แถลงการณ์มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กรณีนักเรียนนายสิบ ถูกลงโทษจนเป็นเหตุถึงแก่ชีวิต
24 มิ.ย. 2559 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ กรณี ส.ท.ปัญญา เงินเหรียญ สังกัดกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 19 (ร.19 พัน.3) ค่ายสุรสีห์ ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ถูกผู้บังคับบัญชาลงโทษทางวินัยจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย รายละเอียดดังนี้
ตามที่สื่อต่างๆได้เสนอข่าวถึงกรณีที่ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 ส.ท.ปัญญา เงินเหรียญ หรือ เอ็ม นักเรียนนายสิบเหล่าการเงิน รุ่น 16 สังกัดกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 19 (ร.19 พัน.3) ค่ายสุรสีห์ ต.ลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ถูกผู้บังคับบัญชาทำโทษทางวินัย โดยการให้วิ่งรอบกองพันในเวลาเที่ยงวันโดยใส่เครื่องแบบเต็มยศ และโดยที่ยังไม่ได้รับประทานอาหารเที่ยง ในเวลาต่อเนื่องกันยังให้มีการทำโทษโดยการพุ่งหลังอีก 20 ยก แต่ ส.ท.ปัญญาฯได้เพียง 18 ยก ก็หมดสติล้มลง เพื่อนทหารต้องช่วยกันปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่กลับพบว่า ส.ท.ปัญญาฯ มีอาการเกร็งตัวเอง กำมือแน่น และกัดฟัน เมื่อเห็นว่าอาการไม่ดีขึ้นจึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาลค่ายสุรสีห์ และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าตามลำดับ และต่อมาได้เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 นั้น
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความห่วงกันวลถึงการลงโทษในลักษณะเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากที่ผ่านเกิดเหตุลักษณะดังกล่าวหลายกรณี โดยเฉพาะการลงโทษทางวินัยที่เรียกว่า “ซ่อม” ซึ่งออกคำสั่งโดยเจ้าหน้าที่ทหารที่มียศเหนือกว่า จนก่อให้เกิดการสูญเสียหรือเกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของนายทหารชั้นผู้น้อย ทั้งๆที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 มาตรา 8 กำหนดโทษทางวินัยไว้ 5 ประการ ได้แก่ ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม[1] กัก ขัง จำขัง เท่านั้น ไม่ปรากฏว่าให้มีอำนาจสั่ง “ซ่อม” ได้แต่อย่างใด
พฤติการณ์ลงโทษทางวินัยในลักษณะดังกล่าวนอกจากไม่เป็นไปตามกฎหมายวินัยทหารแล้ว ยังเป็นการละเมิดกฎหมายและละเมิด สิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และละเมิดต่อพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีในการปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2550 แม้ผู้บังคับบัญชาการมีหน้าที่จัดการระวังรักษา และการกวดขันวินัยทหาร และมีอำนาจในการบังคับบัญชาหรือลงทัณฑ์แต่ก็ไม่อาจใช้อำนาจในทางที่ผิดยุติธรรมได้ จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ให้จัดการให้มีการเยียวยาให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างเร่งด่วนและเหมาะสม
2. ให้ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 จัดตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน หากพบว่ามีการกระทำความผิด ขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดจนถึงที่สุด รวมทั้งความผิดทางวินัย และขอให้แจ้งการดำเนินการดังกล่าวแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตทราบด้วย
3. ให้กระทรวงกลางโหมทบทวนมาตรฐานการลงโทษทางวินัย รวมทั้งกำหนดกฎระเบียบที่รัดกุมมากยิ่งขึ้นในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจละเมิดสิทธิในชีวิต ร่างกายของผู้ใต้บังคับบัญชา
4. ให้รัฐบาลทำการภาคยานุวัติและออกกฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมานหรือการประติบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม และที่เป็นการย่ำยีศักดิ์ศรี โดยเร็ว เพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับการลงโทษ และครอบครัวผู้เสียหายได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสมต่อไป
ด้วยความเคารพในสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
[1] ทัณฑกรรม คือ การให้กระทำการสุขา การโยธา ฯลฯ เพิ่มจากหน้าที่ประจำ ซึ่งตนจะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว หรือปรับให้อยู่เวรยามนอกจากหน้าที่ประจำ โดยมีหลักเกณฑ์ในคำอธิบายท้ายตารางกำหนดทัณฑ์ว่า ทัณฑกรรมที่กำหนดไว้เป็นวันๆ หมายความว่า ทำทัณฑกรรมทุกๆ วัน จนกว่าจะครบกำหนดในวันหนึ่งนั้น ผู้ที่จะสั่งลงทัณฑ์จะกำหนดทัณฑกรรมได้ไม่เกินกว่าวันละ 6 ชั่วโมง แต่ถ้าให้อยู่เวรยามในวันหนึ่ง ต้องไม่เกินกำหนดเวลาการอยู่เวรยามตามปกติ ผู้ใดจะสั่งลงทัณฑกรรม ต้องให้กำหนดให้ชัดเจนว่า ทัณฑกรรมกี่วัน และวันละเท่าใด
ขอบคุณภาพประกอบจาก voicefromthais.wordpress.com