6 องค์กรสิทธิฯ แถลงการณ์ขอให้ยุติการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก และปล่อยผู้ถูกควบคุมตัว
แถลงการณ์ให้ยุติการปิดการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ
และปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวโดยทันที
สืบเนื่องจากกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารได้ทำการจับกุมควบคุมตัวนักกิจกรรมรวม 13 คน ที่จัดกิจกรรมแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกพื้นที่ ที่ตลาดเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 23 มิถุนายน 2559 พร้อมทั้งแจ้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองเป็นจำนวน 5 คนขึ้นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ซึ่งขณะนี้นักศึกษา 7 ใน 13 ราย ยังถูกควบคุมตัวภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
อีกทั้ง ในช่วงสายของวันที่ 24 มิถุนายน 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวนักศึกษาและนักกิจกรรมอีก 7 คนที่จัดกิจกรรม "ปัดฝุ่นประชาธิปไตย" ณ อนุสาวรีย์ปราบกบฎ (หลักสี่) เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 24 มิถุนายน 2475 ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาทั้ง 7 คนในข้อหาขัดคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว และขอยืนยันหลักการสิทธิเสรีภาพที่รัฐต้องให้การเคารพและคุ้มครอง ดังต่อไปนี้
1. เสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) ซึ่งเป็นสิทธิที่รับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย[1] และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม โดยกติกาฯดังกล่าวได้ประกันสิทธิของบุคคลทุกคนที่จะถือเอาความคิดเห็นใดๆโดยปราศจากการแทรกแซง และบุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและกระจายข่าวและความคิดเห็นทุกรูปแบบ[2] เพราะถือว่า สิทธิเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในการที่จะส่งเสริมให้เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์[3] และถือเป็นกลไกสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของประชาชน อันจะนำไปสู่การมีข้อเสนอที่มีความเหมาะสมในประเด็นต่างๆที่กระทบต่อประชาชนและเป็นที่ยอมรับของประชาชน
ที่ผ่านมารัฐไทยมีการละเมิดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนอยู่อย่างต่อเนื่องผ่านการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน โดยเฉพาะการใช้ข้อกล่าวหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยอ้างความไม่ปกติของสถานการณ์บ้านเมืองหรือความมั่งคงของรัฐ ทั้งที่การแสดงออกของบุคคลในหลายกรณี รวมถึงกรณีการจับกุมควบคุมตัวกลุ่มรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญ และการแสดงออกเพื่อระลึกถึงคณะราษฏรดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบและยังห่างไกลจากการกระทบต่อความมั่นคงของชาติดังที่เจ้าหน้าที่มักกล่าวอ้าง ดังนั้น การตั้งข้อกล่าวหาทางอาญาเพื่อจำกัดหรือปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกในกรณีดังกล่าว จึงเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสงดออก ผ่านการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในทางที่มิชอบและเป็นไปโดยอำเภอใจ
2. สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองในทางการเมือง เป็นสิทธิที่รับรองไว้ทั้งในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งการมีส่วนร่วมในเรื่องรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกติกาสูงสุดในการปกครองประเทศและเป็นกติกาที่กำหนดเรื่องทางการเมือง ระบบเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงหลักประกันสิทธิต่างๆของประชาชน ประชาชนจะต้องสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อกำหนดเจตจำนงของตนเองได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น การกีดกันหรือไม่ยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และกว้างขว้าง ดังจะเห็นได้จากการออกมาข่มขู่ประชาชนอยู่เสมอและมีการจับกุมและตั้งข้อกล่าวหาแก่ประชาชนที่รณรงค์ในทางที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ผ่านกฎหมายที่หลากหลาย ทั้งคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 รวมทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 กรณีเช่นนี้ถือเป็นการขัดขวางไม่ให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงของตนได้อย่างเสรี
