เปิดแล้ว! "อิสลามบูรพา" ฝ่ายความมั่นคงยันไร้ปัญหา ผู้นำศาสนา-ชาวบ้านดีใจ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาสเขต 1 ได้มีหนังสือเลขที่ นธ.0052/2554 อนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนโรงเรียนนมิพตาฮุลอูลูมอนุสรณ์ หรือโรงเรียนอิสลามบูรพาแล้ว โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา
โรงเรียนอิสลามบูรพา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "ปอเนาะสะปอม" ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ หมู่ 5 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส ถูกสั่งปิดตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.2550 ภายหลังฝ่ายความมั่นคงได้เข้าตรวจค้นภายในโรงเรียนเมื่อวันทื่ 2 ก.ค.ปีเดียวกัน และสามารถจับกุมผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัยรวมทั้งสิ้น 7 คน พร้อมด้วยของกลางวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง และอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมากจากบ้านร้างซึ่งตั้งอยู่ในเขตโรงเรียน
หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้คือ นายมะนาเซ ยา แกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบที่มีความเชี่ยวชาญด้านการต่อวงจรระเบิด และยังเป็นครูฝึกให้กับแนวร่วมรุ่นใหม่
ผลของการตรวจค้นจับกุม ทำให้มีการให้ข่าวจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางรายว่า โรงเรียนอิสลามบูรพาเป็นศูนย์กลางผลิตระเบิดแสวงเครื่องเพื่อส่งกระจายไปก่อเหตุในเกือบทุกพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเสนอเรื่องให้ นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้น ลงนามในคำสั่งถอนใบอนุญาตมูลนิธิอัดดีรอซาตอัลอิสลามียะห์ และปิดการเรียนการสอนของโรงเรียนอิสลามบูรพาตั้งแต่บัดนั้น
เป็นการปิดโรงเรียนท่ามกลางความรู้สึกเศร้าเสียใจและผิดหวังของบรรดาครู นักเรียน ศิษย์เก่า รวมทั้งชาวบ้านในแถบนั้น เพราะเชื่อว่าผู้บริหารโรงเรียน ครู อุสตาซ รวมทั้งนักเรียนเกือบทั้งหมดของโรงเรียนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบ และบุคคลที่ถูกจับกุมไป 7 คนก็มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่มีความเกี่ยวพันกับทางโรงเรียน ขณะที่กระท่อมซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบุกตรวจค้นก็เป็นกระท่อมร้าง แม้จะตั้งอยู่ในเขตโรงเรียนก็ตาม
กว่า 4 ปีแห่งการเฝ้ารอ...
ตลอดมา...ผู้บริหารโรงเรียน ครู และผู้ที่เกี่ยวข้องพยายามมาตลอดหลายปีเพื่อขออนุญาตเปิดการเรียนการสอนให้ได้อีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าการสั่งปิดโรงเรียนไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา ทั้งยังทำให้เด็กๆ ในละแวก ต.กะลุวอเหนือ และใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อน ต้องเดินทางไปศึกษายังโรงเรียนอื่นที่ไกลออกไป
ที่สำคัญยังมีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาหรือปอเนาะอีกหลายแห่งที่ถูกตรวจค้น จับกุม หรือผู้บริหารโรงเรียนถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับขบวนการก่อความไม่สงบ บางรายถึงขั้นมีหมายจับและรางวัลนำจับหลักล้านบาท แต่กลับไม่มีการสั่งปิดโรงเรียนเหล่านั้น ทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องผูกพันกับโรงเรียนอิสลามบูรพา ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู และศิษย์เก่า ต่างพากันรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมากหน้าหลายตาที่สลับสับเปลี่ยนหน้ากันลงมารับผิดชอบพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ทราบถึงข้อเรียกร้องของทางฝั่งโรงเรียน และทราบดีว่ากรณีการ "สั่งปิดปอเนาะ" ส่งผลสะเทือนทางความรู้สึกต่อพี่น้องมลายูมุสลิมขนาดไหน เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายรายจึงรับปากจะเดินเรื่องขอใบอนุญาตเปิดโรงเรียนให้ แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรในกอไผ่ โรงเรียนยังถูกปิดเรื่อยมา และผู้เกี่ยวข้องผูกพันกับโรงเรียนอิสลามบูรพาก็ทำได้แค่เพียงตั้งตารอ...
