เบื้องหลัง! สตง.VS กทม. สงคราม (ตรวจสอบ)งบระบายน้ำพันล.เปิดฉากแล้ว
"...ใครจะว่าสตง.ตามกัดกทม.ไม่ปล่อยก็ได้ เพราะเรามีความจำเป็นที่จะต้องทำ เราให้ความสำคัญกับการตรวจสอบงานของกทม. ซึ่งถือเป็นหน่วยงานรัฐอับดับต้นๆ ที่มีหน้าที่สำคัญในการดูแลชีวิตคนกทม. ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ การทำงานจะต้องมีประสิทธิภาพเป็นแบบอย่างให้กับหน่วยงานอื่นในต่างจังหวัด..."
"ปัญหาฝนตกน้ำท่วม ในกทม. เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ และทุกครั้งที่มีปัญหาผู้บริหารกทม. ก็มักจะโยนความรับผิดชอบไปให้ธรรมชาติ พร้อมอ้างถึงโครงการขนาดใหญ่ว่าอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ ถ้าทำเสร็จแล้วจะแก้ไขปัญหาได้แน่นอน แต่ในข้อเท็จจริงที่สตง.ตรวจสอบพบ คือ นับตั้งแต่ช่วงปี 2557 จนถึงปัจจุบัน กทม. ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้สำหรับแผนงานพัฒนาระบบระบายน้ำ หรือขุดลอกท่อ เพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วมปีละหลายพันล้านบาท แล้วทำไมยังไม่สามารถแก้ไขได้เลย "
คือ คำถามสำคัญที่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตั้งไว้ให้ชาวกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ขบคิด
หลังจากในช่วงวันที่ 21 มิ.ย.2559 ที่ผ่านมา ได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง (หรือ น้ำรอการระบาย) หลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัดอย่างหนัก ขณะที่ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาระบุว่า สาเหตุมาจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมากกว่าปริมาณฝนโดยเฉลี่ยในรอบ 25 ปี ส่งผลให้น้ำฝนไม่สามารถระบายเข้าสู่ระบบได้ทันเวลา สำหรับการแก้ปัญหาระยะสั้น ได้พยายามระบายน้ำในเส้นทางหลักก่อน ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว เพื่อเสริมประสิทธิภาพการระบายน้ำ คือ รอการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ใต้คลองบางซื่อแล้วเสร็จ คาดว่าจะใช้การได้ต้นปี 2560
(อ่านประกอบ : อย่าโยนบาปให้ฟ้าฝน! สตง.ซัดแผนใช้งบพันล.ระบายน้ำกทม.เหลว-เหตุท่วมซ้ำซาก)
ทำไมผู้ว่าฯ สตง. ถึงกล้าที่จะตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กทม.แบบนี้ นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำอธิบายที่ชัดเจน มานำเสนอ
ที่มาของข้อมูล
ทั้งนี้ ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ของ นายพิศิษฐ์ กับ สำนักข่าวอิศรา เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2559 ที่ผ่านมา
นายพิศิษฐ์ ระบุว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาท่วมกทม.ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา (ตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย.) เป็นผลมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของกทม.เป็นหลัก โดยเฉพาะการวางแผนงานแก้ไขปัญหาล่วงหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
"จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า กทม.โดยสำนักการระบายน้ำ ได้รับงบประมาณจัดสรรเพื่อการระบายน้ำ ปี 2557 วงเงิน 4,958 ล้านบาท แต่จากการติดตามการเบิกจ่ายเงิน พบว่ามีปัญหาความล่าช้า หลายโครงการทำเสร็จไม่ทัน และมีการกันงบให้ไปใช้ในปีต่อไปแทน ซึ่งในส่วนงบประมาณปี 2558 ก็มีลักษณะเดียวกัน
ผลการตรวจสอบการใช้จ่ายงบระบายน้ำกทม.
โดยผลการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณจำนวน 4,958 ล้านบาท เพื่อการระบายน้ำปี 2557 ของ สำนักการระบายน้ำ ปรากฎรายละเอียด ว่า
สำนักการระบายน้ำได้รับงบประมาณรายจ่ายตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 จำนวน 4,958,472,000.00 บาท โดยกำหนดไว้เป็นรายจ่ายประจำ ด้านแผนงานบริหารทั่วไป แผนงานพัฒนาระบบระบายน้ำ (งานพัฒนาระบบหลัก, งานสารสนเทศระบายน้ำ) แผนงานจัดการระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (งานเครื่องจักรกล, งานระบบอาคารบังคับน้ำ, งานระบบท่อระบายน้ำ, งานระบบคลอง) และแผนงานจัดการคุณภาพน้ำ (งานจัดการคุณภาพน้ำ) โดยแยกตามหมวดรายจ่าย ต่างๆดังนี้
หมวดเงินเดือน ค่าจ้างประจำ 716,117,900.00 บาท
หมวดค่าจ้างชั่วคราว 107,180,600.00 บาท
หมวดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ 681,765,900.00 บาท
หมวดค่าสาธารณูปโภค 286,662,977.00 บาท
หมวดค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 2,264,124,321.00 บาท
หมวดเงินอุดหนุน 9,712,000.00 บาท
หมวดรายจ่ายอื่น 892,908,302.00 บาท
รวม 4,958,472,000.00 บาท
และได้รับงบประมาณรายจ่ายตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2557 เป็นรายจ่ายพิเศษจากเงินสะสมจ่ายขาด หมวดค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง จำนวน 144,400,000.00 บาท
จากการตรวจสอบพบว่า ในงวดปีงบประมาณ 2557 สำนักการระบายน้ำได้จัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557จำนวนทั้งสิ้น 18,323,408,889.00 บาท และได้รับงบประมาณรายจ่ายตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 จำนวน 4,958,472,000.00 บาท คิดเป็นร้อยละ 27.06 ของเงินงบประมาณที่ขอตั้งทั้งสิ้น และได้รับงบประมาณรายจ่ายตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2557 จำนวน 144,400,000.00 บาท รวมเป็นเงินงบประมาณที่ได้รับในปี 2557 ทั้งสิ้น เป็นเงิน 5,102,872,000.00 บาท มีการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2557 จำนวน 3,559,027,763.90 บาท มีการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 1,447,814,134.79 บาท รวมเบิกจ่ายและเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีเป็นเงิน 5,006,841,898.69 บาท คงเหลืองบประมาณจำนวน 96,030,101.31 บาท
ได้รับงบกลางจำนวนทั้งสิ้น 877,726,123.05 บาท ประกอบด้วย งบกลางรายจ่ายประจำ 740,751,489.11 บาท และงบกลางรายจ่ายพิเศษ จำนวน 136,974,633.94 บาท มีการเบิกจ่ายจำนวน 444.597,413.57 บาท คิดเป็นร้อยละ 50.65 กันไว้เบิกเหลื่อมปีจำนวน 433,128,709.48 บาท คิดเป็นร้อยละ 49.35
จากผลการวิเคราะห์อัตราร้อยละของงบประมาณที่ได้รับอนุมัติเป็นข้อบัญญัติ จะเห็นได้ว่างบประมาณที่จัดทำคำขอตกไปร้อยละ 72.93 (จำนวน 13,364,936,889.00 บาท) ซึ่งเป็นจำนวนที่สูง เนื่องจากงบประมาณที่ขอตั้งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นโครงการต่อเนื่องและมีภาระผูกพัน การที่สำนักการระบายน้ำไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณ หรือได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ ส่งผลให้หน่วยงานต้องขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมซึ่งเป็นการจ่ายขาดเงินสะสม และในกรณีที่ต้องเบิกจ่ายค่างวดงานเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดคดีความกับผู้รับจ้างจึงต้องใช้เงินงบประมาณจากงบกลางหรืออาจต้องยืมเงินสะสม ซึ่งเป็นการการไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติและตามที่ระเบียบฯ กำหนด และทำให้งบการเงินของกรุงเทพมหานครไม่แสดงฐานะทางการเงินที่แท้จริงของกรุงเทพมหานคร (รายได้และค่าใช้จ่ายไม่แสดงตามความเป็นจริงเพราะใช้เงินสะสม) จากการวิเคราะห์งบประมาณ (ไม่รวมเงินเดือน ค่าจ้างประจำและค่าจ้างชั่วคราว) พบว่า
