มหาดไทย มอบผู้ว่าฯ ใช้กลไก “กศจ.” ปลูกฝังค่านิยมดีงามเด็๋ก ฝึกเข้าเเถว-เคารพกฎจราจร
มหาดไทยสนองนโยบายปฏิรูปการศึกษา มอบผู้ว่าฯ ใช้กลไก “กศจ.” เร่งปลูกฝังค่านิยมอันดีงามแก่เด็กและเยาวชน ฝึกเคารพสิทธิ์ผู้อื่น ต่อเเถวในโรงอาหาร มีวินัยจราจร
วันที่ 19 มิถุนายน 2559 นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่ง คสช.ที่10/2559 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค เพื่อประโยชน์ในการเดินหน้ากระบวนการปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศให้เกิดผลสัมฤทธิ์และสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ โดยแต่งตั้ง “คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด” (กศจ.) ที่มี ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน มีผู้แทนภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชนร่วมเป็นกรรมการ โดยมีศึกษาธิการจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์ แนวทางการจัดการศึกษา ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท รวมทั้งประสานและส่งเสริมการบริหารและการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการศึกษาของจังหวัด นั้น
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่าเพื่อให้การจัดการศึกษาของจังหวัดสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคมในมิติต่างๆ ควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์ด้านการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการอย่างสอดประสานกัน. กระทรวงมหาดไทยจึงกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้กลไกคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดในการสนับสนับสนุนและส่งเสริมให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาในทุกจังหวัด จัดกิจกรรมสร้างเสริมวินัยและรักษาวัฒนธรรมไทยที่ดีงามให้แก่นักเรียน นักศึกษา ซึ่งได้แก่ การฝึกฝนให้เกิดความตระหนักรู้ในเรื่องแบบธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสากล เช่น การเคารพสิทธิ์ผู้มาก่อน โดยให้ฝึกหัดให้นักเรียน นักศึกษารู้จักการเข้าคิวเข้าแถว ในโรงอาหาร หรือการใช้ห้องสมุดหรือ การเข้าคิวขึ้นรถหน้าโรงเรียน การเคารพกฎกติกาด้านการจราจร
โดยเริ่มให้นักเรียน นักศึกษาที่ขับรถยนต์หรือใช้จักรยานยนต์ มาเรียนหนังสือต้องมีใบขับขี่ สวมหมวกกันน็อค และเข้าใจรู้จักและปฏิบัติตามกฎระเบียบจราจรอย่างเคร่งครัด การจัดระเบียบการจอดรถหน้าสถานศึกษาเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชุมชนรอบโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา รวมทั้งการฝึกหัดกริยามารยาทในเรื่องการไหว้ การเคารพผู้อาวุโส ตลอดจนการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยโดยจัดเวรหรือร่วมกันทำความสะอาดภายในห้องเรียนหรือบริเวณโรงเรียนหรือการเก็บและแยกขยะของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเป็นต้น
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า หากสามารถฝึกหัดหรือจัดกิจกรรมในโรงเรียนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยที่ดีและสร้างเสริมวินัยในเรื่องต่างๆ จนเป็นนิสัยของลูกหลานโดยเริ่มตั้งแต่เยาว์วัยที่เป็นนักเรียน นักศึกษาได้อย่างพร้อมเพรียงกันทุกจังหวัดและต่อเนื่องแล้วก็จะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้การแก้ไขปัญหาสังคมด้านต่างๆ ในระยะยาว สามารถลดผลกระทบอันไม่พึงปรารถนาลงได้ และจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆประสบความสำเร็จ เช่น เรื่องการลดอุบัติเหตุทางถนน เพราะทุกคนตระหนักและรู้จักการใช้รถใช้ถนนอย่างถูกต้องรวมทั้งมีวัฒนธรรมในการเคารพสิทธิ์ผู้มาก่อน เคร่งครัดในการเข้าแถวหรือเข้าคิวจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทุกคนยึดถืออย่างจริงจังต่อไป.
ภาพประกอบ:www.cres.in.th