ครุภัณฑ์ 348 ล.ใช้งานไม่ได้! เปิดผลสอบ สตง.ชงกรมการบินฯแก้ปัญหา
เปิดผลสอบ สตง. ปมครุภัณฑ์ 1.9 พันรายการ 348 ล้านบาท 17 ท่าอากาศยานในสังกัดกรมการบินพลเรือน ใช้งานไม่ได้ พบมีทั้งรถดับเพลิง-เครื่องเอ๊กซ์เรย์ สารพัดวัสดุรักษาความปลอดภัย มีบางพื้นที่ปล่อยทิ้งร้าง ไร้แผนทางธุรกิจ
จากกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบการดำเนินงานการบริหารท่าอากาศยานภูมิภาค จำนวน 28 แห่ง ที่มีกรมการบินพลเรือน เป็นผู้ดำเนินการ พบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานจำนวน 3 ประเด็น ส่งผลกระทบต่อการบริหารเงินงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ไม่ว่าจะเป็นกรณีเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีต่ำกว่าเป้าหมายปีละประมาณ 325-450 ล้านบาท อีกทั้งเกิดความไม่คุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินงบประมาณจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ครุภัณฑ์ตลอดจนเกิดค่าเสียโอกาสในการขาดรายได้จากการให้เช่าพื้นที่มูลค่าประมาณ 475 ล้านบาท
นอกจากนี้จุดอ่อนของการบริหารจัดการเครื่องมืออุปกรณ์ของท่าอากาศยานภูมิภาคมีผลทําให้ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ ICAO กำหนด
ล่าสุด สตง. ได้รายงานปัญหาเกี่ยวกับความไม่พร้อมของครุภัณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยของท่าอากาศยานที่ทำให้ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ICAO ไปยังนายกรัฐมนตรีแล้วนั้น
(อ่านประกอบ : กรมการบินฯบริหารเหลวต้นตอไม่ผ่าน ICAO! สตง.ชี้ทำเสียรายได้ 475 ล.)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า สำหรับประเด็นปัญหาพื้นที่บางส่วนของอาคารผู้โดยสารและครุภัณฑ์บางรายการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ และขาดการดูแลบำรุงรักษานั้น
สตง. สุ่มตรวจพบว่า มีเฉียด 2 พันรายการ รวมวงเงินความเสียหายกว่า 348 ล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้
จากการตรวจสอบการใช้ประโยชน์พื้นที่ของอาคารที่พักผู้โดยสารท่าอากาศยานภูมิภาคจํานวน 17 แห่ง พบว่า พื้นที่บางส่วนของอาคารที่พักผู้โดยสารและครุภัณฑ์บางรายการไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ครุภัณฑ์ที่ชํารุดส่วนใหญ่ไม่มีการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้โดยเร็ว ครุภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบํารุงรักษาตามรอบระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่มีการจําหน่ายครุภัณฑ์บางรายการที่มีลักษณะเสื่อมสภาพ ล้าสมัย หรือไม่คุ้มค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมออกจากทะเบียนครุภัณฑ์ให้เป็นไปตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2535