3. สิทธิที่จะได้รับการดำเนินคดีที่เป็นธรรม (Rights to Fair Trial) เป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง[4] และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย[5] โดยสิทธิประการดังกล่าวกำหนดห้ามมิให้จับกุมหรือควบคุมบุคคลโดยอำเภอใจเว้นแต่โดยเหตุและเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย[6] โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้การจับโดยทั่วไปต้องมีหมายจับที่ออกโดยศาลและมีเหตุแห่งการออกหมายจับ[7] การจับกุมควบคุมตัวบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการมีส่วนร่วมกำหนดเจตจำนงของตนเองในทางการเมืองและการแสดงออกโดยสันติวิธีซึ่งเป็นหลักสิทธิมนุษยชนที่ถูกรับรองไว้ด้วยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และยิ่งเป็นการจับกุมโดยไม่มีหมายหรือคำสั่งของศาลแล้ว การจับกุมควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำโดยไม่ชอบและอำเภอใจ ไม่มีเหตุผลอันสมควรและไม่เป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
สิทธิในการเข้าถึงศาลที่เป็นอิสระ เป็นกลาง และมีอำนาจและตั้งขึ้นตามกฎหมาย[8] เป็นหลักประกันสิทธิบุคคลที่จะได้รับการดำเนินคดีที่เป็นธรรมที่กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีตามกฎหมายวิธีพิจารณาความโดยศาลปกติ[9] โดยการพิจารณาคดีโดยศาลทหารนั้น จะจำกัดเฉพาะความผิดที่เกี่ยวข้องกับทหาร และศาลทหารจะไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีของพลเรือน เว้นแต่เมื่อไม่มีศาลพลเรือนอยู่หรือศาลพลเรือนตามปกติไม่สามารถดำเนินการพิจารณาคดีได้[10] ดังนั้น การกำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีที่พลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และพยายามตั้งข้อกล่าวหาที่สามารถนำพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหาร ซึ่งมีปัญหาเรื่องความเป็นอิสระและเป็นกลาง ทั้งที่ศาลพลเรือนยังมีอยู่และยังทำหน้าที่ของตนได้นั้น ย่อมเป็นการละเมิดต่อหลักสิทธิที่จะได้รับการดำเนินคดีที่เป็นธรรมดังกล่าว
องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจ ตลอดจนศาลทหารและองคาพยพต่างๆที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้โดยทันที
1. ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวจากกรณีการกิจกรรมแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนโดนทันที
2. ยุติการดำเนินคดีกับนักศึกษา นักกิจกรรมและประชาชนทั้งหมดที่เคลื่อนไหวรณรงค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญโดยสงบ และใช้เสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมโดยสงบในประเด็นอื่นๆ
3. ยุติการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการจำกัดหรือปิดกั้นการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบของประชาชนพร้อมทั้งต้องเปิดพื้นที่ในการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น ทั้งในทางการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญ การกำหนดนโยบายสาธารณะ และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
4. คสช. ต้องทบทวนเพื่อยกเลิกกฎหมายที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและไร้การตรวจสอบ โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558
5. ต้องยกเลิกการนำกระบวนการยุติธรรมทหารมาใช้กับพลเรือน และกลับไปใช้กระบวนการยุติธรรมปกติโดยทันที
ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw)
ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
[1] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4
[2] International Covenant on Civil and Political Rights article 19 (1) (2)
[3] Human Rights Committee, International Covenant on Civil and Political Rights, General Comment No.34, 12 September 2011, para.2
[4] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ข้อ 6– 9
[5] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4
[6] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ข้อ 9
[7] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66
[8] โปรดดู กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ข้อ 14 (1)
[9] หลักการพื้นฐานสหประชาชาติว่าด้วยความเป็นอิสระของศาล ค.ศ. 1985 ข้อ 5
[10] หลักการที่ 5 ของ International Standard Principles Governing the Administration of Justice Through Military Tribunals, United Nations Economic and Social Council
ขอบคุณภาพประกอบจาก ประชาไท TV