ความหวัง..ความฝัน..ชีวิตจริง บุตรหลานแรงงานต่างด้าว หลัง'ซูจี'เยือนไทย
"หนูเรียนอยู่ในโรงเรียนไทย (ร.ร.วัดกำพร้า) และอยู่ในวงดุริยางค์ของโรงเรียน ชอบเล่นดนตรีและร้องเพลง อยากเป็นนักดนตรีนักร้อง ... ผมอยากเป็นตำรวจครับ ผมอยากเป็นทหาร .. พวกหนูอยากเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย" ถ้อยคำจากเยาวชนในมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)
เป็นที่ทราบกันดีว่าในการเดินทางมาประเทศไทย ของ นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐเมียนมา มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN ได้ร่วมกับ เครือข่ายความร่วมมือแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย และ คณะกรรมการสมานฉันท์คุ้มครองสิทธิแรงงาน จัดเวทีและแถลงข่าวเรื่อง "เสียงจากแรงงานข้ามชาติชาวพม่าถึงนางออง ซาน ซูจี เพื่อสุข สันติภาพ และความยุติธรรมในประเทศไทย" โดยเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติที่มาเข้าร่วมกิจกรรมเขียนแสดงความคิดเห็น และความต้องการที่อยากจะสะท้อนให้ นางออง ซาน ซูจี ได้รับทราบ เบื้องต้น สรุปออกมาได้ 5 ข้อ ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างในสังคมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะ ในสังคมออนไลน์ ที่เกิดกระแสด้านลบเป็นอย่างมาก ซึ่งข้อเรียกร้องทั้งห้า ได้แก่
1.ขอให้รัฐบาลเมียนมาร่วมกับรัฐบาลไทยเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามรอบใหม่
2.ขอให้ประสานกับทางการไทย ติดตามและบังคับใช้กฎหมายให้นายจ้างไทย จ่ายค่าจ้างตามข้อกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท
3.ขอให้ประสานงานกับทางการไทย เพื่อให้สิทธิแรงงานเมียนมาที่มีบัตรสีชมพู สามารถเดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ ได้ โดยไม่ถูกจำกัดการเดินทางอยู่ในจังหวัดที่ทำงาน เท่านั้น
4.ขอให้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างทางการไทยกับเมียนมา ในการนำเข้าแรงงานเมียนมา มาทำงานในไทย โดยผ่านระบบรัฐต่อรัฐ ไม่มีกระบวนการนายหน้าเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์
5.ขอให้ทางการไทยดูแลบุตรหลานแรงงานเมียนมาให้ได้รับการศึกษาและสาธารณสุข รวมทั้ง สามารถเทียบโอนวุฒิการศึกษาระหว่างไทยกับเมียนมาได้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 - 26 มิ.ย. 2559 ที่ผ่านมา สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศไทย จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ 'การรายงานข่าวด้านสิทธิเด็ก' ที่สนับสนุนโดย องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย ที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มี นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผอ.สถาบันอิศรา กล่าวเปิดการสัมมนา มี สื่อมวลชนสำนักต่าง ๆ เข้าร่วมทั้งหมด 23 คน
และมี Mrs.Kathryn Bice ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำข่าวสิทธิเด็ก จากประเทศออสเตรเลีย เดินทางมาร่วมเป็นวิทยากรหลัก ให้ความรู้เรื่องกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็ก เทคนิคการสัมภาษณ์แหล่งข่าวเด็ก เทคนิคและข้อควรระวังในการใช้ภาพข่าวที่เกี่ยวกับเด็ก จริยธรรมในการทำข่าวสิทธิเด็ก รวมถึง การลงพื้นที่เรียนรู้กระบวนการทำข่าวสิทธิเด็ก
"ให้คิดว่าตนเองเป็นเด็ก และคิดว่า หากมีสื่อ ฯ มาทำกับเราแบบนี้ เราจะรู้สึกอย่างไร ดังนั้น ให้คิดถึงผลประโยชน์สูงสุดที่ตัวเด็กจะได้รับ" เป็นสาระสำคัญที่วิทยากรผู้เชี่ยวชาญการทำข่าวสิทธิเด็กชาวออสเตรเลีย กล่าวย้ำในทุกหัวข้อที่เป็นวิทยากร
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในหัวข้อการเสวนา เรื่อง 'ปัญหาการใช้แรงงานเด็กในพื้นที่สมุทรสาคร' มี นายกฤช สุขก่ำ นักวิชาการแรงงงาน หัวหน้าฝ่ายตรวจแรงงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สมุทรสาคร และ นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Rights Promotion Network Foundation : LPN) จ.สมุทรสาคร ร่วมเป็นวิทยากร