ส่งผลทําให้ 1.เกิดความไม่คุ้มค่าของเงินงบประมาณ มูลค่าของครุภัณฑ์บางรายการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ประมาณ 348.98 ล้านบาท และพื้นที่อาคารที่พักผู้โดยสารบางส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ทําให้ท่าอากาศยานเสียโอกาสที่จะมีรายได้จากการให้เช่าพื้นที่คิดเป็นเงินประมาณ 126.93 ล้านบาท ในขณะที่พื้นที่ดังกล่าวต้องมีต้นทุนในการดูแลบํารุงรักษาทุกปีซึ่งท่าอากาศยานที่มีสภาพปัญหาดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นท่าอากาศยานที่ประสบภาวะขาดทุนจากการดําเนินงานอย่างต่อเนื่องทุกปี
2.ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานที่ ICAO กําหนด อาจไม่สามารถช่วยป้องกันหรือรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสารที่มาใช้บริการได้เนื่องจากส่วนใหญ่มีปัญหาครุภัณฑ์ชํารุดโดยไม่ได้มีการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้โดยเร็ว อาทิยานพาหนะสําหรับการกู้ภัยและดับเพลิง เครื่องตรวจอาวุธและวัตถุอันตราย เป็นต้น
3.การใช้งานเครื่องมืออุปกรณ์ซึ่งไม่ต่อเนื่อง ทําให้ประสิทธิภาพในการทํางานลดลง ซึ่งอาจไม่คงทนหรือมีอายุการใช้งานน้อยลง ทําให้ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมแพงกว่าปกติและหากต้องซ่อมแซมจําเป็นต้องใช้งบประมาณจํานวนมาก ซึ่งอาจไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะสามารถดําเนินการได้ทันทีและต้องรอการอนุมัติงบประมาณอีกเป็นเวลานาน ทําให้เสียโอกาสในการใช้งานเครื่องมืออุปกรณ์ดังกล่าวหรือไม่มีสําหรับรองรับการให้บริการได้อย่างเหมาะสม
โดยสรุปดังนี้
หนึ่ง พื้นที่บางส่วนของอาคารที่พักผู้โดยสารไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์โดยพบว่าท่าอากาศยานจํานวน 7 แห่ง มีพื้นที่อาคารที่พักผู้โดยสารบางส่วนไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการออกแบบและก่อสร้าง โดยส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นระยะเวลามากกว่า 9 ปีขึ้นไป สูงสุดประมาณ 22 ปี ดังนี้
(1) ห้องสําหรับให้บริการผู้โดยสารระหว่างประเทศ ได้แก่ ห้องพักผู้โดยสารระหว่างประเทศขาเข้าและขาออก ห้องตรวจหนังสือเดินทาง ห้องรับรองพิเศษผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศของท่าอากาศยานอุบลราชธานีและพิษณุโลกไม่ได้ใช้ประโยชน์มาเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปีและ 9 ปีตามลําดับ โดยแต่ละท่าอากาศยานมีขนาดพื้นที่ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ประมาณ 4,000 ตารางเมตร ขึ้นไป
(2) พื้นที่ให้เช่าสําหรับผู้ประกอบการ ได้แก่ ห้องภัตตาคารของท่าอากาศยานจํานวน 7 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยาน อุบลราชธานีนครพนม พิษณุโลก ร้อยเอ็ด ชุมพร ระนอง และสกลนคร ระยะเวลาที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในแต่ละท่าอากาศยานประมาณ 9 – 22 ปีขนาดพื้นที่ประมาณ 240 – 384 ตารางเมตร ห้องสํานักงานสายการบิน จํานวน 4 แห่ง ได้แก่ท่าอากาศยาน พิษณุโลก นครพนม ชุมพร และสกลนคร ระยะเวลาที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของแต่ละท่าอากาศยานประมาณ 4 – 17 ปี
