ซุปเปอร์มาเก็ตธรรมชาติ 'สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา' ต้นเเบบบริหารจัดการน้ำ จ.ระยอง
เปิด 'สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา' เป็นเเหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ต้นเเบบการบริหารจัดการน้ำยั่งยืน สร้าง 'ฝาย' ชะลอน้ำ เดินรอยตามพระราชดำริในหลวง
ความเสื่อมโทรมจากการสัมปทานป่าไม้บน ‘เขายายดา’ ในอดีต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ากระเฉด ป่าเพ และป่าแกลง พื้นที่กว่า 2.8 หมื่นไร่ วันนี้ได้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นซุปเปอร์มาเก็ตธรรมชาติให้คน จ.ระยอง อีกครั้ง เมื่อชุมชนหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์มากขึ้น
โดยมีการสร้าง ‘ฝายชะลอน้ำ’ ในปี 2539 ภายใต้ความร่วมมือของคนในชุมชน เพื่อหวังชะลอการไหลของน้ำ และเก็บกักความชุ่มชื้นให้แก่ผืนดิน ต่อมาได้เข้าร่วมโครงการ ‘เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต’ ซึ่งคอยสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ ทำให้ปัจจุบันถือได้ว่าประสบความสำเร็จ
รวมถึงช่วยกันยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กลายเป็น ‘สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา’ ซึ่งมีพิธีเปิดไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมี ‘ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล’ ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธาน
จุดประสงค์สำคัญเพื่อให้ผู้มาเยือนมีโอกาสเข้ามาสัมผัสองค์ความรู้ วิถีชีวิต ต่อยอดการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปเป็นแบบอย่างที่ดี ประกอบด้วย 8 สถานี คือ
สถานี “ห้องเรียนต้นน้ำ” เส้นทางศึกษาธรรมชาติสุดท้าทายและได้ความรู้ ภายในสถานีวิจัยต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก
สถานี “ฝายชะลอน้ำกู้วิกฤติ” เรียนรู้การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำที่ช่วยสร้างความสมบูรณ์ให้กับผืนป่า
สถานี “สวนเกษตรผสมผสาน” เยี่ยมชมสวนเกษตรของชาวบ้าน ทั้งพืชผักผลไม้ ที่ผสมผสานแนวคิด “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เหลือแล้วจึงนำไปขาย” โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
สถานี “บ้านอบอุ่นที่เขายายดา” แวะพักค้างคืนที่โฮมสเตย์เพื่อเรียนรู้วิถีชุมชนที่อบอุ่นและ เป็นกันเอง พร้อมสัมผัสกับธรรมชาติท่ามกลางเขายายดาที่นับได้ชื่อว่าเป็นปอดของจังหวัดระยอง
สถานี “เส้นทางปั่น…กินลมชมธรรมชาติ” เพลิดเพลินและออกกำลังกายไปกับเส้นทางจักรยานปั่นชมธรรมชาติรอบเขายายดา
สถานี “นักคิด นักวิจัยชุมชน” ศึกษาเรียนรู้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเรื่อง “การจัดการทรัพยากรน้ำในสวนผลไม้” ที่เกิดขึ้นจากองค์ความรู้ของพี่น้องในชุมชน
สถานี “รู้คิด ร่วมทำเพื่อชุมชนสีเขียว” ศึกษาต้นแบบกองทุนเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ที่ส่งเสริมให้สมาชิกของชุมชนใช้สำหรับดูแลฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน
สถานี “ตำราจากธรรมชาติ” ศึกษาการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่เขายายดา เพื่อเสริมความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชน
(ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ)
ปลูกต้นไม้ต้องได้ใช้ประโยชน์ไม่รู้จบ จึงเรียกพัฒนายั่งยืน
ดร.สุเมธ กล่าวถึงแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการจัดการน้ำเริ่มต้นจากท้องฟ้า ที่ประชาชนมองเห็นเป็นก้อนเมฆ แต่พระองค์ทรงมองเห็นเป็นน้ำ และคิดว่าจะทำอย่างไรเอาน้ำข้างบนลงมาให้พสกนิกรใช้ได้ จนในที่สุดเกิดโครงการฝนหลวงขึ้น
“ฝนตกลงมาที่ยอดเขายายดา ถ้าไม่มีการบริหารจัดการอะไร น้ำจะไหลลงมาสู่ทะเลอย่างไร้ประโยชน์ หน้าที่ของน้ำคือการช่วยต้นน้ำลำธารให้เกิดความสมบูรณ์ เมื่อมีน้ำต้นไม้ก็จะตามมา ป่าก็ไม่ต้องปลูก ตามทฤษฎีของพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก แต่ใช้น้ำปลูกแทน”
ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า แม้จะไม่มีอ่างเก็บน้ำอยู่กลางเขาแต่เรามีป่าไว้กักเก็บน้ำแทน ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำได้เป็นอย่างดี เมื่อน้ำลงมาสู่ที่ราบ เข้าสู่ชุมชน น้ำใต้ดินจะซึมเข้าสวน ไร่ นา ของชาวบ้าน จะให้ดีชาวสวนควรสร้างสระน้ำในสวนหรือในพื้นที่เพื่อเป็นการเก็บกักน้ำในหน้าฝน
เมื่อน้ำเข้าสู่ชุมชนเกิดการใช้จนกลายเป็นน้ำเสีย กระบวนการบำบัดน้ำเสียโดยธรรมชาติตามแนวพระราชดำริจะเกิดขึ้น โดยการใช้แสงแดด สายลม ซึ่งออกซิเจนในอากาศจะเข้าไปบำบัด ปล่อยไปตามกระบวนการทางธรรมชาติใช้แสงแดดฆ่าเชื้อ ให้น้ำตกตะกอน เมื่อน้ำใสแล้วนำมาบำบัดโดยพืช จากนั้นปล่อยน้ำเข้าสู่ป่าชายเลนให้กรองอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่ต้องซื้อโรงงานบำบัด
“ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวทรงสอนตลอดเวลา ถ้าเราไม่รักแผ่นดิน ไม่รักษา ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เป็นปัจจัยของชีวิต แล้วใครจะมารักษา ปลูกต้นไม้ต้องได้ใช้ประโยชน์ และได้ใช้อย่างไม่รู้จบ ถึงจะเรียกว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สรุปทิ้งท้าย
10 ปี ‘เอสซีจี’ สร้าง 5 พันฝาย เขายายดา
‘อาสา สารสิน’ ประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน บ.เอสซีจี กล่าวว่า ที่ผ่านมา เอสซีจี ได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำขาดและน้ำเกิน จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต สนับสนุนให้ชุมชนสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อคืนความชุ่มชื่นให้กับป่าต้นน้ำ ทำให้ชุมชนบริเวณเขายายดามีน้ำใช้ตลอดปี
ขณะที่ ‘ชลณัฐ ญาณารณพ’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ร่วมสร้างฝายชะลอน้ำกับชุมชนเขายายดาตั้งแต่ปี 2550 ในปัจจุบันมีกว่า 5,400 ฝาย นอกจากการสร้างฝายแล้ว ยังได้เข้าไปเสริมสร้างความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบนิเวศเขายายดาให้กับชุมชน และมีการต่อยอดไปสู่การทำงานวิจัยโดยชุมชน เพื่อชุมชน จนถึงการตั้งกองทุนพัฒนาสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าชุมชนเขายายดาสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างมีความสุข มีความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนให้คงอยู่ต่อไป
