สมชาย หอมลออ แนะรัฐตั้ง "กรรมการกลาง" สอบซ้อมทรมาน
ยังคงมีควันหลงเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้ กรณี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งจับ 3 เอ็นจีโอ
บุคคล 3 คนที่ถูกแจ็คพ็อต คือ ผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายในองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) จำนวน 3 คน คือ สมชาย หอมลออ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ
ข้อหาที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี คือ ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากพฤติการณ์เผยแพร่รายงานสถานการณ์การซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นลบกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง
ล่าสุดมีการเผยแพร่เอกสาร “หมายเรียกผู้ต้องหา” ให้ทั้ง 3 คนเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี ในวันที่ 26 มิ.ย.59
สมชาย เปิดใจกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า รายงานเรื่อง “สถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2557-2558” ที่ได้จัดทำขึ้นนั้น เป็นการดำเนินงานตามหน้าที่ หลังจากมีผู้ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมาน ซึ่งได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อเหยื่อการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nations Fund for Victims of Torture)
รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อสะท้อนให้ภาครัฐได้เห็นว่า ปัญหาการซ้อมทรมานยังมีอยู่ แม้ว่าภาครัฐจะไม่ต้องการรายงานชิ้นนี้ แต่ในทางปฏิบัติค่อนข้างชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ยังขาดความเข้าใจ และยังเลือกใช้วิธีการซ้อมทรมานในการให้ได้มาซึ่งข้อมูลหลังการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาคดีความมั่นคง
ส่วนประเด็นการไม่เปิดเผยชื่อในรายงานของเหยื่อที่ถูกซ้อมทรมานนั้น สมชาย บอกว่า เป็นเพราะประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยเปิดเผยรายชื่อกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับสูง แต่เหยื่อก็ยังคงถูกทำร้ายและถูกคุกคามมากขึ้น จึงถือว่าไม่มีหลักประกันในเรื่องความปลอดภัย ฉะนั้นจึงไม่ต้องการเปิดเผยรายชื่อทั้งหมด
“ผมคิดว่าทางออกเรื่องนี้คือ ควรมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่เป็นกลางขึ้นมา โดยคณะกรรมการชุดนี้สามารถคุ้มครองผู้ที่ถูกซ้อมทรมานได้”
สมชาย บอกด้วยว่า แม้เขาไม่ได้เข้าไปสัมภาษณ์เหยื่อโดยตรง แต่ยืนยันว่ากระบวนการจัดเก็บข้อมูลทำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญและองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานลักษณะนี้ เช่น สภาเนติบัณฑิตของสหรัฐอเมริกา
“การทำหน้าที่ของเราเป็นไปตามกฎหมายและตรงไปตรงมา เชื่อว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่จะมีความยุติธรรม โดยผมและพวกจะปฏิบัติตามขั้นตอน คือเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา แต่จะไปวันไหนนั้นต้องนัดวันที่ทุกคนว่างพร้อมกัน ส่วนเรื่องหลังจากนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนปรึกษากับทนายความ” สมชาย กล่าว
ขณะที่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกเป็นประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ได้รับหมายเรียกจากตำรวจแล้ว พร้อมปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการ แต่เบื้องต้นอาจต้องขอเลื่อนนัดพบพนักงานสอบสวนไปก่อน เพื่อเตรียมเอกสารให้พร้อม
เว็บ change รณรงค์จี้นายกฯสั่งถอนแจ้งความ
ด้านเว็บไซต์ change.org ได้เปิดแคมเปญรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งถอนการแจ้งความดำเนินคดีกับเอ็นจีโอทั้ง 3 คน
ข้อความรณรงค์ในหน้าเว็บไซต์ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในประเทศไทยถูกกล่าวหาว่าใช้การทรมานอย่างเป็นระบบในการทำร้ายร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมต่อผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัว แทนที่รัฐบาลจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนข้อร้องเรียนนี้อย่างจริงจัง กลับมีความพยายามที่จะดำเนินคดีต่อนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามคน เนื่องจากพวกเขานำเรื่องการทรมานมาเปิดเผย และหากทหารจะข่มขู่คุกคามในลักษณะนี้ได้สำเร็จ คดีนี้จะส่งผลให้นักสิทธิมนุษยชนทั้งสามคนถูกตัดสินลงโทษจำคุกได้
ภาคประชาสังคมระหว่างประเทศจำเป็นต้องแสดงการสนับสนุนนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีของไทยถอนข้อกล่าวหาทางอาญาต่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งสามคน เพราะนายกรัฐมนตรีโดยตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) ที่เป็นหน่วยงานที่กล่าวหานักสิทธิมนุษยชนทั้งสามคนนี้
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 (ซ้าย) สมชาย หอมลออ (ขวา) พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
2 หมายเรียกของตำรวจ
3 นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คนที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี ภาพจากเว็บไซต์ change.org
ขอบคุณ : ภาพแรก ภาพต้นฉบับจากอินเทอร์เน็ต รวมภาพโดยฝ่ายศิลป์ ศูนย์ข่าวอิศรา