นอกจากนี้พบว่าในการก่อสร้างปรับปรุง ขยายอาคารที่พักผู้โดยสารของท่าอากาศยานบางแห่ง ไม่มีข้อมูลแผนธุรกิจและข้อมูลสําหรับการวางแผนบริหารจัดการที่ชัดเจน ซึ่งอาจทําให้พื้นที่อาคารที่พักผู้โดยสารรวมถึงครุภัณฑ์สําหรับให้บริการไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์และอาจเกิดความไม่คุ้มค่าของเงินงบประมาณ
สอง ครุภัณฑ์ของท่าอากาศยานบางรายการไม่ได้ใช้ประโยชน์จํานวนรวม 1,947 รายการ คิดเป็นร้อยละ 20.50 ของจํานวนครุภัณฑ์ทั้งหมดที่สุ่มตรวจสอบ มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 348.98 ล้านบาท ซึ่งมูลค่ารวมดังกล่าวเป็นมูลค่าของครุภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพียง 1,062 รายการ ยังมีครุภัณฑ์ที่ไม่สามารถระบุมูลค่าได้ถึง 885 รายการ กล่าวคือ ครุภัณฑ์มีสภาพชํารุดโดยไม่มีการซ่อมแซมให้สามารถใช้งานตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จํานวน 1,088 รายการ คิดเป็นร้อยละ 11.46 ของจํานวนครุภัณฑ์ทั้งหมดที่สุ่มตรวจสอบและสามารถระบุราคาได้มูลค่ารวม 268.18 ล้านบาท และครุภัณฑ์ที่มีสภาพปกติแต่ไม่มีการใช้งาน ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ครุภัณฑ์มีจํานวนมากเกินความต้องการใช้งาน หรือครุภัณฑ์ที่อายุการใช้งานยาวนานมีการเสื่อมสภาพ ล้าสมัย ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสม จํานวน 859 รายการ คิดเป็นร้อยละ 9.04 ของจํานวนครุภัณฑ์ ทั้งหมดที่สุ่มตรวจสอบ มูลค่ารวม 80.80 ล้านบาท
ครุภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แยกได้ดังนี้
1.ครุภัณฑ์เพื่ออํานวยความปลอดภัย ซึ่งบางรายการมีระยะเวลาที่ไม่ได้ใช้ งานมากกว่า 3-5 ปีเนื่องจากชํารุด และเกินความต้องการใช้งาน ทั้งนี้ครุภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ชํารุด ใช้งาน ไม่ได้มีอายุการใช้งานมากกว่า 15 – 25 ปีประกอบด้วย
(1) ประเภทยานพาหนะและขนส่ง แยกตามรายการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ได้แก่
– รถดับเพลิง จํานวน 25 คัน คิดเป็นร้อยละ 34.25 ของจํานวนที่สุ่มตรวจสอบมูลค่ารวม 198.26 ล้านบาท มีสภาพชํารุดจํานวน 23 คัน และมีสภาพปกติแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จํานวน 2 คัน
– รถบรรทุกน้ําดับเพลิง จํานวน 4 คัน คิดเป็นร้อยละ 13.33 ของจํานวนที่สุ่มตรวจสอบ มูลค่ารวม 11.46 ล้านบาท มีสภาพชํารุด
– รถกวาดดูด จํานวน 7 คัน คิดเป็นร้อยละ 35.00 ของจํานวนที่สุ่มตรวจสอบ มูลค่ารวม 23.70 ล้านบาท มีสภาพชํารุด จํานวน 5 คัน และมีสภาพปกติแต่ไม่ได้ใช้งานจํานวน 2 คัน
– รถแทรกเตอร์จํานวน 5 คัน คิดเป็นร้อยละ 18.51 ของจํานวนที่สุ่มตรวจสอบ มูลค่ารวม 15.63 ล้านบาท มีสภาพชํารุด จํานวน 3 คัน และสภาพปกติแต่ไม่ใช้งานจํานวน 2 คัน
– รถพยาบาล จํานวน 6 คัน คิดเป็นร้อยละ 24.00 ของจํานวนที่สุ่มตรวจสอบ มูลค่า 4.27 ล้านบาท มีสภาพชํารุด จํานวน 4 คัน และมีสภาพปกติแต่ไม่ได้ใช้งานจํานวน 2 คัน
(2) ประเภทเครื่องตรวจอาวุธและวัตถุระเบิด ได้แก่
