อวสาน 'CTH' ยักษ์ใหญ่ทีวีเคเบิลไทย ก้าวพลาดทางธุรกิจของ 'วิชัย ทองแตง'
"..เราเป็นนักธุรกิจที่ผ่านอุปสรรคมามากพอสมควร เรื่องนี้ไม่ใช่การพนัน แต่เป็นการศึกษามาพอสมควร เราอาจได้กำไรน้อย หรือไม่ได้เลยแต่ผมอยากทำให้เคเบิ้ลบ้านนอก สามารถเดินออกมายืนทัดเทียมเคเบิ้ล หรือทีวีระดับปกติได้.."
ในที่สุดการทำธุรกิจทีวีเคเบิลของ บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) หรือ ซีทีเอช บริษัทยักษ์ใหญ่ทีวีเคเบิลของประเทศไทย ที่นำเสนอเนื้อหาการถ่ายทอดสดฟุตบอลต่างประเทศเป็นหลัก ก็เดินทางมาถึงบทสรุปสุดท้ายแล้ว
เมื่อล่าสุด 'ซีทีเอช' ได้มีการแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์เป็นทางการว่า บริษัทฯ จะยุติการให้บริการแก่ลูกค้าโดยลูกค้า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนก.พ.2559 ซีทีเอช ได้ออกมาแจ้งแก่ลูกค้าว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 ทางซีทีเอชจะยุติการให้บริการการรับชมช่องรายการผ่านกล่องสัญญาณ PSI โดยผู้ที่ต้องการจะรับสิทธิ์ชดเชยนั้นสามารถโทรติดต่อขอรับสิทธิ์ได้ที่ Call Center 1619 และ 1629
ส่งผลทำให้สมาชิกที่ใช้ระบบเพย์ทีวีผ่านกล่องดังกล่าวเข้าไปตั้งกระทู้ต่อว่าทางซีทีเอชผ่านเฟซบุ๊ก “ดูบอลสด CTH ซีทีเอช - พรีเมียร์ลีก” กันอย่างมาก เนื่องจากมีการจ่ายเงินจ่ายค่าแพ็กเกจไปแล้วตามคำโฆษณาของซีทีเอชในก่อนหน้า แต่กลับไม่สามารรถดูรายการตามที่ต้องการได้ เพราะมาเจอปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
และเสียงวิพากวิจารณ์ยังลามไปถึงการให้บริการที่มีปัญหาหลายเรื่องในช่วงที่ผ่านมา
แต่หัวข้อประการสำคัญที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คือ จุดจบของซีทีเอชคงจะมาถึงในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน ซึ่งเหตุผลหลักก็มาจากการที่ทางช่องไม่ได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกแล้วนั่นเอง (อ้างอิงข้อมูลส่วนนี้จากMGR Online )
และดูเหมือนคำทำนายจะไม่ผิดเพี้ยนไปจากความจริงมากนัก เพราะ สถานการณ์ของ ซีทีเอช วันนี้ ดูเหมือนว่าจะเดินทางมาถึงจุดจบสุดท้ายแล้วจริงๆ!
