นักวิชาการดันตั้งกองทุนลดความเสี่ยงเกษตรกร จากภาษีส่งออกอาหาร-นำเข้าปุ๋ยเคมี
หมอประเวศดันใช้กระแสปฏิรูปเร่งฟื้นฟูเกษตรกร นักวิชาการชี้คนไทย 10 ล้านบริโภคเกิน อีก 10.7 ล้านคนขาดความมั่นคงทางอาหาร แนะตั้งกองทุนลดความเสี่ยงเกษตรกรจากภาษีส่งออกอาหารและนำเข้าปุ๋ย สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่และขยายผลเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายเกษตรกรเผยเรียนรู้จากต้นแบบความสำเร็จและปรับความสัมพันธ์ผู้ผลิตผู้บริโภค เสนอตั้งสมัชชาปฏิรูปเกษตร
วันนี้(15 มิ.ย.) ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดประชุม“การปฏิรูประบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร” โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎร อาวุโส กล่าวว่า ต้องอาศัยกระแสการปฏิรูปที่เกิดขึ้นในประเทศตอนนี้ ปฏิรูปด้านการเกษตร เช่น ที่ดินทำกิน ภาษี รวมทั้งแนวคิดธนาคารประชาชนซึ่งหากมีการจัดการดีจะส่งผลให้ภาคประชาชนเข้ม แข็งขึ้น ทั้งนี้คาดว่าภายใน 3 เดือนจะมีการกำหนดมาตรการเพื่อลดความเลื่อมล้ำ หลังจากนั้นฟังเสียงตอบรับจากสังคม ปรับปรุงจนเกิดเป็นเป้าหมายร่วมของทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดพลังจากมวลชนอย่างแท้จริงในการปฏิรูป
“ถ้าการเมืองนำทำยาก เพราะจะมีแต่คนค้าน แต่ถ้าสังคมเป็นฝ่ายจัดทำ การเมืองคอยสนองตอบจะดีกว่า พลังสังคมตอนนี้ถือเป็นอานิสงของวิกฤติที่เกิดขึ้น เพราะกำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน”
ผศ.จิตติ มงคลชัยอรัญญา อดีตคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความไม่เป็นธรรมในระบบเกษตรกรรมและอาหารว่าจากข้อมูลปี 2551 เกษตรกร 16 ล้านคนผลิตอาหารส่งออกได้ 778,056 ล้านบาท เป็นอันดับ 7 ของโลก แต่คนไทย 10.7 ล้านคนขาดความมั่นคงทางอาหาร และปัจจุบันมีคนบริโภคเกินถึง 10 ล้านคน หนี้สินระบบเกษตรกรรมสูงถึง 450,000-750,000 ล้านบาท และกว่า 510,000 รายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อรายได้(เอ็นพีแอล) มีเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินอีก 800,000 ครอบครัว กว่า 1 ล้านครอบครัวที่ทำกินไม่เพียงพอ เกษตรกรยังขาดศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในตนเอง สะท้อนจากเกษตรกรรุ่นใหม่มีจำนวนน้อยลงชัดเจน
ผศ.จิตติ กล่าวว่า การปฏิรูประบบและคุณภาพชีวิตเกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนความคิดและศึกษาภูมิ นิเวศ วิถีชีวิต ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนด้วย ซึ่งมีเเงื่อนไขที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ต้องทำ 8 เรื่องไปพร้อมกันคือเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา และประชาธิปไตย โดยจุดหลักคือสร้างชุมชนเข้มแข็งและเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่ง เป้าหมายของสำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชนและสังคม(สปกช.) คาดว่าภายใน 5 ปี ต้องปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ได้ อย่างน้อยต้องมีพิมพ์เขียวการพัฒนาการเกษตรโดยมีเนื้อหาเชื่อมโยงเกษตรกรราย ย่อยและชุมชน สร้างสังคมและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมยั่งยืน มีการพัฒนาองค์ความรู้ มีการสร้างกลไกหรือองค์กรอิสระซึ่งอาจจะดำเนินการผ่านกระบวนการสมัชชา นอกจากนี้ยังต้องมีกองทุนรองรับปัญหาเกษตรกร โดยอาศัยเม็ดเงินจากภาษีส่งออกอาหารที่สูงถึง 700,000 ล้านบาทต่อปี ภาษีนำเข้าปุ๋ยและสารเคมีซึ่งมียอดนำเข้าประมาณ 70,000 ล้านบาทต่อปี ถ้ากองทุนดังกล่าวเกิดได้จะช่วยลดความเสี่ยงแก่เกษตรกร
