นักการเมือง-เอกชนแทรกแซง! ชนวน สตง.ฟันงบแปรญัตติ สพฐ.ไม่คุ้มค่า-ส่อฮั้ว
“…สาเหตุที่สำคัญเนื่องมาจากมีการแทรกแซงจากภายนอกโดยผ่านทางกลุ่มการเมืองและหน่วยงานของ สพฐ. ในการจัดทำคุณลักษระเฉพาะและราคากลางของคณะกรรมการจัดทำคุณลักษณะเฉพาะฯ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องของโรงเรียน โดยให้ใช้ข้อมูลที่ได้รับมาจากภายนอก ได้แก่ ผู้แทนร้านค้า สพท. การประชุมเครือข่ายโรงเรียนระดับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ คณะทำงานของ ส.ส. และบุคคลภายนอก (ไม่ระบุชื่อ)…”
สาธารณชนอาจทราบไปแล้วว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปรายงานการตรวจสอบกรณีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เสนอคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555-2556 (งบแปรญัตติ) วงเงินประมาณ 7.2 พันล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเหตุอุทกภัย อุบัติภัย ช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554เนื่องจากเห็นว่า การดำเนินงานดังกล่าวอาจเข้าข่ายไม่มีความเร่งด่วนจริง และมีบางรายการดำเนินการไม่คุ้มค่าอีกด้วย
(อ่านประกอบ :ส.ส.ประสานบิ๊ก สพฐ.! เบื้องหลังแปรญัตติงบอ้างฟื้นฟูน้ำท่วม สตง.ฟันไม่คุ้มค่า)
เพื่อให้สาธารณชนทราบข้อเท็จจริงมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำรายการตรวจสอบฉบับเต็มมาสรุปให้เห็นกัน ดังนี้
กระทรวงศึกษาธิการโดยสานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เสนอคําขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 และ 2556 (งบแปรญัตติ) ในส่วนของงบลงทุนโดยจัดทําคําขอตามแนวทางและหลักเกณฑ์การเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งกําหนดให้เฉพาะรายการที่มีความจําเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริงและสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศทั้งนี้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 และ 2556 ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในงบลงทุน เป็นค่าครุภัณฑ์ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยและเพื่อแก้ไขปัญหาและทดแทนความขาดแคลน รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานจํานวนเงิน 4,459.42 และ 2,796.30 ล้านบาท ตามลําดับรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,255.72 ล้านบาท
สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จึงได้เลือกตรวจสอบการดําเนินงานการก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างที่ชํารุดทรุดโทรมและที่ประสบอุบัติภัยปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 และ 2556 (งบแปรญัตติ) เพื่อให้ทราบผลการดําเนินงานและปัญหาอุปสรรคต่างๆในการดําเนินงาน และเพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ไขต่อไป
จากการตรวจสอบ พบว่า มี 2 ประเด็นข้อตรวจพบที่สําคัญ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การเสนอขอเพิ่ม การพิจารณา และการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณพ.ศ. 2555 และ 2556 (งบแปรญัตติ) ไม่เป็นไปตามแนวทางและหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 และ 26 มิถุนายน 2555 เห็นชอบให้ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น เสนอคําขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณพ.ศ. 2555 และ 2556 (งบแปรญัตติ) ตามลําดับ เฉพาะรายการที่มีความจําเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริงและสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ โดยมีแนวทางและหลักเกณฑ์ให้ความสําคัญกับการดําเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ความเป็นอยู่และด้านคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งการป้องกัน แก้ไขปัญหาภัยพิบัติของประเทศอย่างยั่งยืน ให้เป็นรายจ่ายที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างชัดเจนต่อประเทศชาติและประชาชน
จากการตรวจสอบการเสนอขอเพิ่มการพิจารณาและการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณพ.ศ. 2555 และ 2556 (งบแปรญัตติ) ของ สพฐ. พบว่า มีการดําเนินการไม่เป็นไปตามแนวทางและหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีโดยมิได้เป็นรายการที่มีความจําเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1. การเสนอขอเพิ่มและการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจําปีพ.ศ. 2555 และ 2556(งบแปรญัตติ)
1.1 ขั้นตอนการดําเนินการของ สพฐ. เพื่อนําเสนอรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาให้ความเห็นชอบและส่งสํานักงบประมาณ มีการเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณพ.ศ. 2555 และ 2556 (งบแปรญัตติ) ในส่วนของแผนงานขยายโอกาสและพัฒนาการศึกษาและแผนงานสร้างและกระจายโอกาสทางการศึกษาที่สุ่มตรวจสอบ โดยไม่มีการสํารวจรายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริงตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในปีงบประมาณ 2555 สพฐ. มีการขอเพิ่มงบประมาณรายการค่าก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบและสิ่งก่อสร้างอื่นที่ชำรุดทรุดโทรมและที่ประสบอุบัติภัย จำนวนเงิน 1.5 พันล้านบาท และปี 2556 มีการขอเพิ่มงบประมาณรายการค่าก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบ และสิ่งก่อสร้างอื่นที่ชำรุดทรุดโทรมและที่ประสบอุบัติภัย จำนวนเงิน 5 พันล้านบาท ค่าก่อสร้างอาคารเรียนโณงเรียนกันทรลักษณ์วิทยา จ.ศรีษะเกษ จำนวนเงิน 22.23 ล้านบาท และมีค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติม จำนวนเงิน 1,514.92 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,537.15 ล้านบาท
1.2 ขั้นตอนการดำเนินการของ รมว.ศึกษาธิการ สำนักงบประมาณ คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีของสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555-2556 (งบแปรญัตติ) ในส่วนของแผนงานขยายโอกาสและพัฒนาการศึกษา และแผนงานสร้างและกระจายโอกาสทางการศึกษา มีการปรับเพิ่มลดรายการและกรอบวงเงิน ซึ่งมิใช่เป็นรายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริงตามมติคณะรัฐมนตรี
2. การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555-2556 (งบแปรญัตติ) ของ สพฐ. พบว่า ไม่ได้เป็นไปตามความจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริงตามมติคณะรัฐมนตรี โดย สพฐ. ได้ชี้แจงสรุปได้ว่า การจัดสรรงบดังกล่าวเป็นไปตามเงื่อนไขและรายละเอียดที่ได้รับการประสานงานจาก ส.ส. โดย กมธ.พิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี ได้ประสานกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ สพฐ. ซึ่งมีการระบุรายการและวงเงินงบประมาณที่จัดสรรให้แก่โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายแต่ละแห่งอย่างชัดเจน โดยบางรายการไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ และหลักการจำแนกประเภทรายจ่ายงบประมาณตามที่สำนักงบประมาณกำหนด นอกจากนี้ในปี 2555 มีโรงเรียนได้รับการจัดสรรจำนวน 61 แห่ง พบว่า มีจำนวน 3 แห่ง ได้คืนเงินงบประมาณ เนื่องจากรายการที่ได้รับการจัดสรรไม่มีความจำเป็นและขาดแคลน และจำนวน 34 แห่ง มีการขอโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ
สำหรับการเสนอขอเพิ่ม การพิจารณา และการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555-2556 (งบแปรญัตติ) ของ สพฐ. ไม่เป็นไปตามแนวทางและหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรี ทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินไม่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และไม่สามารถแก้ไขปัญหาเร่งด่วนและทดแทนความขาดแคลนให้กับโรงเรียน รวมทั้งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และกระจายอย่างทั่วถึงในการจัดสรรงบประมาณ โดยโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2555-2556 ดังกล่าว จำนวนถึง 15,963 แห่ง และทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก โดยมีครุภัณฑ์การศึกษาที่จัดซื้อไม่มีการใช้ประโยชน์ หรือมีการใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ รวมเป็นเงิน 31.94 ล้านบาท และมีครุภัณฑ์การศึกษาที่มีการใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ 2.1 ล้านบาท
ทั้งนี้การดำเนินการเสนอขอเพิ่มเติม การพิจารณาและการจัดสรรงบประมาณ สพฐ. ชี้แจงว่า เป็นไปตามเงื่อนไขและรายละเอียดที่ได้รับการประสานจาก ส.ส. โดย กมธ.พิจารณาร่างงบประมาณฯ ได้ประสานกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ สพฐ. ซึ่งมีการระบุรายการและวงเงินงบประมาณที่จัดสรรให้แก่โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายแต่ละแห่งอย่างชัดเจน
ข้อตรวจพบที่ 2 การจัดซื้อครุภัณฑ์รายการนอกเหนือบัญชีราคามาตรฐานของโรงเรียนไม่เป็นไปตามระเบียบและแนวทางที่กำหนด
จากการสุ่มตรวจโรงเรียน 72 แห่ง มีโรงเรียนที่จัดซื้อครุภัณฑ์ จำนวน 70 แห่ง พบว่า มีการจัดทำคุณลักษณะเฉพาะและกำหนดราคากลาง ไม่เป็นไปตามระเบียบและแนวทางที่กำหนด โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.ไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำคุณลักษณะครุภัณฑ์และราคากลาง โดยในปีงบประมาณปี 2555 มีจำนวน 17 แห่ง และปีงบประมาณ 2556 มีจำนวน 10 แห่ง รวม 27 แห่ง
2.การจัดทำคุณลักษณะครุภัณฑ์และราคากลางไม่เปิดเผย โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่มีการบันทึกหลักฐานในการดำเนินการและการสืบราคา โดยในปีงบประมาณ 2555-2556 มีโรงเรียนดำเนินการลักษณะดังกล่าว จำนวน 45 แห่ง ครุภัณฑ์ 57 รายการ และจำนวน 45 แห่ง จำนวนครุภัณฑ์ 48 รายการ ตามลำดับ ที่มีการจัดทำคุณลักษณะเฉพาะและราคากลาง โดยการใช้ข้อมูลที่ได้รับจากภายนอก ได้แก่ ผู้แทนร้านค้า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) การประชุมเครือข่ายโรงเรียนระดับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ คณะทำงานของ ส.ส. และบุคคลภายนอก (ไม่ระบุชื่อ) ซึ่งข้อมูลที่รับมาประกอบด้วย ประเภทห้องเรียน หรือครุภัณฑ์ที่จะจัดซื้อ รายการและจำนวนครภุณฑ์ที่มีในแต่ละห้องเรียน คุณลักษณะเฉพาะและราคาของครุภัณฑ์แต่ละรายการ
ในปีงบประมาณ 2555-2556 โรงเรียนที่สุ่มตรวจสอบมีการจัดซื้อครุภัณฑ์ จำนวน 73 รายการ และ 54 รายการ ตามลำดับ รวมจำนวน 127 รายการ โดยใช้ข้อมูลที่ได้รับจากภายนอกในการจัดทำคุณลักษระครุภัณฑ์และราคากลางจำนวน 81 รายการ และจัดทำคุณลักษณะครุภัณฑ์และราคากลางเอง จำนวน 24 รายการ รวมจำนวน 105 รายการ