ทั้งนี้ หากย้อนข้อมูลไปดูวันเริ่มต้นธุรกิจสื่อ ของ ซีทีเอช จะพบว่า ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการประกาศก้าวลุยธุรกิจสื่ออย่างเต็มตัว ของ นายวิชัย ทองแตง อดีตทนายความชื่อดังในยุคของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ผันตัวเองสู่การเป็นนักลงทุนอิสระในตลาดหุ้น ก่อนจะรุกคืบเข้าไปในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอื่น จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
นายวิชัย ทองแตง เคยให้สัมภาษณ์กับ สํานักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย ว่า การเข้ามาสู่ธุรกิจสื่อของเขา มาจากความบังเอิญ เนื่องจากบังเอิญเขามีส่วนเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาพี่น้องเคเบิ้ลทั่วประเทศ เพราะพวกเขาประสบปัญหาเลยเชิญ นายวิชัย มาเป็นที่ปรึกษา
" พอเขาเดือดร้อนด้านการเงินเราก็อดไม่ได้ที่จะช่วย เลยคิดว่า ถ้าใส่เงินลงไปจะได้คืนไหม เลยนั่งคุยกันเลยคิดว่า ถึงเวลาที่ต้องปรับโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ สำหรับบริษัท เคเบิ้ล ไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ CTH เพราะต่อไปการแข่งขันจะเข้มมากขึ้น และห้วงเวลานั้นเข้มข้นมากในเรื่องการจะเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล การมี กสทช. เป็นตัวกระตุ้นเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้บริษัทเคเบิ้ลทั้งหลายต้องปรับตัว ไม่งั้นจะตกในภาวะกดดันและถดถอย เมื่อเขาประชุมกันแล้ว ก็เลยชวนผมเข้าไปถือหุ้นด้วย"
ทั้งนี้ เพื่อให้ธุรกิจมีความแข็งแรงและมั่นคงมากยิ่งขึ้น นายวิชัย จึงได้ไปเชิญ พาร์ทเนอร์หลายคนเข้ามาร่วมถือหุ้นในบริษัทเพิ่มเสริมทัพ และเส้นสายทางธุรกิจสื่อ
นายวิชัย ยอมรับว่า เขากดดันตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาใน CTH และพรีเมียร์ลีก อังกฤษ จนทุกวันนี้ คือ หัวใจของเคเบิ้ลทีวี คือ คอนเทนต์ และคอนเทนต์ที่เป็นพรีเมียร์ลีกอังกฤษนั้นถือได้ว่ามีมูลค่ามากที่สุดในโลก และเราก็วิเคราะห์ว่า ถ้าเราเชื่อมโยงโครงข่ายได้สำเร็จ เราจะเป็นบริษัทที่น่าสนใจของคอนเทนต์ยักษ์ใหญ่ทั่วโลก เราจึงใส่ราคาประมูลเข้าไปสูง
"เราเป็นนักธุรกิจที่ผ่านอุปสรรคมามากพอสมควร เรื่องนี้ไม่ใช่การพนัน แต่เป็นการศึกษามาพอสมควร เราอาจได้กำไรน้อย หรือไม่ได้เลยแต่ผมอยากทำให้เคเบิ้ลบ้านนอก สามารถเดินออกมายืนทัดเทียมเคเบิ้ล หรือทีวีระดับปกติได้"
ขณะที่เป้าหมายทางธุรกิจ ของ CTH ที่วางไว้ ก็ดูสวยงามเป็นอย่างยิ่ง ทั้งการเพิ่มฐานลูกค้า ให้ได้ 10 ล้านครัวเรือนภายใน 3 ปี นับจากเริ่มทำธุรกิจ และมีแผนจะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ด้วย
"โมเดลของเราคือ เพิ่มรายได้ทุกปี และให้แตะหลักหมื่นล้านบาทภายใน 3 ปี ส่วนจะกี่หมื่นล้านยังไม่บอกตัวเลข เรากำลังทำงานอยู่ ถึงวันที่เข้าตลาดน่าจะเป็นบริษัทในตลาดที่นักลงทุนให้ความสนใจ" นายวิชัยระบุ