นายกฤช สุขก่ำ นักวิชาการแรงงาน กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ เนื่องจาก ข้อมูลระบุว่า จ.สมุทรสาคร มีอัตราการใช้แรงงานเด็กจำนวนมาก เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะ แรงงานบังคับ ซึ่งเป็นแรงงานเด็ก ทั้งนี้ จ.สมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มีโรงงานอยู่มากถึง 6,000 กว่าแห่ง ด้วยงบลงทุนกว่า 7 แสนล้านบาท และยังมี สถานประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนอีกประมาณ 10,000 แห่ง และสถานประกอบการขนาดเล็ก (เรียกอีกอย่าง ว่า 'ล้ง') อีกประมาณ 700-800 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ทำการแปรรูปสัตว์น้ำขั้นต้น ด้วยเหตุผลที่ว่า จ.สมุทรสาคร มีเรือประมงจอดเทียบฝั่งเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศด้วย
อีกทั้ง ระบุด้วยว่า "ประเทศไทยประสบปัญหาการขยายตัวของประชากร และกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยในอีกไม่ถึง 10 ปี โดย ได้แบ่งแรงงานต่าวด้าวใน จ.สมุทรสาคร ออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ 1.แรงงานชาวลาว ประมาณ 8,000 กว่าคน โดย แรงงานเหล่านี้มีความถนัดในงานด้านบริการ รวมถึง งานรับใช้ในบ้าน 2.แรงงานชาวกัมพูชา ประมาณ 10,000 กว่าคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเเรงงานก่อสร้าง และลูกจ้างตามร้านค้าส่งต่าง ๆ 3.แรงงานชาวพม่า ประมาณ 220,700 คน เป็นแรงงงานที่มีจำนวนมากที่สุดในจังหวัด มีทั้งแรงงานกรรมกรก่อสร้าง จนถึง แรงงานโรงงาน รวมทั้งสิ้น 440,000 กว่าคน คิดเป็น 44.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประชากรชาวไทยมีประมาณ 500,000 กว่าคน"
ส่วน นายสมพงษ์ ผอ.มูลนิธิ LPN ระบุว่า เข้าใจที่คนไทยบางกลุ่ม แสดงความไม่พอใจ กรณีข้อเรียกร้องประเด็นสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติ แต่หากคิดย้อนในมุมกลับกัน คนไทยที่ไปทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็อยากได้รับค่าแรงเท่ากับชาวอเมริกัน อยากได้รับหลักประกันสุขภาพ ให้ลูกหลานแรงงานไทยได้รับการศึกษา และสามารถเดินทางไปไหนมาไหนก็ได้อย่างเสรี่ ซึงเราสามารถทำได้ เนื่องจาก เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นกติกาสากลของโลกที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงแต่ประเทศไทยยังไม่ได้ดำเนินการให้สิทธิแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ ให้ได้รับสิทธิอย่างที่ควรได้รับ ทั้งที่ มีกฎหมายให้สิทธิ
จากการลงพื้นที่ทำข่าว บริเวณมูลนิธิ LPN หมู่บ้านมหาชัยเมืองทอง จ.สมุทรสาคร ในวันที่ 25 มิ.ย. 2559 นายสมัคร ทัพธานี เจ้าหน้าที่มูลนิธิ LPN กล่าวถึงกรณีการให้การศึกษาแก่บุตรหลานแรงงานต่างด้าว ว่า ทางมูลนิธิได้พยายามทำกิจกรรมร่วมกับผู้ปกครองของเด็ก ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าว ที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลบุตรหลาน เนื่องจาก ทำงานในโรงงาน ทำงานเป็นกะ ซึ่งบางคนทำงาน 6-7 วันต่อสัปดาห์ สำหรับแรงงานที่มีบุตร บ้างก็จะปล่อยให้เด็กอยู่ในห้อง บ้างก็ให้ไปทำงานตามล้งแปรรูปสัตว์น้ำต่าง ๆ อย่างไรก็ดี ทางมูลนิธิได้มีการประสานงานกับทางผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศรีสุทธาราม (วัดกำพร้า) เพื่อให้การศึกษากับเด็ก ๆ เหล่านี้ และมีการจัดเวรให้กับเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ฯ ในการรับ-ส่งเด็กไปโรงเรียน และกลับบ้าน
นายอานันท์ รุ่งสว่าง นักศีกษาฝึกงาน คณะสังคมศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์ การเมือง การปกครอง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดเผยผู้สื่อข่าว 'อิศรา' ว่า ฝึกงานที่มูลนิธิ LPN ได้ประมาณ 2 เดือนแล้ว ซึ่งตนเองมีหน้าที่คอยรับส่งเด็ก คอยดูแลเด็กเวลาไปโรงเรียน และกลับบ้าน รวมถึง กิจกรรมอื่น ๆ
โดย เมื่อถามว่า หลักสูตรที่ใช้สอนเด็กเป็นหลักสูตรไทยใช่หรือมไม่ เด็กมีปัญหาในการสื่อสารหรือไม่ นายอานันท์ ระบุว่า "ใช่ครับ หลักสูตรที่ใช้สอนเป็นหลักสูตรภาษาไทย แต่สำหรับเด็ก ๆ ที่เข้ามาใหม่เราจะมีหลักสูตรเรียนเตรียมด้วย ซึ่งจะมีเด็กต่างด้าวรุ่นพี่ที่สามารถเข้าใจ และพูดไทยได้บ้างแล้ว เข้าไปเรียนกับน้อง ๆ ที่มาใหม่ ให้คำปรึกษาจนกว่าน้องใหม่จะเข้าใจ และพร้อมที่จะเข้าสู้ระบบการศึกษา ส่วนเรื่องหน้าที่รับ-ส่ง พวกผมเด็กฝึกงานก็จัดเวรแบ่งหน้าที่กันในการรับ-ส่งน้อง ๆ เพราะเราพร้อมที่จะช่วยในทุก ๆ อย่าง"
ต่อมา ผู้สื่อข่าวมีโอกาสได้พูดคุยกับน้อง ๆ กลุ่มหนึ่งภายในมูลนิธิ LPN ซึ่งกำลังนั่งจับกลุ่มเล่นอูคูเลเล่ร้องเพลงกันอยู่ เด็กสาวพม่ารายหนึ่ง เผยว่า "หนูเรียนอยู่ในโรงเรียนไทย (ร.ร.วัดกำพร้า) และอยู่ในวงดุริยางค์ของโรงเรียน ชอบเล่นดนตรีและร้องเพลง อยากเป็นนักดนตรีนักร้อง" ขณะที่ เด็กชายอีกคน สำทับว่า "ผมอยากเป็นตำรวจครับ" "ผมอยากเป็นทหาร" และยังระบุด้วยว่า "พวกหนูอยากเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย"
เด็กหญิงคนเดิม กล่าวว่า อยากเรียนที่มหาวิทยาลัยทางภาคเหนือ ไม่อยากเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพ ฯ เนื่องจาก สามารถเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านได้ทาง อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งขณะนี้ มีอายุ 16 ปีแล้ว และกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ขณะที่ เด็กหญิงอีกคนระบุ อยากเข้าเรียนที่คณะคหกรรมศาสตร์ มรภ.สวนสุนันทา เพราะทราบมาว่า มีสูตรเบเกอรี่อร่อย และมีความฝันอยากเปิดร้านเบเกอรี่ที่บ้านเกิด
ทั้งนี้ เด็กกลุ่มนี้ระบุถึงการคุ้มครองด้านสาธารณสุข ว่า ทางโรงเรียนมีประกันสุขภาพให้ ซึ่งสามารถเข้ารักษาได้เพียงที่สถานีอนามัย ฯ เท่าน้ัน หากป่วยหนักถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล ครอบครัวต้องเสียค่าใช้จ่ายในราคาเต็ม ขณะที่ พ่อ-แม่ของตนทำงานโรงงานมีระบบประกันสังคม ฯ ที่หักจากเงินเดือนทุกเดือน
น่าสังเกตว่า การแสดงท่าที และความเห็นในทางลบต่อการยื่นข้อเสนอต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นั้น ยังคงมีอยู่ไม่ขาดสาย ทั้งที่ เป็นมาตรฐานสากล โดย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การปฏิบัติงาน ให้มีการเจรจาร่วมกันระหว่าง ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายแรงงาน ในกรณีที่มีความขัดแย้ง และพยายามแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยมีมติเป็นเอกฉันท์
และ ILO ได้ลำดับความสำคัญรีบด่วนไว้ 3 ประการ คือ 1.การจัดให้มีงานทำ และขจัดความยากจน 2.การคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน ในการฝึกอบรมแรงงานให้มีประสิทธิภาพ และตระหนักถึงภัยที่เกิดจากการทำงานในโรงงาน และ 3.ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิแห่งมนุษยชน โดย ช่วยเหลือในการออกกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน และอุตสาหกรรมสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับนายจ้าง สนับสนุนองค์การของผู้ใช้แรงงาน ได้กำหนดมาตรฐานสากลเกี่ยวกับแรงงาน
โดย องค์การ ILO คือ องค์การที่รัฐสมาชิกสหประชาชาติเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง และมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย รวมถึง ประเทศอื่น ๆ ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และ นิวซีแลนด์ ด้วย
ทั้งหมดนี้ คือ ความหวัง..ความฝัน..ชีวิตจริง ของลูกหลานแรงงานต่างด้าว ณ วันนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญที่มีการยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยและนางออง ซาน ซูจี ระหว่างการเดินทางมาเยื่อนไทยเป็นทางการไปเมื่อเร็วๆ นี้