แต่แล้วความหวังความฝันที่จะเห็นโรงเรียนที่ตนเองรักและผูกพันก็กลับมาเรืองรองขึ้นอีกครั้ง เมื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) คนใหม่ เดินทางไปที่โรงเรียนด้วยตัวเองหลังรับตำแหน่งหมาดๆ และให้คำมั่นว่าจะผลักดันให้โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนให้ได้ เพราะคดีความทั้งหมดที่เกี่ยวกับโรงเรียน ศาลก็ยกฟ้องหมดแล้ว จึงไม่น่าจะมีเงื่อนไขใดๆ อีก
และในที่สุดความพยายามก็ประสบผล เมื่อ นายอรรถสิทธิ์ รัตนแคล้ว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาสเขต 1 ได้ลงนามในคำสั่งอนุญาตให้เปิดดำเนินการโรงเรียนอิสลามบูรพาได้ โดยใช้ชื่อใหม่ว่า โรงเรียนมิพตาฮุลอูลูมอนุสรณ์ หลังจากผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดยิบ โดยเฉพาะความพร้อมด้านอาคารสถานที่จากสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดนราธิวาส
วันนี้...ของอิสลามบูรพา
ทีมข่าว "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" เดินทางไปเยือนโรงเรียนอิสลามบูรพาก่อนมีคำสั่งเปิดเพียงไม่กี่วัน และได้เห็นภาพการเตรียมความพร้อมของทางโรงเรียนพอสมควร มีการถางหญ้ารอบโรงเรียน ห้องเรียนหลายสิบห้องในอาคารได้รับการปัดกวาด แม้จะยังไม่มีการทาสีใหม่เนื่องจากต้องรอความชัดเจนครั้งสุดท้ายและยังไม่มีทุนรอนเพียงพอ ขณะที่ป้ายชื่อโรงเรียนก็ใช้สีเขียวเข้มลบชื่อเดิมออก แต่ก็ยังไม่กล้าเขียนชื่อใหม่
ทว่าเสาธงสูงและธงไตรรงค์ที่พลิ้วสะบัดบริเวณสนามหน้าโรงเรียน เสมือนเป็นคำประกาศว่า อิสลามบูรพาพร้อมแล้วที่จะทำหน้าที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้กับเยาวชนมลายู ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวาน
น้ำใจศิษย์เก่า...รวบรวมเงินช่วยเหลือโรงเรียน
ซูใบดะห์ ดอเลาะ อดีตครูใหญ่โรงเรียนอิสลามบูรพา เล่าให้ฟังว่า เนื่องจากความไม่มั่นใจของชาวบ้านว่าโรงเรียนจะสามารถเปิดได้อีกครั้งจริงๆ จึงยังไม่ได้ปรับปรุงซ่อมแซมอะไรมาก ประกอบกับช่วงก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีความชัดเจน ทางโรงเรียนก็ไม่กล้าทำอะไร โดยเฉพาะการเปิดรับนักเรียนใหม่ เพราะหากมีอะไรผิดพลาด จะทำให้พี่น้องประชาชนที่ตั้งความหวังรู้สึกไม่ดีกับทางโรงเรียน
"ตลอดเวลาของการเดินเรื่องเพื่อขออนุมัติ เราได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่าย แม้แต่ศิษย์เก่าของเราก็ช่วยเหลือเรื่องเงินคนละเล็กคนละน้อยเพื่อเป็นค่าเดินทางไปติดต่อกับหน่วยราชการเพื่อขอใบอนุญาต ทำให้เราได้เห็นภาพดีๆ และความรู้สึกดีๆ ที่ทุกฝ่ายมีให้กับเรา"