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนแผนธุรกิจที่นายวิชัย วางไว้จะไม่ประสบความสำเร็จดั่งที่ตั้งใจ โดยเฉพาะเรื่องผลประกอบการทางธุรกิจ ที่ตั้งเป้าว่าจะมีรายได้กว่าหมื่นล้านบาทในปี 2558 หรือราวต้นปี 2559 นั้น
ปรากฏว่า ตัวเลขผลประกอบการปี 2556 ขาดทุนสุทธิกว่า 3.2 พันล้านบาท
ทั้งนี้ ข้อมูลจากงบการเงิน บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ปี 2556 รายได้ 859,742,446 บาท (เฉพาะรายได้จากการขายและบริการจำนวน 852,092,960 บาท) ขาดทุนสุทธิ 3,279,572,495 บาท มีสินทรัพย์ 8,889,499,412 บาท หนี้สิน 11,671,462,797 บาท (เป็นเงินกู้ยืมระยะยาว 4,926,658,887 บาท) ขาดทุนสะสม 3,581,963,385 บาท
บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ทุนปัจจุบัน 3,000 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 96/1 ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร มีผู้ถือหุ้น 25 ราย นางยิ่งลักษณ์ วัชรพล และ นาย วิชัย ทองแตง ถือหุ้นใหญ่ คนละ 25 ล้านหุ้น (คนละ 31.25%) นางไพเราะ ซีประเปสริฐ 7,470,000 หุ้น (9.33%) น.ส. กณานุช เล็กวิจิตร 5,230,100 หุ้น (6.53%) นายอำนาจ วงศ์สุวรรณ 3,400,000หุ้น (4.25%) ที่เหลือเป็นรายย่อย
ขณะที่ ก่อนหน้านี้ ซีทีเอชมีแผนการบริหารพรีเมียร์ลีกในช่วง 3 ปี จะมีรายได้หลักจากสมาชิกรายเดือน จัดทำแพ็คเกจเดือนละ 300 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 500 บาท สำหรับการรับชมครบทั้ง 380 แมทช์ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการให้ ซับไลเซ่นกับผู้ประกอบการในแพลตฟอร์มต่างๆ ที่สนใจ ในลักษณะแบ่งลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ให้กับผู้ซื้อสิทธิต่อโดยที่ซีทีเอช จะไม่ถ่ายทอดสดคู่การแข่งขันดังกล่าว แต่รูปแบบการให้สิทธิต่อไม่ว่าจะกรณีใดๆ จะต้องให้พรีเมียร์ลีกเห็นชอบก่อน และมีบริหารลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก ในลาว และกัมพูชา ซึ่งจะมีการเจรจากับผู้ประกอบการฟรีทีวีหรือเคเบิลทีวีในทั้ง 2 ประเทศดังกล่าวเพื่อขายสิทธิต่อ หรือการบริหารลิขสิทธิ์ร่วมกัน เป้าหมายเมื่อจบ 3 ปีในปี 2558 หรือราวต้นปี 2559 ซีทีเอช ต้องพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
แหล่งข่าวจากกลุ่มผู้ถือหุ้นบริษัท ซีทีเอช เคยเปิดเผย สำนักข่าวอิศราว่า สาเหตุหลักที่บริษัทขาดทุนเนื่องจากการหาสมาชิกผ่านเคเบิ้ลไม่เป็นไปตามเป้าหมายจากที่ตั้งเป้าว่าจะได้ 1 ล้านราย แต่หาได้เพียง 2 แสนราย มีลูกค้าที่ดูผ่านจานดาวเทียมต่างๆอีกประมาณ 1 แสนราย ขณะที่ต้องลงทุนเป็นจำนวนเงินมหาศาล เช่น ค่าซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกสูงถึง 9,000 ล้านบาท(เฉลี่ยต้นทุนปีละ 3,000 ล้าน) ค่าลงทุนอุปกรณ์ต่างๆรวมแล้วกว่าหมื่นล้านบาท และ ต้องกู้เงินจากธนาคารวงเงิน 14,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในช่วงแรกทางบริษัทตั้งเป้าที่จะดึงกลุ่มเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่นเข้าร่วมถือหุ้นและใช้เป็นช่องทางในการขายกล่องสมาชิก แต่ปรากฏว่า ในระหว่างการเจรจาทำให้กลุ่มเคเบิ้ลท้องถิ่นไม่พอใจเงื่อนไขเลยมีผู้เข้าร่วมเพียง 50% การหาสมาชิกจึงมีปัญหา นอกจากนั้นยังมีปัญหาการบริหารจัดการ เช่น การไม่สามารถจัดเก็บค่าสมาชิกได้ การแบ่งผลประโยชน์ค่าสมาชิกกับเคเบิ้ลท้องถิ่น ทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น ถึงขั้นมีการส่งข้อความทางโทรศัพท์บอกว่าจะยุติการเป็นสมาชิกกับลูกค้า
แหล่งข่าวกล่าวว่า ทางบริษัทพยายามหาทางหารายได้เพิ่มโดยการหาสมาชิกผ่านระบบโทรทัศน์ทางอินเตอร์เน็ต(IPTV), สมาร์ทโฟน รวมถึงการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลคู่สำคัญให้โทรทัศน์ช่องต่างๆ แต่สถานการณ์ไม่ดีขึ้น คาดว่า ปี 2557 ตัวเลขการขาดทุนอาจจะสูงกว่าปี 2556
ส่วนผลประกอบการทางธุรกิจล่าสุดในปี 2557 ที่นำส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา
ระบุว่า มีรายได้รวม 2,671,140,350 บาท แบ่งเป็นรายได้จากการขาย 1,193,154,031 บาท รายได้จากการบริการ 1,430,998,432 บาท รายได้อื่น 46,987,887 บาท
ส่วนรายจ่ายนั้น บริษัทฯ ระบุว่า มีรายจ่ายรวม 7,126,563,184 บาท แยกเป็นต้นทุนสินค้าที่ขาย 1,189,421,263 บาท ต้นทุนบริการ 5,192,848,353 บาท ค่าใช้จ่ายในการขาย 66,158,915 บาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 209,914,293 บาท ต้นทุนทางการเงิน 468,220,360 บาท
ขาดทุนสุทธิ 4,455,422,834 บาท
เปรียบเทียบผลประกอบการปี 2556 บริษัทฯ แจ้งว่า มีรายได้รวม 859,742,446 บาท แบ่งเป็น รายได้จากการขาย 24,178,704 บาท รายได้จากการบริการ 827,914,256 บาท รายได้อื่น 7,649,486 บาท รวมรายได้ 859,742,446 บาท
ส่วนรายจ่ายนั้น บริษัทฯ แจ้งว่า มีรายจ่ายรวม 4,139,314,941 บาท แยกเป็นต้นทุนสินค้าที่ขาย 15,949,657 บาท ต้นทุนบริการ 3,390,917,351 บาท ค่าใช้จ่ายในการขาย 231,470,124 บาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 213,756,042 บาท ต้นทุนทางการเงิน 287,221,767 บาท
ขาดทุนสุทธิ 3,279,572,495 บาท
ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2557 บริษัทฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่รายจ่ายก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะต้นทุนการบริการ
ขณะที่ข้อมูลในส่วนหนี้สิน ในงบการเงินปี 2557 บริษัทฯ แจ้งว่า มีหนี้สินหมุนเวียนรวม 7,902,812,184 บาท มีหนี้สินไม่หมุนเวียนรวม 6,292,386,902 บาท รวมหนี้สิน 14,195,199,086 บาท
ยอดขาดทุนสะสมปัจจุบันอยู่ที่ตัวเลข 7,922,514,043 บาท
(อ่านประกอบ : เปิดรายได้ล่าสุด 'CTH' ยักษ์ใหญ่บอลพรีเมียร์ฯ 2.6 พันล.ขาดทุนสะสม7.9 พันล.)