1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 (รายจ่ายประจำ) มีการอนุมัติงบประมาณหลังปรับเพิ่ม - ลด จำนวน 4,120,039,779.38 บาท มีการเบิกจ่ายจริง จำนวน 2,670,598,786.38 บาท คิดเป็นร้อยละ 64.83 เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 1,447,814,134.79 บาท รวมเบิกจ่ายและเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีเป็นเงิน 4,118,412,921.17 บาท คิดเป็นร้อยละ 99.97 งบประมาณคงเหลือ 1,626,858.21 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.03
2. งบกลางได้รับงบประมาณหลังปรับโอนทั้งสิ้น 470,720,578.39 บาท มีการเบิกจ่ายจริง จำนวน 112,229,688.91 บาท เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 358,490,889.48 บาท รวมเบิกจ่ายและเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี เป็นเงิน 470,720,578.39 บาท คิดเป็นร้อยละ 100.00
3. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี พ.ศ. 2557 (รายจ่ายพิเศษซึ่งเป็นการจ่ายขาดจากเงินสะสม) มีการอนุมัติงบประมาณหลังปรับเพิ่ม - ลด จำนวน 144,400,000.00 บาท มีการเบิกจ่ายจริงจำนวน 144,400,000.00 บาท คิดเป็นร้อยละ 100.00 ไม่มีงบประมาณคงเหลือ
4. งบกลางรายจ่ายพิเศษ ได้รับงบประมาณหลังปรับโอนทั้งสิ้น 136,974,633.94 บาท ไม่มีการเบิกจ่ายในปี เป็นการกันไว้เบิกเหลื่อมปีทั้งจำนวน 136,974,633.94 บาท
5. การขอกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีทั้งสิ้น 183 รายการ รวมทั้งสิ้น 1,880,942,844.27 บาท ประกอบด้วยเงินกันจากงบประมาณรายจ่ายประจำ จำนวน 1,447,814,134.79 บาท คิดเป็นร้อยละ 76.98 งบกลางจำนวน
358,490,889.48 บาท คิดเป็นร้อยละ 19.06 และงบกลางรายจ่ายพิเศษจำนวน 74,637,820.00 บาท คิดเป็นร้อยละ 3.96
ดังนั้น รวมเงินงบประมาณที่สำนักการระบายน้ำได้รับในปีงบประมาณ 2557 จำนวนทั้งสิ้น 5,980,598,123.05 บาท เบิกจ่ายจำนวน 4,003,625,177.47 บาท กันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 1,880,942,844.27 บาท คงเหลืองบประมาณทั้งสิ้น 96,030,101.31 บาท
ภาพรวมปัญหาการใช้จ่ายงบ
จากการติดตามเงินกันปี 2557 ที่เบิกจ่ายเงินในปี 2558 เพียงวันที่ 29 ก.พ.2559 พบว่า หน่วยงานมีการเบิกจ่ายเงินที่ขอกันแล้ว จำนวน 1,474,987,951.94 บาท คิดเป็นร้อยละ 78.42 คงเหลือเงินกันที่ไม่ได้เบิกจ่าย เนื่องจากดำเนินการไม่ทัน จำนวน 405,954,892.33 บาท คิดเป็นร้อยละ 21.58 ดังนี้
1. มีการโอนเปลี่ยนแปลงเงินกันฯ ให้หน่วยงานอื่น เนื่องจากดำเนินการไม่ทัน จำนวน 9 รายการ เป็นเงิน 130,434,074.00 บาท เพื่อไปตั้งจ่ายเป็นเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ 2557 โดยขอโอนเปลี่ยนแปลงจากหมวดค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้างเป็นหมวดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ ตามบันทึกฯ สำนักงบประมาณ ที่ กท 1902/00020 ลงวันที่ 21 ม.ค.2558
2. มีการขอกันเงินแต่เบิกจ่ายเพียงบางส่วน ทำให้เงินตกไป เนื่องจากดำเนินการไม่ทัน จำนวน 21 รายการ เป็นเงิน 238,080,898.77 บาท
3.มีการขอกันเงินแต่ดำเนินการไม่ทัน ทำให้เงินตกไป จำนวน 23 รายการ เป็นเงิน 121,865,222.31 บาท
ดังนั้น จากข้อมูลการใช้งบประมาณของสำนักการระบายน้ำ งวดประจำปีงบประมาณ 2557 จะเห็น ได้ว่าสำนักการระบายน้ำได้รับงบประมาณ 5,980.60 ใช้จ่ายในปีงบประมาณ 4,003.63 ล้านบาท กันไว้ใช้จ่าย 1,390.56 ล้านบาท รวมใช้จ่ายเพียง 5,394.19 ล้านบาท เหลืองบประมาณที่ไม่ได้ใช้ จำนวน 586.41 ล้านบาท (เงินงบประมาณคงเหลือ 96.03+405.95) เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีคงเหลือ จำนวน 586.41 ล้านบาท เป็นเงินที่สำนักการระบายน้ำได้ขอกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน จึงขอโอนเปลี่ยนแปลงไปตั้งจ่ายให้หน่วยงานอื่น และเงินตกเข้าเป็นเงินสะสมของกรุงเทพมหานคร
แสดงให้เห็นว่าในการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักระบายน้ำ เป็นการตั้งงบประมาณที่สูงเกินกว่าความสามารถที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในปีงบประมาณ เนื่องจากมีการกันเงินไว้จำนวน 1,880.94 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับงบประมาณที่ต้องดำเนินการในปีงบประมาณใหม่จะสูงกว่าที่ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายในการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณให้ทันตามเวลาที่กำหนด