และจากการตรวจสอบการจัดทำคุณลักษณะครุภัณฑ์และราคากลาง โดยการรับข้อมูลจากภายนอกและการจัดทำเอง พบว่า ไม่มีการจัดทำเอกสารหลักฐานในการดำเนินกาแรละการสืบราคา นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2555-2556 โรงเรียนที่จัดซื้อครุภัณฑ์การศึกษาทั้งหมดจำนวน 70 แห่ง ยังพบว่า โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดเดียวกันที่มีการจัดซื้อครุภัณฑ์ห้องเรียนประเภทเดียวกัน จะมีการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะและราคากลางแต่ละรายการเหมือนกัน และราคาซื้อจริงเท่ากับราคากลาง
การจัดซื้อครุภัณฑ์รายการนอกเหนือราคามาตรฐานของโรงเรียนไม่เป็นไปตามระเบียบและแนวทางที่กำหนด ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเงินงบประมาณแผ่นดิน และการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยการใช้ข้อมูลจากภายนอกในการจัดทำคุณลักษณะเฉพาะและราคากลาง ซึ่งตรงกับรายการสินค้าและราคาของผู้ขายบางราย และส่วนใหญ่มีการจัดซื้อครุภัณฑ์จากผู้ขายเพียงรายเดียว และเป็นผู้เสนอราคากลุ่มเดียวกัน
ทั้งนี้สาเหตุที่สำคัญเนื่องมาจากมีการแทรกแซงจากภายนอกโดยผ่านทางกลุ่มการเมืองและหน่วยงานของ สพฐ. ในการจัดทำคุณลักษระเฉพาะและราคากลางของคณะกรรมการจัดทำคุณลักษณะเฉพาะฯ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องของโรงเรียน โดยให้ใช้ข้อมูลที่ได้รับมาจากภายนอก ได้แก่ ผู้แทนร้านค้า สพท. การประชุมเครือข่ายโรงเรียนระดับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ คณะทำงานของ ส.ส. และบุคคลภายนอก (ไม่ระบุชื่อ)
โดย สตง. ได้ส่งข้อมูลดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาทบทวนและปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี (งบแปรญัตติ) ให้เกิดประโยชน์ และมีการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชนแล้ว
ทั้งหมดคือเบื้องลึกเบื้องหลังกรณี สพฐ. แปรญัตติงบเพิ่มเติมในปี 2555-2556 กว่า 7.2 พันล้านบาท โดยอ้างว่า เป็นการฟื้นฟูอุบัติภัย-อุทกภัย เมื่อช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 แต่ สตง. พบว่า อาจเข้าข่ายดำเนินการไม่คุ้มค่า ไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี
สำหรับข้อเท็จจริงสำคัญจากการตรวจสอบพบของ สตง. มีอยู่อย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่
หนึ่ง สพฐ. ชี้แจงว่า บรรดา ส.ส. ที่เป็น กมธ.พิจารณางบฯ ได้ประสานกับ ‘บิ๊ก สพฐ.’ เพื่อจัดสรรงบประมาณดังกล่าวให้กับโรงเรียนต่าง ๆ อย่างชัดเจน
สอง สตง. พบว่า ในการสืบราคากลาง พบว่าไม่ปฏิบัติตามระเบียบกำหนด แต่มีการแทรกแซงจากภายนอกโดยกลุ่มการเมือง และหน่วยงานของ สพฐ. โดยใช้ข้อมูลราคากลางจากบุคคลภายนอก ได้แก่ ผู้แทนร้านค้า (เอกชน) ข้าราชการระดับสูง สพฐ. ในพื้นที่ และคณะทำงานของ ส.ส.
ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ค่อนข้างสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในชั้นการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งตรวจสอบกรณีนี้เช่นเดียวกัน พบทำนองว่า สพฐ. ไม่ได้นำงบแปรญัตติไปปฏิบัติตามหลักการ แต่นำไปจัดจ้างเอกชนมาก่อสร้างสนามฟุตซอล ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีเอกชนบางแห่งที่เป็นเครือข่ายนักการเมืองระดับชาติเข้าไปรับงานเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังพบข้อเท็จจริงใน จ.นครราชสีมา ว่า มีอดีต ส.ส. พรรคขนาดกลาง เป็นคนเข้าไปดีลงานกับโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำลังเร่งสรุปสำนวนในเร็ว ๆ นี้ แล้ว !