พร้อมกระแสข่าวที่ดังออกมาเป็นระยะๆ ว่า พาร์ทเนอร์หลายคนของนายวิชัย เริ่มทยอยโบกมือลาการร่วมทำธุรกิจ ซีทีเอช ไปพร้อมกับความบอบช้ำตั้งนานแล้ว
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ 'ซีทีเอช' ได้มีการแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์เป็นทางการว่า บริษัทฯ จะยุติการให้บริการแก่ลูกค้าโดยลูกค้า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป
ล่าสุด นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ออกมาระบุว่า เพิ่งทราบข่าวว่า CTH ประกาศจะยกเลิกการออกอากาศผ่านดาวเทียมไทยคม KU-BAND ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป ทั้งๆที่เพิ่งยุติการให้บริการของ Z PAY TV บนกล่อง GMM Z และนำกล่องของ CTH ไปเปลี่ยนให้กับผู้บริโภคกรณีที่ประสงค์จะรับชมช่องรายการต่างๆ ของ CTH ต่อเนื่อง ซึ่งผู้บริการบางรายที่รับชมผ่านจานดาวเทียมระบบ C-Band ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อจานใหม่ เนื่องจากกล่องของ CTH รองรับเฉพาะระบบ KU-Band เท่านั้น
และเมื่อ CTH จะยุติการออกอากาศเช่นนี้ย่อมมีผลกระทบผู้บริโภคแน่นอน และทันทีที่ทราบได้แจ้งให้สำนักงาน กสทช. ที่ดูแลเรื่องงานอนุญาตตรวจสอบว่ามีการแจ้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาหรือไม่ พร้อมทั้งหาข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือทั้งในแง่กฎหมาย และมาตรการเยียวยาที่สมเหตุสมผล
นางสาวสุภิญญา ยังระบุว่า นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้าจะหารือเพื่อเตรียมการณ์ต่างๆ กับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เนื่องจากการกำกับดูแลของ กสทช.จะได้ผลต่อเมื่อผู้ประกอบการยังประกอบกิจการอยู่ เพราะการลงโทษขั้นสูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาต อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่า CTH ยกเลิกการออกอากาศผ่านดาวเทียมไทยคมระบบ KU-Band เท่านั้น หรือยกเลิกกิจการทั้งหมด หากเป็นการเลิกกิจการและลอยแพลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ กสทช.ต้องขอความช่วยเหลือจาก สคบ.ที่มีอำนาจช่วยกำกับ
ส่วน กสทช. จะขึ้นบัญชีดำไว้ว่าไม่ให้ได้รับใบอนุญาตอีกในอนาคต รวมทั้งจะสอบถามข้อเท็จจริงต่างๆ กับไทยคมด้วยถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และจะประสานงานกับองค์กรผู้บริโภคในการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งอีกทางหนึ่งด้วย
“ดิฉันขอให้ผู้ใช้บริการของ CTH ตรวจสอบสิทธิ์การชดเชยแต่เนิ่นๆ เพราะจากการยุติการให้บริการในกล่องต่างๆ ของ CTH ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการหลายรายที่ติดต่อ Call center ไม่ได้ ยังไม่ได้รับการชดเชยหรือเยียวยาใดๆ บางรายร้องเรียนมาที่ดิฉัน และยังมีเรื่องร้องเรียนที่ค้างอยู่ที่สำนักงาน กสทช. ซึ่ง CTH ยังไม่สามารถแก้ไขเรื่องร้องเรียนได้ หากมีการยกเลิกการออกอากาศมาอีก คิดว่าปัญหาเรื่องร้องเรียนจะเพิ่มขึ้นอีกมากมายอย่างแน่นอน หากไปถึงขึ้นยกเลิกกิจการ และผู้บริโภคถูกลอยแพ โดยไม่ได้รับการเยียวยา จะต้องให้ สคบ.ใช้มาตรการทางกฎหมายกำกับต่อไป ” นางสาวสุภิญญากล่าว
ทั้งหมดนี่คือ สถานการณ์ล่าสุดและบทสรุปส่งท้าย ของ CTH ที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมกับการก้าวพลาดทาวธุรกิจของ ของ 'วิชัย ทองแตง'
ที่เจ้าตัวคงจะต้องจดจำไปนานแสนนานเลยทีเดียว
ส่วน 'ใคร' จะเป็นรายต่อไป โปรดจับตามองต่อไป ด้วยใจระทึก!
(อ่านประกอบ : สำรวจอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลล่าสุด "GMM-MONO-AMARIN" ขาดทุน"ตัวแดง" พรึบ! , "วอยซ์ทีวี" โชว์รายได้ดิจิทัลปีแรก 117ล. ขาดทุน 310 ล้าน หลังใส่เงินเพิ่มพันล.)