บริการโอนเงินและรับโอนเงินแบบใหม่ “ พร้อมเพย์ – PromptPay”
นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวบริการโอนเงินและรับโอนเงินแบบใหม่ “พร้อมเพย์ –PromptPay” ซึ่งเป็นบริการที่ภาคธนาคารร่วมมือกันพัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการระบบการชำระเงินแบบ Any ID ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติของรัฐบาล
พร้อมเพย์เป็นบริการที่จะช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถโอนเงินได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่และ/หรือเลขประจำตัวประชาชนแทนการระบุเลขที่บัญชีเงินฝากของผู้รับเงิน ทั้งนี้ ในระยะแรกจะเปิดให้บริการโอนเงินระหว่างบุคคลทั่วไปก่อนและ สำหรับนิติบุคคลจะเปิดให้บริการในช่วงต่อไป และในอนาคตหน่วยงานภาครัฐจะสามารถโอนเงินสวัสดิการ เงินช่วยเหลือ และเงินคืนภาษีให้กับประชาชนผ่านบริการพร้อมเพย์ด้วย
หากสนใจใช้บริการพร้อมเพย์ ผู้ใช้บริการต้องลงทะเบียนเพื่อผูกบัญชีเงินฝากธนาคารกับหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ/หรือเลขประจำตัวประชาชนที่ต้องการ โดยเลือกบัญชีเงินฝากธนาคารที่ต้องการใช้เป็นบัญชีในการรับเงิน และแจ้งลงทะเบียนกับธนาคารผ่านช่องทางที่ธนาคารแต่ละแห่งเตรียมไว้ให้บริการ เช่น เอทีเอ็ม, Internet Banking, Mobile Banking หรือที่สาขาธนาคาร และจัดเตรียมเอกสารประกอบการลงทะเบียนตามที่ธนาคารกำหนด เช่น สมุดบัญชีหรือเลขที่ บัญชีเงินฝากธนาคาร บัตรประจำตัวประชาชน โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ต้องการลงทะเบียน
หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือเลขประจำตัวประชาชนหนึ่งหมายเลขจะสามารถใช้ผูกหรือจับคู่กับบัญชีเงินฝากปลายทางได้หนึ่งบัญชี และประชาชนสามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงการผูกบัญชีได้ตลอดเวลา โดยปฏิบัติตามขั้นตอนที่ธนาคารแต่ละแห่งกำหนด ทั้งนี้ ธปท. ยึดหลักในการให้บริการของธนาคารโดยคำนึงถึงสิทธิของประชาชนที่จะได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนสามารถเปลี่ยนแปลงยกเลิกการผูกบัญชีได้ง่าย และสามารถเลือกใช้บริการได้อย่างอิสระ
ระบบกลางของบริการพร้อมเพย์จะพร้อมให้บริการลงทะเบียนสำหรับทุกธนาคารได้ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี ธนาคารที่มีความพร้อมสามารถเปิดให้ลงทะเบียนก่อนกำหนดได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559
บริการพร้อมเพย์ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาบริการชำระเงินของประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการใช้เงินสด เพิ่มความรวดเร็ว ถูกต้อง และสามารถตรวจสอบรายการย้อนหลังได้ และเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนมาใช้ e-Payment ในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนของระบบการชำระเงินโดยรวมและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