เอ็นจีโอติงร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรฯ เปิดช่องนายทุน-ปิดกั้นเกษตรกรรายย่อย
คณะทำงานติดตามร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ วิจารณ์ร่างที่ผ่านวุฒิฯ ชี้ปิดทางเกษตรกรรายย่อย-เปิดทางนายทุน สัดส่วนไม่สมดุล-โครงสร้างยึดติดกระทรวงฯ ย้ำการได้มาของสภาฯต้องอิสระ เสนอปรับอำนาจให้ชาวบ้านทำแผนเสนอตรงนายกฯ จัดสมัชชาสร้างโมเดลจังหวัดรองรับ
ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. ..... ว่าได้ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา และจะสามารถเสนอสภาผู้แทนราษฎร 4 ส.ค.นี้ หากผ่านความเห็นชอบ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายภายในสิ้นปี 2553 นี้ โดยปลัดกระทรวงฯนั่งเป็นเลขาธิการสภาฯ ให้เกษตรกรจังหวัดเป็นหัวหน้าสำนักงานเตรียมเลือกตั้งสภาเกษตรแห่งชาติชุด แรกจากทั่วประเทศภายใน 2 ปี
ทั้งนี้เจตนารมณ์ของการมีสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่รักษาและสร้างประโยชน์ให้เกษตรกรที่เป็นคนกลุ่มใหญ่และเป็น อาชีพสำคัญของประเทศ โดยสาระสำคัญตามร่าง พ.ร.บ.จะเป็นการคุ้มครองรักษาผลประโยชน์เกี่ยวกับการผลิต การตลาด เพื่อให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายอย่างเป็นเป็นเอกภาพเข้มแข็ง ที่สำคัญเกษตรกรสามารถจัดทำแผนแม่บทเสนอคณะรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายเกี่ยว กับภาคเกษตรกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงกับความเป็นจริง
น.ส.สุมลมาลย์ สิงหะ ผู้ประสานงานวิจัยและรณรงค์นโยบาย มูลนิธิชีวิตไท ในฐานะคณะติดตามร่าง พ.ร.บ. สภาเกษตรฯ เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า พิจารณาจาก 4 เรื่องหลักยังมีปัญหาคือ 1.นิยามคำว่าเกษตรกร ยังคลุมเครือมากเพราะไม่ได้พูดถึงสิทธิของเกษตรกรรายย่อย 2.กระบวนการได้มาของสมาชิกสภาฯทั้งระดับชาติและจังหวัดไม่เปิดช่องให้เกษตรกรรายย่อยแต่เปิดช่องให้เกษตรกรรายใหญ่หรือนายทุน 3.อำนาจหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นอาจเอื้อให้กลุ่มนายทุนมีความต้องการเข้ามามาก ขึ้น และ 4.ขาดความเป็นอิสระอย่างแท้จริง เนื่องจากร่างดังกล่าวยังกำหนดให้ปลัดกระทรวงฯ เป็นเลขาฯ ดูเรื่องงบประมาณและใช้กระทรวงฯเป็นสำนักงาน อีกทั้งแผนแม่บทที่ชาวบ้านเสนอก็ต้องผ่านมือรัฐมนตรีก่อนถึงนายกฯ
น.ส.สุมลมาลย์ กล่าวว่า คณะทำงานชั่วคราวที่ปลัดกระทรวงฯเป็นเลขาฯ จะทำหน้าที่พี่เลี้ยงช่วง 2 ปีแรก จนกว่าจะมีการเลือกตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติเสร็จ โดยให้เกษตรกรไปขึ้นทะเบียนและเลือกตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน จังหวัด สภาระดับชาติ ซึ่งประเด็นสำคัญคือหลักเกณฑ์ต่างๆถูกกำหนดโดยข้าราชการชุดแรก
“ถ้าวางกฎเกณฑ์ปิดกั้นเกษตรกร มีสภาฯไปก็เท่านั้น และสัดส่วนของเกษตรกรรายย่อยที่จะเข้ามาแค่ 16 คนน้อยไป ส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรดีเด่นทั้งหลายก็สังกัดกระทรวงฯ ไม่ใช่เจ้าของปัญหาตัวจริง”
ตัวแทนมูลนิธิชีวิตไท เสนอว่า ควรระบุนิยามเกษตรกรให้ชัดเจน โดยหมายรวมถึงเกษตรกรรายย่อย, กันนายทุนออกไปเพื่อปิดกั้นไม่ให้ผลประโยชน์ด้านอำนาจมาบิดเบือนเจตนารมณ์ กฎหมาย, ให้อำนาจชาวบ้านในการจัดทำแผนและเสนอต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง ไม่ต้องผ่านกระทรวงเกษตรฯ สุดท้ายกระบวนการได้มาของสมาชิกสภาฯและการดำเนินงานมีอิสระ ให้สิทธิกับเกษตรกรชายขอบร่วมคิดร่วมทำ
น.ส.สุมลมาลย์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้คณะทำงานฯ กำลังส่งเสริมให้มีการทำเวทีสมัชชาในประเด็นดังกล่าว เพื่อให้เกษตรกรร่วมวางยุทธศาสตร์ นำเสนอปัญหา แนวทางแก้ไข และทำเป็นโมเดลระดับจังหวัด คู่ขนานไปกับร่าง พ.ร.บ. เช่น ที่ จ. ยโสธร มีความเข้มแข็งด้านเกษตรอินทรีย์ ก็หนุนเสริมให้จัดทำเป็นแผนจังหวัด เพราะหากมีเกษตรกรน้ำดีเข้าไปอยู่ในสภาฯน้อย อย่างน้อยตรงนี้ก็เป็นการช่วยต่อรอง
“พ.ร.บ.ตัวนี้เหมือนดาบสองคม แต่ถ้าไม่เอาเลยก็เป็นการทำร้ายชาวบ้านที่พยายามเรียกร้อง เดิมทีตั้งใจให้เป็นเหมือนสภาวิจัยหรือคลังสมอง แต่มีอำนาจมากกว่าที่คิด คนที่ร่วมร่างก็เป็นเกษตรกรรายใหญ่ แต้ถ้าคิดในแง่ดีมีรายย่อยเข้าไปถ่วงดุลการทำงานคงแก้ปัญหาได้บ้าง แต่ถ้าถามว่าคาดหวังได้แค่ไหนคือ 40%” ผู้ประสานงานมูลนิธิชีวิตไท กล่าว .