– เครื่อง X-Ray จํานวน 38 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 43.68 ของจํานวนที่สุ่มตรวจสอบ มูลค่ารวม 67.37 ล้านบาท มีสภาพชํารุด จํานวน 21 เครื่อง และสภาพปกติแต่ไม่ใช้งาน จํานวน 17 เครื่อง
– เครื่อง Walk Through จํานวน 33 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 51.56 ของจํานวนที่สุ่มตรวจสอบ มูลค่ารวม 6.35 ล้านบาท มีสภาพชํารุด จํานวน 10 เครื่อง และสภาพปกติแต่ไม่ใช้งาน จํานวน 23 เครื่อง
– เครื่อง Hand Scanner จํานวน 67 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 54.03 ของจํานวนที่สุ่มตรวจสอบ มูลค่ารวม 0.42 ล้านบาท มีสภาพชํารุดจํานวน 34 เครื่อง และสภาพปกติแต่ไม่ใช้งาน จํานวน 33 เครื่อง
– ระบบโทรทัศน์วงจรปิด (Digital CCTV) จํานวน 158 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 27.62 ของจํานวนที่สุ่มตรวจสอบ มีสภาพชํารุดจํานวน 150 เครื่องและสภาพปกติแต่ไม่ใช้งาน จํานวน 8 เครื่อง
2.ครุภัณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวก ไม่ได้ใช้ประโยชน์ดังนี้
– ลิฟต์จํานวน 7 ตัว คิดเป็นร้อยละ 26.92 ของจํานวนที่สุ่มตรวจสอบ มูลค่ารวม 1.20 ล้านบาท มีสภาพชํารุด จํานวน 6 ตัว และสภาพปกติแต่ไม่ใช้งาน จํานวน 1 ตัว
– เครื่องปรับอากาศ จํานวน 201 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 24.56 ของจํานวนที่สุ่มตรวจสอบ มูลค่ารวม 1.24 ล้านบาท มีสภาพชํารุด จํานวน 132 เครื่อง และสภาพปกติแต่ไม่ใช้งาน จํานวน 69 เครื่อง
– บันไดเลื่อน จํานวน 7 ตัว คิดเป็นร้อยละ 18.92 ของจํานวนที่สุ่มตรวจสอบไม่สามารถระบุมูลค่าได้เพราะไม่ปรากฏในทะเบียนครุภัณฑ์มีสภาพชํารุด จํานวน 5 ตัว และสภาพปกติแต่ไม่ใช้งาน จํานวน 2 ตัว
– สายพานลําเลียงสัมภาระ จํานวน 2 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 4.26 ของจํานวนที่สุ่มตรวจสอบ มูลค่ารวม 3.50 ล้านบาท มีสภาพชํารุด จํานวน 1 เครื่อง และสภาพปกติแต่ไม่ใช้งานจํานวน 1 เครื่อง
– ประตูอัตโนมัติจํานวน 16 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 28.07 ของจํานวนที่สุ่มตรวจสอบ ไม่สามารถระบุมูลค่าได้เพราะไม่ปรากฏในทะเบียนครุภัณฑ์มีสภาพชํารุดจํานวน 14 เครื่องและสภาพปกติแต่ไม่ใช้งาน จํานวน 2 เครื่อง
– สะพานเทียบเครื่องบิน จํานวน 1 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 16.67 ของจํานวนที่สุ่มตรวจสอบ มูลค่า 13.95 ล้านบาท มีสภาพปกติแต่ไม่ใช้งาน
– เก้าอี้รองรับผู้โดยสาร จํานวน 996 ชุด คิดเป็นร้อยละ 18.15 ของจํานวนที่สุ่มตรวจสอบ มูลค่ารวม 0.03 ล้านบาท มีสภาพชํารุด จํานวน 455 ชุด และสภาพปกติแต่ไม่ใช้งานจํานวน 541 ชุด
– รถเข็นสัมภาระจํานวน 371 คัน คิดเป็นร้อยละ 19.28 ของจํานวนที่สุ่มตรวจสอบมูลค่ารวม 0.05 ล้านบาท มีสภาพชํารุดจํานวน 221 คัน และสภาพปกติแต่ไม่ใช้งาน จํานวน 150 คัน
– รถกวาดดูดภายในอาคาร จํานวน 3 คัน มูลค่ารวม 1.55 ล้านบาท มีสภาพชํารุด
