูนย์กระจายสินค้าร้างปรากฏเป็นอนุสรณ์ มีน้อยรายอยู่รอดเพราะสินค้ามีเอกลักษณ์ท้องถิ่นและจัดการเป็นทั้งเงินและการตลาด
ผู้ใช้แรงงานรอ“ค่าจ้างขั้นต่ำ 300บาท” 1 เม.ย.55
ประชานิยมร้อนมาแรงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่พ้น “เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ” ได้ใจกรรมกรสุดๆ เพราะค่าครองชีพปัจจุบันถีบตัวจนหาเช้ากินค่ำแทบไม่พอ จากที่กำหนดเอาฤกษ์ปีใหม่ 1 ม.ค.55 ดีเลย์เป็น 1 เม.ย.55 จากทั่วประเทศเป็นนำร่อง 7 จังหวัด กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ภูเก็ต ส่วนทั่วประเทศนั้นต้องรอเป็น 1 เมย.56
ด้านหนึ่งขบวนแรงงงานออกมาประท้วงผิดสัญญา อีกด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยส่งเสียงว่าจะฟ้องศาลระงับนโยบาย เพราะเป็นการปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดรวดเดียวราว 40% กระทบผู้ประกอบการรายเล็ก-กลางกว่า 2 ล้านราย และยังซ้ำเติมสถานประกอบการที่กำลังสาหัสจากน้ำท่วม ไม่นับรวมผลต่อการลงทุน การจ้างงาน และในที่สุดอาจย้อนกลับมาที่การปลดคนงาน หรือขึ้นราคาสินค้าผลักภาระให้ผู้บริโภค
ข้อมูลที่ไม่ควรละเลยคือ วิกฤตน้ำท่วมทำให้แรงงานถูกเลิกจ้างแล้วกว่า 2 หมื่นราย ยังมีลุ้นอีกไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน และเสียงแว่วออกมาว่าผู้ประกอบการจะถือโอกาสโละคนใช้ครื่องจักรแทน หนีนโยบายขึ้นค่าแรง
“เปิดเทอม พ.ค.นิ้ น้อง ป.1 หิ้วแท็ปเล็ตแทนหนังสือเรียน”
โครงการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็ปเล็ตให้โรงเรียน โดยนำร่องนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จากที่ประกาศใช้ปีการศึกษา 2554 ล่าสุดทันได้ใช้เปิดเทอม 17 พ.ค.55 (โดยจะหัดคุณครูให้ใช้เป็นก่อนภายใน เม.ย.นี้)
รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงศึกษาธิการยังมีดำริจะโยกงบซื้อหนังสือเรียนในโครงการเรียนดีเรียนฟรี 15 ปี มาซื้อแท็ปเล็ตด้วย โดยบรรจุสาระวิชาเรียนที่พร้อมลงไป มีทั้งเสียงเฮหนุน และส่ายหน้าค้านว่าให้ ป.1 ใช้แท็ปเล็ตจะสร้างปัญหามากกว่า เพราะยังเล็กเกินไป และพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ของเด็กส่วนใหญ่คือเล่นเกมส์และเฟซบุ๊ค แต่หากจะให้ใช้จริงๆต้องมีมาตรการรองรับ เช่น บล็อกเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม
ยังพ่วงด้วย “โครงการอินเตอร์เน็ตไร้สายฟรี” (Free WiFi) เพื่อลดช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยี ตั้งเป้า 250,000 จุดใน 5 ปี นำร่อง 20,000 จุดแล้ว และ ต.ค.55 จะให้ถึง 40,000 จุดครอบคลุม 77 ศาลากลางจังหวัด 878 ที่ว่าการอำเภอ 2,010 เทศบาล 7,355 ตำบล 5,765 อบต. 12,355 โรงเรียน 1,278โรงพยาบาล 8,269 สถานีตำรวจ
ต้อนรับ “ปีมะโรง'55” ภายใต้ “ประชานิยม 2 แสนล้านบาท”
งแม้ถูกกร่นด่าบริหารน้ำท่วมยอดแย่ ไร้ประสิทธิภาพ-ขาดบูรณาการ ยังสร้างข้อสงสัยทุจริตของบริจาค-ความคลางแคลงงบช่วยน้ำท่วม 1.2 แสนล้านบาท จนสภาทนายความ-อาจารย์มหาวิทยาลัย-สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนนำชาวบ้านฟ้องเรียกค่าอ่วมน้ำจากรัฐบาล และท่ามกลางการเมืองที่ยังร้อนแรง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังคงยืนยันเดินหน้าบรรดาประชานิยม อย่างไม่แคร์เสียงท้วงติงว่าการใช้งบประมาณ 2 แสนล้านจากภาษีรวมทั้งหนี้สาธารณะผูกพันธ์อนาคตที่คนไทยต้องแบกรับนั้นถูกที่-ถูกเวลาหรือไม่? มีอะไรเหลือรองรับวิกฤตอนาคต?
นอกจากประชานิยมรากหญ้า ยังเอาใจคนชั้นกลางปล่อยกู้“บ้านหลังแรก(ราคาไม่เกินล้าน)” ดอกเบี้ย 0% ช่วง 3 ปี คืนภาษีสรรพสามิตซื้อ “รถคันแรก” ท่ามกลางภาวะที่ยังจ่ายชดเชยบ้านและฟื้นฟูน้ำท่วมไม่เต็มที่
ข่าวดีท้ายปี ผู้สูงอายุได้ “เบี้ยยังชีพเพิ่มแบบขั้นบันได” อายุ 60-69 ปีได้เดือนละ 600 บาท 70-79ปี 700บาท 80-89ปี 800 บาท และ 90ปีขึ้นไป 1,000บาท และข่าวดีปีใหม่ข้าราชการขยับเงินเดือนขั้นต่ำ 1.5 หมื่นบาท
…………….…….
ปี 2555 คนไทยต้องเผชิญกับข้าวของที่จ่อขึ้นราคา ทั้งจากปัจจัยน้ำท่วมพื้นที่เกษตร นโยบายประชานิยม(จำนำข้าว/ค่าแรงขั้นต่ำ) ยังไม่นับรวมความผันผวนเศรษฐกิจโลก เช่น ราคาน้ำมัน วิกฤตยุโรป ฯลฯ
ได้ยินคำว่า “ประชานิยม” ทีไรนึกถึงประโยค “ของฟรีไม่มีในโลก” อยู่ที่ว่าต้องแลกกับอะไร? คุ้มหรือไม่?...รวมทั้งภาษิต “ให้เครื่องมือหาปลา ดีกว่ายื่นปลาให้กินหมดไปวันๆ”
ขอให้พวกเราคนไทยโชคดีปีมะโรง 2555 เคราะห์ร้ายหายไปกับน้ำเน่า สิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตและสังคม!!
ที่มาภาพ : http://news.voicetv.co.th/thailand/11184.html, http://www.nithan.in.th/คนหาปลากับพราน, http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXdNakkzTURVMU5BPT0%3D§ionid=TURNd01RPT0%3D&day=TWpBeE1TMHdOUzB5Tnc9PQ%3D%3D, http://www.oknation.net/blog/Sp-Report/2011/07/18/