ทั้งนี้ จ.ระยอง จะเป็น 1 ใน 11 จังหวัดนำร่องที่ถูกกำหนดให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศภายในปี 2561 ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ‘สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต’ เปิดเผยว่า เขายายดาเป็นหนึ่งชุมชนสำคัญที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จนั้นได้ เพราะพิสูจน์แล้วว่า จากอดีตที่เคยมีปัญหาเรื่องป่าเสื่อมโทรมและขาดแคลนน้ำ ปัจจุบันได้พลิกฟื้นกลับมาอุดมสมบูรณ์ จนสามารถยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของ จ.ระยอง และเป็นการส่งเสริมเป้าหมายของจังหวัดได้อย่างดี
‘ฝายชะลอน้ำ’ พลิกฟื้นผืนป่า ‘เขายายดา’ มีชีวิต
“ป่าแห่งนี้เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น เสือ หมี เม่น กระจง กระรอก รวมถึงนกอีกเกือบร้อยสายพันธุ์ และสมุนไพร พืชพรรณต่าง ๆ”
เป็นคำบอกเล่าของ ‘วิไล โพธิแก้ว’ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ หมู่14 บ้านหัวหิน ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง ระบุถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นของป่าเขายายดา และยังกล่าวว่า ยิ่งในช่วงหน้าแล้งจะมีสัตว์ป่าออกมาบริเวณฝายชะลอน้ำ บ่งบอกว่า ระบบนิเวศกำลังกลับคืนมา
นอกจากนี้ผลพวงอื่นจากการสร้างฝายชะลอน้ำ คือ ชาวบ้านได้ต่อท่อน้ำเข้าสู่ระบบประปาหมู่บ้านและอ่างเก็บน้ำ ส่วนบ้านที่อยู่ใกล้ฝายชะลอน้ำสามารถต่อเข้ามาใช้ในครัวเรือนได้เลย โดยไม่ต้องเสียค่าน้ำเหมือนคนอื่น
“น้ำเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต คนอยู่ได้ต้องมีน้ำ ถ้าขาดไปก็ไม่สามารถอยู่ได้ เพราะเราต้องใช้น้ำทุกวัน” ประธานกลุ่มอนุรักษ์ กล่าว
(วิไล โพธิเเก้ว ประธานกลุ่มอนุรักษ์)
เช่นเดียวกับ ‘บุญชื่น โพธิแก้ว’ เจ้าของสวนผลไม้บุญชื่น หมู่ 14 บ้านหัวหิน ตำบลตะพง อ.เมือง จ.ระยอง เป็นหนึ่งคนที่ได้รับประโยชน์จากการสร้างฝายชะลอน้ำ เธอบอกว่า น้ำจากฝายจะซึมซับพื้นดินเข้ามาในสวนผลไม้เอง เนื้อที่ราว 15 ไร่ ซึ่งได้ปรับให้มีลักษณะเป็นห้วย หนอง คลอง บึง เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ ทำให้ในช่วงหน้าแล้ง ไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ
“น้ำมีความสำคัญ ถือปัจจัยหลักของประเทศและเป็นหัวใจหลักของการทำเกษตร มีดิน แต่ไม่มีน้ำ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลย”
บุญชื่น ระบุอีกว่า สวนผลไม้บุญชื่นเป็นส่วนหนึ่งของสถานีสวนเกษตรผสมผสานของ ‘สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา’ ซึ่งนอกจากจะเป็นช่องทางให้เกิดการสร้างรายได้ใหม่ ๆ แล้ว ยังช่วยพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตรภายในชุมชน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับชุมชนอื่น และนำมาพัฒนาถ่ายทอดภายในชุมชน ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนสม่ำเสมอ ทั้งการดูงาน การทำวิจัย การท่องเที่ยวสวนผลไม้ และสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน
‘สถานีรักษ์น้ำ’ เขายายดา จ.ระยอง จึงเป็นอีกหนึ่งโมเดลของการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน ที่เกิดขึ้นได้โดยความร่วมมือของคนในชุมชนที่น่ายึดถือเป็นแบบอย่าง .