สาม ครุภัณฑ์ที่ชํารุดส่วนใหญ่ไม่ได้มีการซ่อมแซม บํารุงรักษาให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ โดยเร็ว โดยพบว่า การซ่อมแซมครุภัณฑ์ที่ชํารุดเป็นไปโดยล่าช้า ส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลาซ่อมไม่น้อยกว่า 6 เดือน และมีครุภัณฑ์จํานวนมากใช้ระยะเวลาการซ่อมมากกว่า 1 – 2 ปี
นอกจากนี้ยังพบว่าเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ หรือท่าอากาศยานภูมิภาคไม่ได้ดําเนินการแจ้งซ่อมครุภัณฑ์บางรายการที่ชํารุดไปยังฝ่ายช่างเทคนิคของท่าอากาศยาน หรือหน่วยงานในส่วนกลางแต่อย่างใด ทั้งนี้ท่าอากาศยานบางแห่งมีครุภัณฑ์บางรายการชํารุดทั้งหมดเป็นเวลานาน และไม่ได้รับการซ่อมแซมโดยเร็ว ทําให้ไม่มีไว้ใช้งานเพื่อรองรับการบริการ และไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ ICAO กําหนด เช่น รถดับเพลิงของท่าอากาศยานระนอง เป็นต้น
อนึ่ง กรณีที่มีการจ้างบริษัทเพื่อทําการซ่อมครุภัณฑ์ประเภทรถดับเพลิง และรถบรรทุกน้ำดับเพลิง ปรากฏว่าใช้ระยะเวลาในการซ่อมนาน บางแห่งไม่น้อยกว่า 3 ปีและยังไม่สามารถใช้งานได้
สี่ ครุภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบํารุงรักษาตามระยะเวลาที่เหมาะสม โดยพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการบํารุงรักษาครุภัณฑ์ในช่วงระยะเวลา 5 ปีย้อนหลัง พบว่ายานพาหนะด้านการกู้ภัยและดับเพลิงที่สุ่มตรวจสอบจํานวน 209 คัน ขาดการบํารุงรักษาเป็นจํานวนมาก กล่าวคือ ไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ํามันเครื่องรวมถึงน้ํามันหล่อลื่นต่าง ๆ ถึงร้อยละ 50.24 ไม่มีการเปลี่ยนล้อยางรถร้อยละ 71.29 ซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพไม่เหมาะสมสําหรับการใช้งานเพราะไม่มีดอกยางและไม่เปลี่ยนแบตเตอรีร้อยละ 39.23 นอกจากนี้ครุภัณฑ์ประเภทอํานวยความสะดวก เช่น ลิฟต์ บันไดเลื่อน เครื่องปรับอากาศ สายพานลําเลียงสัมภาระผู้โดยสาร และสะพานเทียบเครื่องบิน ไม่ได้รับการบํารุงรักษาประจําปีอย่างต่อเนื่องในทุกท่าอากาศยาน
ห้า ไม่มีการจําหน่ายครุภัณฑ์บางรายการที่มีลักษณะเสื่อมสภาพ ล้าสมัย ออกจากทะเบียนครุภัณฑ์ให้เป็นไปตามระเบียบพัสดุฯ ซึ่งพบว่าครุภัณฑ์ที่ชํารุดเกินกว่า 5 ปีอยู่ในลักษณะเสื่อมสภาพล้าสมัย ไม่สามารถใช้งานได้โดยครุภัณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานประมาณ 15 – 25 ปีและไม่มีการจําหน่ายออกจากทะเบียนครุภัณฑ์เป็นจํานวนมาก
หก ห้องน้ำภายในอาคารบริการผู้โดยสารชํารุด และขาดการบํารุงรักษา ซึ่งจากการสุ่มตรวจสอบพบการชํารุดของห้องน้ํา โถปัสสาวะชาย อ่างล้างมือ และห้องน้ําผู้พิการ นอกจากนี้จากข้อมูลของท่าอากาศยานที่มีการสัมภาษณ์ผู้โดยสารถึงสภาพปัญหาของห้องน้ําที่พบบ่อยครั้งและต้องการให้ปรับปรุงแก้ไขมากที่สุดคือ จํานวนห้องน้ำไม่เพียงพอ คิดเป็นร้อยละ 80.00 รองลงมาคือไม่สะอาด น้ำไม่ไหลหรือไหลไม่แรงมีกลิ่นเหม็น คิดเป็นร้อยละ 50.00 30.00 20.00 ตามลําดับ
ข้อเสนอแนะ ให้อธิบดีกรมทาอากาศยาน ่ พิจารณาดําเนินการดังนี้