ซูใบดะห์ บอกด้วยว่า ถึงวันนี้เรามีความพร้อมเต็มที่ เพราะครูเก่าๆ หลายคนก็ยังไม่ได้ไปไหน ยังอยู่กับทางโรงเรียนและรอโรงเรียนเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง นอกจากนั้นยังมีศิษย์เก่าของโรงเรียนที่ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาหลายคนก็แสดงความจำนงมาช่วยสอน ฉะนั้นหลังจากนี้ก็จะเปิดรับสมัครนักเรียนทั้งชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 เพราะเราจะเปิดสอนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นโรงเรียนมัธยมเต็มรูปแบบ
ชีวิตหลังโรงเรียนของครอบครัวอุสตาซ
เป็นเรื่องแปลกแต่จริง...ทว่าก็สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความผูกพันของสมาชิกโรงเรียนอิสลามบูรพา นั่นก็คือที่เรือนพักครูด้านหลังโรงเรียนยังคงมีอุสตาซและครอบครัวอาศัยอยู่เกือบเต็ม ทุกคนนับวันรอที่จะได้สอนหนังสืออีกครั้ง แม้ระยะเวลา 4 ปีกว่าจะทำให้หลายคนต้องไปหางานอื่นทำเพื่อนำรายได้มาจุนเจือครอบครัว แต่พวกเขาก็ไม่เคยสิ้นหวังที่จะได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนอิสลามบูรพา
ปาตีเมาะ ลือมาฮางุ ภรรยาของอดีตอุสตาซโรงเรียนอิสลามบูรพา เล่าให้ฟังว่า สามีของนางเป็นศิษย์เก่ารุ่นแรกๆ ของโรงเรียน เข้ามาเรียนตั้งแต่โรงเรียนแห่งนี้สร้างใหม่ๆ หลังจากเรียนจบก็ได้แต่งงานกับนาง และได้อาศัยในเรือนพักครูของโรงรียน เพราะสามีทำหน้าที่เป็นอุสตาซ
"อยู่กันมานานจนมีลูก 5 คนแล้ว เมื่อโรงเรียนมีปัญหาจนถูกสั่งปิด เราก็ยังอาศัยอยู่ตรงนี้ เพราะถ้าเราไปก็กลัวว่าพื้นที่ตรงนี้จะไม่มีใครดูแล พวกเราและอุสตาซเก่าๆ ก็ยังอาศัยอยู่ด้วยกันเหมือนเดิม ทุกอย่างยังเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่มีโรงเรียน และไม่มีการเรียนการสอนเท่านั้น ส่วนลูกๆ ของพวกเราก็ต้องส่งไปเรียนข้างนอก ส่วนใหญ่ไปเรียนกันในเมือง (โรงเรียนอิสลามบูรพาห่างจากตัวเมืองนราธิวาสราว 12 กิโลเมตร) สำหรับพวกเราก็อยู่กันไปตามมีตามเกิด ใครสามารถหางานข้างนอกทำได้ก็โชคดีไป ส่วนคนที่ไม่มีงานทำก็ปลูกผัก เย็บผ้า หรือไม่ก็ข้ามไปฝั่งมาเลย์ ลงทุนซื้อของมาขายต่อ เพื่อให้ได้เงินมาพอเลี้ยงครอบครัวบ้าง ตลอด 4 ปีที่โรงเรียนปิดพวกเราก็อยู่กันอย่างนี้" ปาตีเมาะ เล่า
นางยังบอกว่า เมื่อโรงเรียนสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติแล้ว ก็รู้สึกดีใจ ด้านหนึ่งก็ดีใจแทนชาวบ้านแถบนี้ที่จะได้มีโรงเรียนใกล้บ้านให้บุตรหลานได้เล่าเรียน ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ดีใจที่พวกนางเองจะได้ไม่ต้องลำบาก และไม่ต้องส่งลูกไปเรียนไกลถึงในเมืองให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายอีก
"พวกเราดีใจกันมาก ช่วงเดือนสองเดือนมานี้ เวลาไปไหนมาไหนก็จะมีแต่คนถามว่าเมื่อไหร่โรงเรียนจะเปิด เพราะจะได้ย้ายลูกๆ กลับมาเรียน" ปาตีเมาะ บอก