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า เครื่องมือสำคัญที่ต้องนำมาใช้ในการปฏิรูปภาคเกษตรคือนวัตกรรมและต้นแบบที่ ประสบความสำเร็จซึ่งมีอยู่มากมาย เช่น “โรงเรียนนาข้าว” จ.สุพรรณบุรี ซึ่งได้ผลผลิต 1,200-1,600 กก. ต่อไร่ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายด้านสารเคมีเลย “เครือข่ายโรงเรียนชาวนา”ที่ออกระเบียบว่าห้ามนำสารเคมีเข้ามาขายหรือโฆษณา ในชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา กลุ่มเกษตรกรรรมทางเลือกยโสธรและสุรินทร์ นอกจากนี้ควรสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค เช่นตัวอย่าง “กลุ่มกินเปลี่ยนโลก” ที่มีแนวคิดว่ากินอย่างไรถึงช่วยชุมชน ซึ่งขณะนี้องค์กรภาคธุรกิจ ตลาดทางเลือกหรือกลุ่มผู้บริโภคได้เข้ามาสนับสนุนความสัมพันธ์ด้านนี้มาก ขึ้น
นางสาวทัศนีย์ วีระกันต์ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า ต้องมีการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ปัญหาสารเคมีการเกษตร ระบบการคลังเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปชีวิตเกษตรกร ต้องตั้งสมัชชาปฏิรูประบบ ต้องผลักดันเรื่องความมั่นคงทางอาหารในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 และยุทธศาสตร์อาหารของคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ รวมถึงเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปประเทศสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรและ ชุมชนท้องถิ่น เช่น ผลักดันสภาเกษตร ปรับโครงสร้างหนี้ แก้ปัญหาที่ดิน
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เกษตรกรยังขาดหน่วยงานที่จะประสานปัญหากับภาครัฐ ซึ่งทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาควิชาการ ภาคธุรกิจ ต้องลงมาทำงานกับชาวบ้าน และสถาบันการเงินซึ่งมีหน้าที่หลักในการส่งเสริมปัจจัยการผลิตอาจต้องรับ บทบาทเข้ามาช่วยกระจายความเสี่ยงแบกรับภาระของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจาก ภัยธรรมชาติ
“ปัญหาหลักๆแก้ได้แค่มีตัวเชื่อมไปก่อให้เกิดความรู้ ลงไปคุยกับชาวบ้านกระตุ้นเกษตรกร และที่ต้องเร่งทำคือให้เกษตรกรกลับมาสู่หลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว” ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตวุฒิสมาชิก กล่าวว่า ขณะนี้คนส่วนใหญ่มองเกษตรกรรมเป็นเรื่องล้าหลัง มีเกษตรกรหนุ่มสาวน้อยมาก และใช้เครื่องจักรมาเป็นแรงงาน ซึ่งควรให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ด้วย ส่วน นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เสนอใช้ต้นแบบเกษตรอินทรีย์มาขยายผลต่อเกษตรกรส่วนใหญ่ ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนที่ทำได้โดยไม่ต้องรอรัฐ
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ควรให้ความสำคัญกับปัจจัยการผลิต ซึ่งขณะนี้พื้นที่เกษตรถูกรุกล้ำโดยภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก เนื่องจากไม่มีผู้สืบทอดอาชีพ คาดว่าในอนาคตที่ดินจะตกไปสู่นายทุนอุตสาหกรรมการเกษตร นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาระบบตลาดภายใน เพิ่มฝีมือแรงงานเพื่อยกระดับค่าจ้างให้สูงขึ้น .