“คนของชุมชน” ชีวิตนักต่อสู้รากหญ้า
รอบทศวรรษที่ผ่านมา ขบวนชุมชนลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ ทั้งโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่รุกรานสิทธิท้องถิ่นและความยุติธรรมที่พึงได้ ซึ่งมีทั้งชัยชนะและความสูญเสีย ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา สะท้อนบทเรียนเหล่านี้จาก “คนของชุมชน” นักต่อสู้เพื่อรากหญ้า
“จินตนา แก้วขาว” คุกไม่ได้ขัง พลังเพื่อชุมชน
ความร้อนระอุช่วงปลายปีคงหนีไม่พ้นกรณีพิพากษาตัดสินจำคุกนางจินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ กลางเดือนต.ค. เป็นเวลา 4 เดือน ถึงขนาดกลบกระแสน้ำท่วมได้ระยะหนึ่ง กรณีบุกเข้าในงานเลี้ยงครบรอบ 3 ปี โครงการโรงไฟฟ้าบ้านกรูดพร้อมน้ำปลาวาฬเป็นอาวุธ เพื่อต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูด-บ่อนอก จากนโยบายรัฐบาลชุดพ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร และผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าถ่านหินบริษัท ยูเนียนเพาเวอร์ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด จนสามารถล้มกระดานโครงการไม่เหลือชิ้นดี
กระทั่งได้รับพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อ 8 ธ.ค. นำสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชนตาดำ ๆ ถึงความเป็น 2 มาตรฐาน แห่งอำนาจรัฐ อำนาจทุน ในสังคมไทย จนภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั่งแทบไม่ติด ต้องรีบเหลียวหลังกลับมามองและพิจารณาให้ถี่ถ้วนถึงศักยภาพและสิทธิที่คนเหล่านี้พึงได้รับ
จึงยกให้ “จินตนา แก้วขาว” เป็นนักเรียกร้องสิทธิเพื่อชุมชนอันดับ 1 แห่งพ.ศ. นี้กับความกล้าหาญและเสียสละให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมและวิถีชีวิตที่ดีของชุมชน โดยปราศจากการครอบงำจากนายทุน
“แม้จะหลุดพ้นจากการจองจำ แต่พี่ยังคงยึดแนวทางเดิมในการเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิ คือ การใช้ขบวนการพี่น้องประชาชนในการขยายมวลชนการต่อสู้ให้ยึดหลักพึ่งพาตนเอง นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศ เพื่อกดดันให้ภาครัฐยกเลิกโครงการที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชน” ประโยคบอกเล่าจากปากนางจินตนา แก้วขาว ที่เปล่งออกมาด้วยแววตาแห่งความเด็ดเดี่ยว
จินตนา ยังบอกอีกว่า ประชาชนจำเป็นต้องมีแนวคิดข้ามผ่านระบบการเมืองให้ได้ แล้วหันมาให้ความสนใจการเมืองภาคประชาชนมากขึ้น ซึ่งพี่ได้ข้ามผ่านจุดนั้นแล้ว เห็นจากการชุมนุมตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ใช้ทั้งชีวิตและอิสรภาพเข้าแลก เพื่อล้มเลิกโครงการไม่เป็นธรรม จะเห็นว่าหลายชีวิตต้องสูญเสีย แต่นับว่าคุ้มค่า หากสามารถฟื้นชีวิตอีกหลายแสนคนได้
ขณะที่แนวคิดภาครัฐต่อการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยนั้น แกนนำเครือข่ายอนุรักษ์ฯ เสนอข้อคิดเห็นว่า ไม่สมควรสร้าง เพราะภาครัฐยังไม่แสดงให้เห็นถึงการจัดการที่ดี เพียงแค่การกำจัดกากอย่างเดียวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถตอบโจทย์แก่ประชาชนได้ มิหนำซ้ำข้าราชการ วิศวกรไม่ซื่อสัตย์ อาจส่งผลกระทบต่ออันตรายที่มาจากโรงไฟฟ้าเช่นประเทศอื่น
“หากภาครัฐยืนยันจะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แนะนำให้สร้างที่บางกรวย พื้นที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถ้าไม่มีผลกระทบ ประชาชนทั่วประเทศจะยอมรับและไม่ขัดขวางการก่อสร้างพื้นที่อื่น แต่แนวทางที่เป็นไปได้ขณะนี้ควรหันมาให้ความสำคัญการใช้พลังงานทดแทนให้มากและจัดสรรการใช้ไฟฟ้าอย่างเป็นธรรม”
“เจ๊กบ” ชูชาติ ดุลยประภัสสร : เพศสภาพไม่ใช่อุปสรรคงานพัฒนา
อันดับที่ 2 ของนักเรียกร้องสิทธิเพื่อชุมชนผู้นี้ แม้จะไม่โดดเด่นปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อโทรทัศน์มากนัก แต่นับว่าเป็นที่รู้จักไม่น้อย เมื่อนึกถึงผู้ใหญ่บ้านสาวประเภทสองคนแรกของประเทศ “นายชูชาติ ดุลยประภัสสร” หรือเจ๊กบนักพัฒนา