เด็กหญิงอานีส ลือมาฮางุ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 10 ซึ่งตั้งอยู่เยื้องกับโรงเรียนอิสลามบูรพา กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่โรงเรียนอิสลามบูรพาจะกลับมาเปิดอีกครั้ง เพราะอีก 2 ปีก็จะได้เข้าเรียนที่นี่ได้
"หนูรู้สึกผูกพันกับโรงเรียนอิสลามบูรพา เพราะเกิดที่นี่ โตที่นี่ เคยเห็นโรงเรียนเปิดสอนปกติ ต่อมาก็ปิดลงไปเฉยๆ ก็รู้สึกงงๆ อีกอย่างถ้าโรงเรียนเปิดจะได้ลดรายจ่ายของแม่ด้วย เพราะถ้าไปเรียนในเมืองอย่างพี่ๆ แม่ก็จะมีรายจ่ายมากขึ้น แต่ถ้ามาเรียนที่อิสลามบูรพาแม่ก็ไม่ต้องเหนื่อย ออกจากบ้านก็สามารถเข้าห้องเรียนได้เลย หิวข้าวก็กลับมากินที่บ้านได้ด้วย" เด็กหญิงอานีส กล่าว
พร้อมเปิดพื้นที่ให้ชุมชน-ราชการร่วมตรวจสอบ
สุริยา กะลอ อุสตาซโรงเรียนอิสลามบูรพา บอกว่า รู้สึกเสียใจที่โรงเรียนถูกปิด แต่ก็ไม่เคยสิ้นหวัง เพราะคิดว่าถึงที่สุดแล้วโรงเรียนก็จะได้เปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่ย้ายไปไหน ยังเฝ้ารอเพื่อทำหน้าที่สอนที่โรงเรียนอิสลามบูรพา
"โรงเรียนแห่งนี้มีชื่อเสียง มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย รู้สึกภูมิใจที่ได้สอนที่นี่ ตอนที่โรงเรียนถูกปิด พวกเราที่นี่แทบไม่มีใครรู้เรื่องเลย คิดว่าปัญหาเกิดจากการที่เราประสานงานกับทางราชการน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่เราทำกิจกรรมและปฏิบัติตามกฎระเบียบทุกอย่าง แต่เมื่อโรงเรียนถูกสั่งปิดเราก็พร้อมยอมรับ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาก็พยายามหางานอื่นทำ แต่ก็ไม่คิดไปจากที่นี่ เพราะยังรอวันที่โรงเรียนกลับมาเปิดอีกครั้ง"
สุริยา บอกด้วยว่า เมื่อโรงเรียนได้รับโอกาสเปิดการเรียนการสอนครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี เขาคิดว่าสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขก็คือการประสานงานกับรัฐให้มากขึ้น ทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนอื่นให้มากกว่าเดิม พร้อมเปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้ามาช่วยกันดูแล หากมีอุปสรรคปัญหาอะไรก็จะแจ้งประสานกับทางราชการโดยเร็วที่สุด
สำหรับการเปิดรับนักเรียนนั้น สุริยา บอกว่า ที่ผ่านมาเมื่อมีข่าวโรงเรียนจะได้รับอนุญาตให้เปิด ก็มีพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนนำบุตรหลานมาฝากเรียนทันที แต่โรงเรียนต้องขอให้กลับไปก่อน เพราะยังไม่ได้รับใบอนุญาต ฉะนั้นจึงคิดว่าไม่มีปัญหาเรื่องจำนวนนักเรียนที่จะสมัครเข้ามาเรียน
"โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีส่งครูเข้าไปหาเด็กนักเรียนในชุมชน สำหรับของเราคงเปิดรับในภาคการศึกษานี้ไม่ทันแล้ว ก็คงต้องรอภาคการศึกษาใหม่ของปีการศึกษา 2555 ไปเลย" สุริยา กล่าว