ผลกระทบ
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้ประชาชนสูญเสียโอกาสจากประโยชน์ที่ควรจะได้รับ ขณะที่งบประมาณที่ควรได้รับการจัดสรรไปดำเนินการในส่วนงานอื่นที่จำเป็นกลับไม่ได้รับการพิจารณา
ทั้งนี้สาเหตุเกิดจากการตั้งงบประมาณโดยไม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ ไม่มีความพร้อม ไม่มีการเร่งรัดดำเนินการ ขาดการกำกับติดตามและตรวจสอบ ส่วนกรณีเงินงบกลางซึ่งตั้งงบประมาณไว้สำหรับเรื่องฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนหรือเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ได้มีการนำมาใช้จ่ายค่าโครงการลักษณะต่อเนื่อง และมีภาระผูกพัน จึงทำให้งบกลางในหมวดดังกล่าวมีไม่เพียงพอในการเบิกจ่าย จึงได้มีการนำเงินกันเหลื่อมปีที่คาดว่าจะเบิกจ่าย ไม่ทันมาโอนเปลี่ยนแปลงเพื่อเบิกจ่ายเงินรางวัลและเงินช่วยเหลือฯ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม
และเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบในการบริหารงบประมาณของกรุงเทพมหานคร โครงการดังกล่าวไม่ได้มีความสำคัญและจำเป็นต้องดำเนินการ เมื่อรวมเงินงบประมาณคงเหลือหลังเบิกจ่ายและกันเงินจำนวน 96.03 ล้าน พบว่า มีเงินงบประมาณคงเหลือที่ไม่ได้ใช้ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 จำนวน 586.41 ล้านบาท
นายพิศิษฐ์ ยังย้ำว่า "จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาอยู่ที่การปฏิบัติงานของกทม. ไม่ได้อยู่ที่เรื่องอื่น อย่าโยนบาปให้ฟ้าฝน ปัญหาอยู่ที่คนมากกว่า ว่าที่ผ่านมาทำงานอะไรกันบ้าง ผลงานที่ออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งเราคงไม่ต้องไปพูดถึงโครงการขนาดใหญ่อะไร แค่โครงการเล็กๆ น้อยๆ เรื่องการขุดลอกคลอง ยังเป็นปัญหาแบบนี้เลย"
และนั้นเป็นเหตุสำคัญ ที่ทำให้ สตง. ปักใจเชื่อว่า ปัญหาการบริหารจัดการงานระบายน้ำ ของกทม. อยู่ที่คน และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในเขต กทม.
หาใช่ปัญหาจากเรื่องธรรมชาติแต่อย่างใด!
ผู้ว่าฯ สตง.รายนี้ กล่าวย้ำกับ สำนักข่าวอิศรา ว่า "ใครจะว่าสตง.ตามกัดกทม.ไม่ปล่อยก็ได้ เพราะเรามีความจำเป็นที่จะต้องทำ เราให้ความสำคัญกับการตรวจสอบงานของกทม. ซึ่งถือเป็นหน่วยงานรัฐอับดับต้นๆ ที่มีหน้าที่สำคัญในการดูแลชีวิตคนกทม. ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ การทำงานจะต้องมีประสิทธิภาพเป็นแบบอย่างให้กับหน่วยงานอื่นในต่างจังหวัด"
และนั้น เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นายพิศิษฐ์ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ สตง. ไปตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกการใช้จ่ายงบประมาณการระบายน้ำของกทม. ย้อนหลังไปนับตั้งแต่เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน และนำมาสรุปเป็นข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกทม. ในอนาคตต่อไป
รวมถึงตรวจสอบขั้นตอนการว่าจ้างเอกชนเข้ามารับงานขุดลอกคลอง เนื่องจากได้รับรายงานว่า ราคาที่ว่าจ้างงานสูงกว่าของกรมราชทัณฑ์อย่างมาก ตามที่ปรากฎเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้
ส่วนในท้ายที่สุดผลการตรวจสอบการใช้จ่ายงบระบายน้ำ ของกทม. จะออกมาเป็นอย่างไรนั้น จะเป็นแนวเดียวกับ โครงการประดับไฟกทม. 39.5 ล้าน หรือโครงการปรับปรุงห้องผู้บริหารกทม. 16 ล้าน (ผลการตรวจสอบโครงการปรับปรุงห้องผู้บริหารกทม. 16 ล้าน เบื้องต้นพบว่ามีการทำสัญญาจ้างงานย้อนหลัง) หรือไม่
ขอให้ ชาวกทม. อดใจรอฟังด้วยใจระทึก นับจากวินาทีนี้เป็นต้นไป
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนแล้วขณะนี้ คือ สงคราม (การตรวจสอบ) ระหว่าง สตง. และ กทม. ยกใหม่ ว่าด้วยเรื่องงบป้องกันน้ำท่วม รูดม่าน เปิดฉากเป็นทางการแล้ว!!
(อ่านประกอบ :ข้อมูล'อิศรา'ถูกต้อง! สตง.ยัน บ.ดูอิ้ง-เวลฯโผล่ชื่อรับเหมาปรับปรุงห้อง กทม. 16ล.)