1. สั่งการท่าอากาศยานภูมิภาคทุกแห่งให้สํารวจพื้นที่อาคารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์และให้ผู้บริหารท่าอากาศยานภูมิภาคพิจารณาหาแนวทางเบื้องต้นและวางแผนบริหารจัดการให้มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวให้เกิดความคุ้มค่าตามความเหมาะสมเสนอให้กรมการบินพลเรือนพิจารณาความเป็นไปได้และความเหมาะสมอีกครั้ง โดยอาจมีการตั้งคณะทํางานขึ้นมาเพื่อดําเนินการพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุ้มค่า
2. สั่งการท่าอากาศยานทุกแห่งให้สํารวจครุภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ณ ปัจจุบันทั้งหมดทั้งกรณีครุภัณฑ์ที่ชํารุดซึ่งมีการแจ้งซอมแล ่ ว้ และที่ยังไม่ได้แจ้งซ่อมรวมถึงครุภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้งานทั้งหมดเพื่อทราบว่ามีประเภทใดบ้าง จํานวนเท่าใด สาเหตุใด และดําเนินการดังนี้
2.1 ครุภัณฑ์ที่ท่าอากาศยานยังไม่ได้แจ้งซ่อมให้ท่าอากาศยานพิจารณาความเห็นประกอบว่าจะซ่อมหรือไม่ โดยกรมการบินพลเรือนต้องนําความเห็นนั้นมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะดําเนินการซ่อมหรือไม่ โดยพิจารณาถึงความคุ้มค่าของค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น อายุการใช้งาน ประสิทธิภาพในการใช้งาน หลังจากดําเนินการซ่อมแล้ว รวมถึงความเพียงพอ ความจําเป็นในการใช้งาน และแจ้งผลการพิจารณาแนวทางการดําเนินการให้ท่าอากาศยานภูมิภาคทราบ
2.2 ครุภัณฑ์ที่ท่าอากาศยานมีการแจ้งซ่อมแล้วให้พิจารณาแนวทางดําเนินการว่าจะซ่อมหรือไม่แล้วแจ้งให้ท่าอากาศยานทราบถึงผลการพิจารณา รวมถึงแนวทางการดําเนินการและระยะเวลาที่ชัดเจน
2.3 ครุภัณฑ์ที่ท่าอากาศยานไม่ได้ใช้งานเนื่องจากเกินความจําเป็น หรือเสื่อมสภาพ ล้าสมัยใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ ให้พิจารณาดําเนินการ ดังนี้
2.3.1 ครุภัณฑ์ที่เกินความจําเป็นในการใช้งานของท่าอากาศยาน ซึ่งครุภัณฑ์ดังกล่าวยังใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้สํารวจความต้องการจากท่าอากาศยานภูมิภาคอื่น ๆ ที่มีความประสงค์ต้องการใช้หรือยังมีความขาดแคลนครุภัณฑ์รายการดังกล่าว เพื่อพิจารณาโอนให้ท่าอากาศยานที่มีความจําเป็นเพื่อใช้งาน และจัดทําเอกสารการโอนให้เป็นลายลักษณ์อักษรต่อไป
2.3.2ครุภัณฑ์ที่เสื่อมสภาพ ล้าสมัย ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพให้พิจารณาอีกครั้งว่าจะใช้ประโยชน์ครุภัณฑ์ดังกล่าวอีกหรือไม่ โดยคํานึงถึงความคุ้มค่าของค่าใช้จ่ายในการบํารุงรักษาที่จะเกิดขึ้น อายุการใช้งานและประสิทธิภาพในการใช้งานเป็นสําคัญ ทั้งนี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ถึงความคุ้มค่าในการใช้งานและค่าใช้จ่ายในการบํารุงรักษาที่จะเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อท่าอากาศยาน กรณีที่พิจารณาแล้วว่าไม่คุ้มค่าในการใช้งานครุภัณฑ์ดังกล่าว ต้องเร่งรัดให้ท่าอากาศยานดําเนินการจําหน่ายครุภัณฑ์ดังกล่าวตามขั้นตอนของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 เพื่อไม่ให้เป็นภาระในการเก็บรักษาของท่าอากาศยานต่อไป