เจ๊กบได้รับเลือกตั้งดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ต.ท้ายบ้านใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ด้วยความที่เธอมีอุปนิสัยชอบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เช่น ต่อสู้กับโจรผู้ร้าย จับงูเหลือม หรือแม้กระทั่งการจัดการเรื่องพิธีศพ จนสร้างความประทับใจแก่ประชาชนในพื้นที่
“การเป็นผู้ใหญ่บ้านนั้นเป็นช่องทางที่แสดงถึงการเปิดกว้างถึงสิทธิของประชาชนไทยให้เห็นและยอมรับในศักยภาพของสาวประเภทสองก้าวสู่เส้นทางการเมือง พร้อมจุดประกายให้สาวประเภทสองคนอื่นกล้าที่จะเดินตามความฝัน เพราะปัจจุบันสิทธิตามกรอบกฎหมายให้โอกาสแล้ว ฉะนั้นเราต้องใช้สิทธิดังกล่าวให้บรรลุผล”
ประโยคสั้น ๆ แต่ได้ใจความบ่งบอกถึงตัวตนและความเชื่อมั่นที่มีอยู่ในเจ๊กบ พร้อมกล่าวสำทับต่อว่าสิทธิเป็นสิ่งที่ประชาชนพึงมี แต่ขณะนี้สังเกตว่ามีการนำมาใช้มากเกินไป จนไร้เหตุผล ส่งผลให้สังคมปราศจากความสงบเรียบร้อย
เจ๊กบ ยังกล่าวถึงโครงการในการพัฒนาชุมชนของตนเองในอนาคตว่า จะมีการดำเนินการตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยเฉพาะเศรษฐกิจพอเพียงให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น โดยการประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนอยู่อย่างพอดี พอมี และพอกิน สมศักยภาพของตนเอง นอกจากนี้การจัดผังแหล่งน้ำชุมชนถือเป็นเรื่องเร่งด่วนต้องจัดการ เนื่องจากแม่น้ำลำคลองตื้นเขิน ส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำ ประกอบกับมีการสร้างสิ่งกีดขวาง จึงต้องขุดลอกคลองเพื่อทันรับฤดูน้ำหลาก
“บุญยืน ศิริธรรม” สตรีคุ้มครองผู้บริโภค
สตรีวีรชนอีกหนึ่งคนที่ไม่กล่าวถึงเห็นจะยาก “บุญยืน ศิริธรรม” เข้าวินแซงโค้งเป็นที่ 3 ในฐานะประธานสหพันธ์คุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งยังเคยครอบครองรางวัลพลเมืองคนกล้า จากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเมื่อหลายปีก่อน
ปีนี้ถือเป็นปีทอง นับแต่มีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชื่อบุญยืนติดตลาดช่วงปลายปีอีกครั้ง กรณีวิพากษ์วิจารณ์ความคาดหวังต่อกรรมการกสทช. จนเสียวสันหลัง กลัวว่าจะถูกประท้วงขับไล่ หากปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง
“กสทช.ต้องดำเนินการจัดสรรคลื่นอย่างจริงจังและมีมาตรฐาน โดยฟังเสียงภาคประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่สำคัญต้องกำกับการทำหน้าที่ของพนักงานกสทช.ให้ตอบสนองประชาชนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพราะเกรงว่าอนาคตจะถูกกลุ่มอำนาจเงินเข้าแทรกแซงจนกระทั่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างคล่องตัว เช่นนั้นประชาชนจะลุกขึ้นมาขับไล่แน่นอน”
บุญยืนแสดงความคิดเห็นกรณีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมว่า ขณะนี้มีรายการไม่ประเทืองปัญญามากมายที่ริดรอนสิทธิการชมของประชาชน โดยเฉพาะรายการขายบริการทางเพศที่เกลื่อนหน้าจอแก้ว จนรู้สึกระอายต่อพฤติกรรมของผู้ผลิตและหน่วยงานกำกับดูแล ดังนั้นจึงควรควบคุมอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ประธานสหพันธ์คุ้มครองผู้บริโภคยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ตราบใดที่ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบและเรายังมีลมหายใจอยู่ สัญญาว่าจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยไม่เกรงกลัวต่ออำนาจมืด เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมแก่ผู้บริโภค ปราศจากการเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ
วันนี้บทบาทนักต่อสู้เรียกร้องสิทธิเพื่อชุมชนแต่ละคน แม้จะแตกต่างกันที่บริบทการก้าวเดิน แต่สามารถเป็นจุดเปลี่ยนให้กลุ่มคนระดับรากหญ้าสามารถผงาดโดดเด่นกลางสังคมไทย แม้จะต้องสูญสิ้นทั้งชีวิตและจิตใจก็นับว่าคุ้มค่ากับผลตอบรับที่เกิดขึ้นจนต้องจารึกไว้เป็นตำนาน
.....................................................
เส้นทางการต่อสู้เรียกร้องสิทธิชุมชนไทยยังอีกยาวไกล แต่ไม่ว่าชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ในวันนี้จะมีผลลัพภ์เช่นไร ล้วนแต่ตกตะกอนเป็นบทเรียนที่สำคัญของขบวนรากหญ้า ตั้งแต่ต้นปี 55 และต่อไป