อ่านประกอบ :
ไม่ใช่แค่น่าน! กก.บ.เก่าเครือ‘อดิศักดิ์’ ถูก ป.ป.ช.สอบคดีฟุตซอลฉาวพิษณุโลกด้วย
บ.เก่าอดีตที่ปรึกษา รมต.ถูก ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมสร้างสนามฟุตซอล จ.น่าน
เจอแล้ว!รับเหมาฟุตซอล 5 จว.ภาคเหนือ บ.เก่าอดีตที่ปรึกษารมต.กวาด 19 แห่ง
สาวลึก!สนามฟุตซอล 117 ล้าน“บ.ชนะประมูล-ผู้ร่วมซื้อซอง”ส่อเครือข่ายเดียวกัน?
หุ้นใหญ่บ.คู่เทียบสร้างสนามฟุตซอล 117 ล.ที่แท้ กก.บริษัทอดีตที่ปรึกษารมต.
บุกพิสูจน์!บ.ประมูลสนามฟุตซอล 117 ล.อยู่ในบ้านพัก-เหมาสถานศึกษา 7 แห่ง
เปิด 9 สัญญาสร้างสนามฟุตซอลโคราช บ.เก่า‘อดิศักดิ์’คว้างาน-ป.ป.ช.จ่อฟันอดีต ส.ส.
INFO:สรุปคดีสนามฟุตซอลฉาว 9 จว.-ป.ป.ช.สาวลึกเจอ'บิ๊กนักการเมือง'เอี่ยว
พฤติการณ์ชัด! ป.ป.ช.แจ้งข้อหาบิ๊กนักการเมืองพันคดีฟุตซอล มิ.ย.นี้
เช็คชื่อ! 49 บิ๊ก สพฐ.-ขรก.-เอกชนน่านพันคดีสนามฟุตซอลฉาว-ป.ป.ช.ลุยสอบ
บ.เก่าอดีตที่ปรึกษา รมต.ถูก ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมสร้างสนามฟุตซอล จ.น่าน
ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบเพิ่ม 5 จว.ปมสนามฟุตซอลฉาว ขรก.-ผอ.ร.ร.ติดโผอื้อ
อดีต ส.ส.-ขรก.นัดคุยร้านลาบ! ป.ป.ช. สาวลึก‘บิ๊กนักการเมือง’คดีสนามฟุตซอล
อดีต ส.ส.โคราชมีเอี่ยว! ป.ป.ช.สรุปสำนวนคดีสนามฟุตซอลฉาว-จ่อแจ้งข้อหา
‘ผอ.เขตการศึกษา-3 เอกชน’ยังไม่รับคำสั่งอนุฯ ป.ป.ช.สอบสนามฟุตซอลพะเยา
เปิดชื่อ 30 ขรก.-เอกชนถูก ป.ป.ช.สอบคดีสนามฟุตซอล จ.พะเยา 'บิ๊กสพฐ.-18 ผอ.'
แพงเกินจริง-ใช้งานไม่ได้! สำนวน ป.ป.ช.มัดคดีสนามฟุตซอล จ.พะเยา
คดีฟุตซอลฉาวโยง 2 นักการเมืองระดับชาติ! ป.ป.ช.จ่อแจ้งข้อหานับร้อยราย
อนุฯ ป.ป.ช.ขีดเส้นสรุปปมก่อสร้างสนามฟุตซอลฉาวต้น ต.ค.นี้
ป.ป.ช.ลุยสอบ 12 ร.ร.จ.เชียงรายพันปมสร้างสนามฟุตซอล-วัสดุแพงผิดปกติ
อนุฯ ป.ป.ช.สรุปปมสร้างสนามฟุตซอลอีสานแล้ว-สาวลึก“บิ๊กนักการเมือง”
ผอ.ร.ร.มีหนาว!อนุฯป.ป.ช.จ่อแจ้งข้อหาร่วมร้อยคนปมสร้างสนามฟุตซอล
ป.ป.ช.ตั้งอนุฯลุยสอบสนามฟุตซอลฉาวกราวรูดทั่วประเทศ!-ข้อมูลใกล้ครบแล้ว
ป.ป.ช.ตั้งอนุฯร่วมสตง.สอบสนามฟุตซอลฉาว-จ่อกล่าวหาอดีตเลขาฯสพฐ.