3. กําชับเรื่องการจัดทําฐานข้อมูลครุภัณฑ์หรือระบบข้อมูลทะเบียนครุภัณฑ์โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในส่วนกลางตรวจสอบ แก้ไขข้อมูลสถานะของครุภัณฑ์รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน กรณีที่กรมการบินพลเรือนหรือท่าอากาศยานมีการดําเนินการกับครุภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์โดยการจําหน่ายครุภัณฑ์ดังกล่าวตามขั้นตอนของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 การโอนให้หน่วยงานอื่น หรือการโอนระหว่างท่าอากาศยาน เป็นต้นเมื่อดําเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ให้ท่าอากาศยานภูมิภาคในกํากับดูแลทุกแห่งดําเนินการตรวจสอบ แก้ไขข้อมูลสถานะของครุภัณฑ์รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ในทะเบียนคุมครุภัณฑ์ทุกประเภท/รายการครุภัณฑ์ให้ครบถ้วน ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน สอดคล้องตรงกับข้อมูลในส่วนกลาง
4. หามาตรการหรือกําหนดแนวทาง ขั้นตอนที่ชัดเจนในการดําเนินการเกี่ยวกับการซ่อมแซมครุภัณฑ์ของท่าอากาศยาน โดยให้มีขั้นตอน รูปแบบการแจ้งซ่อมที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรสําหรับหน่วยงานในส่วนกลางที่ได้รับการแจ้งซ่อมต้องพิจารณาโดยเร็วว่าจะดําเนินการอย่างไรกับครุภัณฑ์ดังกล่าว และให้มีการแจ้งผลการพิจารณาให้ท่าอากาศยานทราบถึงแนวทางและระยะเวลาที่จะดําเนินการกับครุภัณฑ์ที่ชํารุดดังกล่าวอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย
5. ให้มีการทบทวน และจัดทําข้อมูลเกี่ยวกับระบบควบคุมครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง ให้มีความครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน ให้ยึดตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 โดยเคร่งครัด โดยเฉพาะให้ครอบคลุมข้อมูลการได้มา วันที่ได้มา มูลค่า ประวัติการซ่อมแซม การบํารุงรักษา สถานะปัจจุบันของครุภัณฑ์เป็นต้น เพื่อใช้ข้อมูลดังกล่าวในการบริหารจัดการครุภัณฑ์ของท่าอากาศยานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
6. พิจารณาให้ท่าอากาศยานเป็นผู้ดําเนินการซ่อมรถดับเพลิงที่ชํารุดตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเอง เนื่องจากท่าอากาศยานเป็นผู้ใช้และบํารุงรักษารถดับเพลิงอยู่แล้ว ประกอบกับสํานักพัฒนาท่าอากาศยาน (สพท.) มีบุคลากรที่จํากัดเมื่อเทียบกับปริมาณรถดับเพลิงในปัจจุบันที่มีจํานวนมากอาจทําให้การซ่อมซึ่งดําเนินการโดย สพท. เองทั้งหมดเกิดความล่าช้า
7. ให้ดําเนินการกับบริษัทผู้รับจ้างซ่อมยานพาหนะกู้ภัยและดับเพลิงกรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญาและดําเนินการล่าช้า โดยอาจพิจารณายกเลิกสัญญาหรือให้มีการคิดค่าปรับตามความเหมาะสม
8. พิจารณาให้ความสําคัญในการบํารุงรักษาครุภัณฑ์อํานวยความปลอดภัยและอํานวยความสะดวกตามรอบระยะเวลาอย่างเคร่งครัด