มีรายงานด้วยว่า ภายหลังจากที่ข่าวโรงเรียนอิสลามบูรพาได้รับใบอนุญาตให้เปิดทำการเรียนการสอนอีกครั้งเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่าบรรดาผู้นำศาสนาในพื้นที่ รวมทั้งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสหลายคนได้แสดงความยินดีกับทางโรงเรียน ขณะที่ชาวบ้านในย่าน ต.กะลุวอเหนือ ต่างพากันดีใจ และเตรียมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในภาคการศึกษาต่อไปทันที
แม่ทัพยันไร้ปัญหา-อัยการนราฯบอกเปิดดีกว่าปิด
ด้านความเห็นของฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ทุกฝ่ายต่างยอมรับได้ที่โรงเรียนอิสลามบูรพาจะกลับมาเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ฝ่ายความมั่นคงไม่มีปัญหา หากการเปิดโรงเรียนอิสลามบูรพาเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และผู้รับผิดชอบยืนยันว่าเปิดได้ ก็เปิดได้เลย
"เรายึดหลักนิติธรรมอยู่แล้ว ตอนที่สั่งปิดเราก็ปิดตามกฎหมาย ตอนนี้จะเปิด ถ้าเปิดตามกฎหมายก็สามารถทำได้ เพราะเราก็เชื่อว่าทางโรงเรียนคงไม่ได้ไปสนับสนุนการก่อการร้ายหรือขบวนการผู้ก่อเหตุรุนแรง" พล.ท.อุดมชัย กล่าว
ขณะที่ นายโสภณ ทิพย์บำรุง อัยการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า มีคดีที่เกี่ยวกับการตรวจค้นและยึดของกลางได้ที่บ้านร้างในโรงเรียนอิสลามบูรพาหลายคดี ผู้ต้องหาคนสำคัญคือนายมะนาเซ ยา คดีของมะนาเซหลายคดีศาลก็ยกฟ้อง บางคดีก็ลงโทษ แต่การจะปิดหรือเปิดโรงเรียนคงไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้
"เราเชื่อว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงคงไม่ใช่โรงเรียนหรือนักเรียนทั้งหมดของโรงเรียน อาจจะมีอยู่บ้างบางคนบางราย ในพื้นที่เราต้องพูดความจริง มีอะไรต้องมาพูดกัน ถ้าถามผมว่าเปิดดีไหม ผมก็มองว่าการให้การศึกษาแก่เด็กๆ เป็นเรื่องที่ดี เพราะถ้าปิดโรงเรียนไป เด็กๆในพื้นที่ก็จะต้องไปเรียนโรงเรียนไกลบ้าน ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่จะเปิดขึ้นใหม่ เพราะการให้การศึกษากับเด็กๆ เป็นเรื่องดีแน่นอน" อัยการโสภณ กล่าว
ถือเป็นข่าวดีรับปีใหม่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและเอาใจช่วยโรงเรียนอิสลามบูรพา...
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 3 อาคารเรียนและห้องเรียนที่ปัดกวาดทำความสะอาดไว้เรียบร้อย
2 หลักกิโลเมตรด้านหน้าโรงเรียน และป้ายโรงเรียนที่ถูกทาสีเขียวลบชื่อเดิม
4 ปอเนาะ (กระท่อม) ซึ่งเป็นเรือนพักของนักเรียนที่เรียนแบบอยู่ประจำ (ภาพทั้งหมดโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)