ธ.ก.ส.-สกว. พัฒนางานวิจัย ต่อยอดสร้างสินค้าเกษตรทันสมัย สอดคล้องตลาด
ธ.ก.ส.จับมือ สกว. ใช้ความรู้ทางวิชาการ มุ่งพัฒนางานวิจัย สู่การใช้ประโยชน์ภาคเกษตร หวังเกษตรกร-ชุมชน เข้มเเข็ง สร้างผลผลิตทันสมัย สอดคล้องตลาด
วันที่ 15 มิถุนายน 2559 ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรเเละสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานใหญ่ บางเขน มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านวิชาการเเละการพัฒนางานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เเละ ธ.ก.ส. โดยมี ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผอ.สกว. เเละนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ร่วมลงนาม ทั้งนี้ มีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรเเห่งชาติ เเละนางปัทมาวดี โพชนุกุล กรรมการธนาคาร ร่วมเป็นสักขีพยาน
การลงนามดังกล่าวได้นำเสนอตัวอย่างนิทรรศการผลงานวิจัยของ สกว. ที่เกษตรกรนำไปปรับใช้เพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ ช่วยลดต้นทุนและสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและชุมชน เช่น การสร้างสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราชเพื่อผลิตเป็นอาชีพ วิจัยโดยนักวิจัยของ สกว. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.บัญชร ลิขิตเดชาโรจน์และคณะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา มีเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.สาขาเมืองนครราชสีมา นายสมบัติ เทพทอง นำไปพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพ ซึ่งไก่โคราชเป็นไก่ที่เลี้ยงง่าย ไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 50-70 วันสามารถส่งจำหน่ายได้
การจัดการท่องเที่ยวชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนหนองแม่นา ตำบลหนองแม่นา อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยนักวิจัยนายสมชัย ขันเงินและคณะ และนายสมพงษ์ ตุ้มคำ เกษตรกรลูกค้าธ.ก.ส.สาขาเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์นำผลงานวิจัยไปปรับใช้ ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในช่วงที่ว่างเว้นจากการผลิต งานวิจัยการใช้ประโยชน์จากปุ๋ยสั่งตัด เป็นต้น
นอกจากนี้ในงาน ธ.ก.ส. ได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยในโครงการวิจัยระดับจังหวัดที่นำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพการเกษตรให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร รวมทั้งขยายธุรกิจธนาคาร เช่น การพัฒนาการจัดการ การแปรรูป และการตลาดผลผลิตยางพาราในจังหวัดหนองคาย การพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนในโรงเรือนระบบอัตโนมัติขนาดเล็กในจังหวัดแพร่ และการเชื่อมโยงการผลิตการตลาดทุเรียนคุณภาพมาตรฐานGAP ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น
นายลักษณ์ เปิดเผยว่า การนำข้อมูลด้านวิชาการที่เกิดจากงานวิจัยของ สกว.มาปรับใช้ในการประกอบอาชีพทางการเกษตร น่าจะทำให้เกิดความทันสมัยเเละสอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น
"สกว.มีงานวิจัยจำนวนมากที่จะช่วยเกษตรกร เเละธ.ก.ส.ก็เชื่อมั่นชุมชน ก่อนหน้านี้เคยไปทำงานกับชุมชน เช่น เกษตรกร อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ประสบปัญหาปลูกสตรอเบอร์รี่เน่าเสีย เนื่องจากต้นพันธุ์มีโรคเชื้อรา ทำให้ปลูกในพื้นที่ซ้ำ ประกอบกับมีการใช้สารเคมี ทำให้ผลผลิตเสียหาย นักวิชาการจึงลงไปช่วยเหลือ จนสามารถเอาชนะได้ ปัจจัยสำคัญ คือ ความเข้มเเข็งของชุมชน" ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว