สธ.พร้อมร่วมมือแก้ไขปัญหายาเสพติด
สธ.พร้อมร่วมมือกับทุกหน่วยงานแก้ไขปัญหายาเสพติด นำผู้เสพเข้ารับการบำบัด เตรียมรพ.กว่า 800 แห่งในสังกัด ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยในปี 2558 นำผู้เสพผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลในสังกัดจำนวน 220,000 คน
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมทั้งเตรียมหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ศาล อัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางที่เป็นไปได้ในการยกเลิกเมทแอมเฟตามีนจากบัญชียาเสพติด ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้บูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดมาอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง ด้วยนโยบายสำคัญ 3 ด้าน คือ ปราบปราม ป้องกัน และบำบัด
"ประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับยาบ้านั้น น่าจะเป็นความพยายามที่จะลดจำนวนผู้ติดยาเสพติด ด้วยการเข้าไปช่วยผู้ติดยาเสพติดนำเข้าสู่ระบบบำบัด เช่นเดียวกับที่มีการดำเนินการในหลายประเทศ"
รมว.สธ. กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เราดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง การแก้ไขปัญหาก็ทำได้ในระดับหนึ่ง แต่หากมีการปรับการทำงาน ถ้า approach ใหม่ ไปช่วยให้ดูเป็นผู้ป่วยนำมารักษา มาดูแลกันมากกว่าที่จะเป็นอาชญากร อันนี้คือเพื่อลด ไม่ใช่เพื่อเพิ่ม ก็น่าจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ต้องติดตามดูกันต่อไป ทุกอย่างต้องเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีระบบรองรับผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดอยู่แล้ว โดยมีโรงพยาบาลรองรับจำนวน 800 กว่าแห่ง ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เพื่อลดจำนวนผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดให้ได้มากที่สุด
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวถึงผลการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด กระทรวงสาธารณสุขได้บูรณาการการทำงานในเรื่องการบำบัดรักษา โดยนำผู้เสพ/ผู้ติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดในระบบสมัครใจ ระบบบังคับบำบัดและระบบต้องโทษ โดยในปีงบประมาณ 2558 ได้รับกำหนดให้มีการนำผู้เสพผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดจำนวน 220,000 คน แบ่งเป็นระบบสมัครใจ จำนวน 69,700 คน ค่ายบำบัด 55,300 คน บังคับบำบัด 77,500 คน และต้องโทษ 17,500 คน
ที่มา:http://www.moph.go.th/