เปิดครบข้อมูล10หน่วยงานรัฐ แห่ใช้สารพัดวิธีพิเศษซื้อจีทีฯลวงโลก 848 เครื่อง 767ล.
เปิดครบถ้วน!ข้อมูลจัดซื้อจีที 200 ลวงโลก หน่วยงานรัฐไทย เบ็ดเสร็จ 10 แห่ง 38 สัญญา 848 เครื่อง 767.106 ล. พบใช้สารพัดวิธีพิเศษ กองทัพบก มากสุด 12 สัญญา 757 เครื่อง 682.60 ล. เผยชื่อ 3 เอกชนคู่สัญญา- บ.เอวิเอ ฯอื้อ 23 สัญญา 789 เครื่อง 711.48 ล. หลัง สตง.ชงบิ๊กตู่ จี้ฟันอาญาแพ่งเอกชนคดีฉ้อโกง
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2559 ที่ผ่านมา สตง.ได้ทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อแจ้งผลการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ วัตถุระเบิด (GT 200 Detection Substances)ของหน่วยงานรัฐ ให้รับทราบเป็นทางการ
โดยระบุว่า สตง.ได้ตรวจสอบการจัดซื้อเครื่อง GT200 ของหน่วยงานรัฐ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กรมราชองครักษ์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ซึ่งจัดซื้อตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548-2552 จำนวน 34 สัญญา จำนวน 836 เครื่อง งบประมาณรวม 759.14 ล้านบาท
ขณะที่ผลการตรวจสอบโดยรวม พบว่า การเสนอราคาการจัดซื้อเครื่อง GT200 ให้กับหน่วยงานรัฐมีราคาที่แตกต่างกันมาก ประกอบกับเครื่อง GT200 ไม่มีคุณลักษณะเฉพาะของการใช้งานอันเป็นสาระสำคัญ และมีคุณลักษณะไม่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ของสัญญาซื้อ โดยมีข้อเสนอแนะให้หัวหน้าส่วนราชการดังกล่าวดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแก่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท Global Technical Limited และบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด และผู้ที่เกี่ยวข้องในความผิดฐานฉ้อโกงและดำเนินคดีทางแพ่งกับบริษัททั้งสอง และควรพิจารณาแต่งตั้งผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒิหรือนักวิชาการร่วมเป็นกรรมการจัดซื้อจัดจ้างหากมีการดำเนินการจัดหาพัสดุที่มีเทคนิคพิเศษในอนาคต นั้น (กรณีนี้ดูข้อมูลเฉพาะการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ไม่นับรวมการจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6)
(อ่านประกอบ :จนท.รัฐซื้อจีที200ไม่ผิด!สตง.การันตี'บิ๊กตู่'- ชงฟันอาญาแพ่งเอกชนคดีฉ้อโกง)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลการจัดซื้อเครื่อง GT200 ของหน่วยงานรัฐ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กรมราชองครักษ์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ซึ่งจัดซื้อตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548-2552 จำนวน 34 สัญญา จำนวน 836 เครื่อง งบประมาณรวม 759.14 ล้านบาท ตามข้อมูลที่ สตง.รายงานผลการตรวจสอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ รับทราบเป็นทางการ
พบว่า กองทัพบก เป็นหน่วยงานที่ขออนุมัติจัดซื้อมากที่สุดจำนวน 12 สัญญา จำนวน 757 เครื่อง วงเงิน 682.60 ล้านบาท
ตามมาด้วย กองทัพเรือ จำนวน 8 สัญญา จำนวน 38 เครื่อง วงเงิน 39.30 ล้านบาท , กองทัพอากาศ จำนวน 7 สัญญา จำนวน 26 เครื่อง วงเงิน 20.89 ล้านบาท, กรมราชองครักษ์ 3 สัญญา 8 เครื่อง วงเงิน 9 ล้านบาท ,สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม 3 สัญญา 6 เครื่อง วงเงิน 6.80 ล้านบาท และ สถานีตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท จำนวน สัญญา 1 เครื่อง วงเงิน 550,000 บาท
ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างส่วนใหญ่ใช้วิธีพิเศษ อาทิ วิธีพิเศษ(กรณีจัดซื้อโดยตรงจากผู้ผลิต, วิธีพิเศษกรณีเร่งด่วน , วิธีพิเศษ กรณีข้อจำกัดทางเทคนิค ต้องระบุยี่ห้อเป็นการเฉพาะ
มีเพียงแค่การจัดซื้อของสถานีตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ที่ใช้การสอบราคา (ดูข้อมูลในตารางประกอบ)
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ได้ตรวจสอบฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ พบว่า นับตั้งแต่ปี 2550 -2553 มีหน่วยงานรัฐ 7 หน่วยงาน ที่จัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด หรือ GT200 มาใช้งาน รวมจำนวน 19 สัญญา คิดเป็นวงเงินทั้งสิ้น 688,287,264.49 บาท
(อ่านประกอบ : 19 สัญญา 688 ล.!เจาะข้อมูล7 หน่วยงานรัฐซื้อจีที200 ก่อนผู้ผลิตโดนยึดทรัพย์)
โดยข้อมูลที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากข้อมูลของ สตง. คือ การจัดซื้อของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 1 สัญญา วงเงิน 1,230,000 บาท จัดซื้อจากบริษัท ดีเพนเทค จำกัด, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สระแก้ว จัดซื้อ 2 เครื่อง วงเงิน 2,380,000 บาท และอบจ.สมุทรปราการ จัดซื้อ3 เครื่อง วงเงิน 1,800,000 บาท โดยจัดซื้อหน่วยงานละ 1 สัญญา จากบริษัท บ.เอวิเอ แซทคอม จำกัด ทั้งหมด รวมวงเงิน 4,180,000 บาท
ขณะที่ ในฐานข้อมูลคดีการจัดซื้อจีที 200 ที่อยู่ระหว่างการไต่สวน ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวน 12 คดี พบว่ามีข้อมูลการจัดซื้อที่เพิ่มขึ้นมาจากการตรวจสอบของ สตง. จำนวน 1 รายการ คือกรมศุลกากร จัดซื้อจำนวน 6 เครื่อง วงเงินรวม 2,556,000 บาท ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 426,000 บาท ตามสัญญา เลขที่ 77/2552 ลว.19 มิ.ย. 52 ซึ่งจัดซื้อจากบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด
(อ่านประกอบ : เปิด 12 คดีซื้อจีที 200! ป.ป.ช.สอบกราวรูด ขรก.-เอกชน 75 ราย-ทหารอื้อ 6 นายพล)
ส่งผลทำให้ยอดการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ของหน่วยงานราชการในประเทศไทย เพิ่มขึ้นเป็น 10 หน่วยงาน 38 สัญญา 848 เครื่อง วงเงิน 767.106 บาท
ขณะที่บริษัทเอกชน ที่ปรากฎชื่อเป็นผู้จำหน่ายเครื่องจีที 200 ให้กับหน่วยงานรัฐ มีทั้งหมด 3 ราย คือ
บริษัท Global Technical Limited ได้รับงานไปทั้งสิ้น 14 สัญญา จำนวน 58 เครื่อง วงเงิน 54.39 ล้านบาท
บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ได้รับงานไปทั้งสิ้น 23 สัญญา จำนวน 789 เครื่อง วงเงิน 711.486 ล้านบาท
บริษัท ดีเพนเทค จำกัด ได้รับงานไปทั้งสิ้น 1 สัญญา (18 Card) วงเงิน 1,230,000 บาท
ขณะที่ ในหนังสือ สตง. ที่แจ้งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2559 ระบุด้วยว่า จากการติดตามผลการดำเนินการของหน่วยงานราชการที่จัดซื้อเครื่อง GT200 ตามข้อเสนอแนะของ สตง.พบว่า หน่วยงานรัฐดังกล่าวดำเนินการตามข้อมูลเสนอแนะบางส่วน ดังนี้
1. การดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแก่กรรมการผู้มีอำนาจการ กระทำแทนบริษัท Global Technical Limited และบริษัท เอวิเอแซทคอม จำกัด และผู้เกี่ยวข้องในความคิดฐานฉ้อโกงและดำเนินคดีแพ่งกับบริษัททั้งสองแห่ง กองทัพบก กองทัพเรือ กรมราชองครักษ์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์และตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ได้ดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในการรวบรวมหน่วยงานผู้เสียหายและพยานหลักฐานเสนอต่อพนักงานอัยการ ส่วนกองทัพอากาศ ได้ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท Global Technical Limited แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงานอัยการสูงสุด
2. การดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อเครื่อง GT 200 ไม่มีคุณลักษณะเฉพาะของการใช้งานอันเป็นสาระสำคัญและมีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของสัญญาซื้อ กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กรมราชองครักษ์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ได้ตั้งแต่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว และมีผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในทำนองเดียวกัน
สตง.ยังยืนยันด้วยว่า การจัดซื้อเครื่อง GT 200 ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และยังไม่พบว่ามีการทุจริตหรือมีเหตุที่เชื่อได้ว่ามีการจงใจที่จะกระทำผิดใดๆ ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ส่วนกองทัพบก ปัจจุบันการตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก
นอกจากนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาสอบสวนหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนกล่าวหากรณีดังกล่าวแล้ว แต่ไม่รวมถึงกองทัพเรือและกรมราชองครักษ์ เนื่องจากไม่มีการร้องเรียนหน่วยงานทั้งสองแห่งนี้
3. กรณีการพิจารณาแต่งตั้งผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒิหรือนักวิชาการร่วมเป็นกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง ทุกหน่วยงานได้มีการกำหนด กำกับหรือสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดปฏิบัติตามแล้ว จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเร่งรัดติดตามให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและสำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไป (ดูหนังสือ สตง.ประกอบ)
ส่วน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน , กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สระแก้ว , อบจ.สมุทรปราการ และกรมศุลกากร ที่ปรากฎชื่อจัดซื้อเครื่องจีที 200 ด้วย
ยังไม่ปรากฎข้อมูลชัดเจนว่าได้ดำเนินการอะไรเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ไปแล้วบ้าง
อ่านประกอบ :
เหลือแค่ตึกไร้คนดูแล! ตามไปดู 'บ.เปโตรฯ' ขาย'อัลฟ่า6'กรมการปกครอง 349 ล.
ลุยสอบปมซื้อจีที 200 แพง! ป.ป.ช. ยันไร้ ผบ.เหล่าทัพเอี่ยว-สรุป ก.ย.นี้
โชว์ 17 บ.ขุมข่าย‘เอวิเอ แซทคอม’ผู้ขาย GT 200 โยงบิ๊ก ขรก.-กลุ่มค้าเครื่องบิน
บ.GT200 คู่ค้ากองทัพอื้อ1.3 พันล.-ทอ.ขุมทรัพย์ใหญ่-หุ้นส่วนโยงบิ๊ก กสทช.
จนท.รัฐซื้อจีที200ไม่ผิด!สตง.การันตี'บิ๊กตู่'- ชงฟันอาญาแพ่งเอกชนคดีฉ้อโกง
บ.ขายอัลฟ่า349 ล.เลิกกิจการแล้ว!แกะรอยเอกชนพันคดีจีที200 ในบัญชีสอบป.ป.ช.
เปิด 12 คดีซื้อจีที 200! ป.ป.ช.สอบกราวรูด ขรก.-เอกชน 75 ราย-ทหารอื้อ 6 นายพล
19 สัญญา 688 ล.!เจาะข้อมูล7 หน่วยงานรัฐซื้อจีที200 ก่อนผู้ผลิตโดนยึดทรัพย์
ผู้ว่าฯสตง.สั่งรื้อคดีจีที200สอบใหม่-ส่งเรื่อง 'ศอตช.'สาวลึกตัวแทนขายในไทย