ทหารสวนรายงานซ้อมทรมานมีตัวตนแค่ 18 แถมไม่จริง "พรเพ็ญ"ลั่นสู้ทวงศักดิ์ศรี
แนวโน้มเป็นหนังเรื่องยาว! กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเปิดแถลงชี้แจงเหตุผลละเอียดยิบ กรณีแจ้งจับ 3 เอ็นจีโอที่เปิดรายงานซ้อมทรมานที่ชายแดนใต้ ระบุไม่ร่วมมือให้ข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเองพบ 54 กรณีร้องเรียนในรายงาน มีตัวตนแค่ 18 ราย แถมไม่พบหลักฐานการละเมิดสิทธิ์
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) พร้อมด้วย พ.อ.ยุทธนาม เพชรม่วง รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงเหตุผลการดำเนินการทางกฎหมาย ด้วยการแจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท และกระทำผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ กับผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ จำนวน 3 คน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยรายงานการซ้อมทรมานผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังมีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคมอื่นออกมาเคลื่อนไหวให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าถอนแจ้งความ คือ การออกแถลงการณ์ของสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา หรือ LEMPAR และองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์
สำหรับผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน 3 คนที่ถูก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความดำเนินคดี คือ นายสมชาย หอมลออ นักสิทธิมนุษยชนชื่อดัง, น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ น.ส.อัญชนา หีมมินะ จากกลุ่มด้วยใจ ซึ่งทำงานด้านประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้
เผยไทม์ไลน์เคลื่อนไหวก่อนเปิดรายงาน
พ.อ.ปราโมทย์ ระบุว่า มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับรายงานฉบับนี้มาตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.59 โดย น.ส.อัญชนา ได้ยื่นหนังสือให้ พล.อ.อักษราเกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 ตรวจสอบสถานการณ์การซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 ได้รับปากจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน
ต่อมาวันที่ 10 ก.พ. กลุ่มเครือข่ายองค์กรที่จัดทำรายงานฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวรายงานฯ ซึ่งใช้ชื่อว่า “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2557– 2558” ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และต่อมามีการนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อแขนงต่างๆ อย่างกว้างขวาง
แม่ทัพสั่งสอบ-พบมีตัวตน 18 รายจาก 54
แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกทางหนึ่งด้วย
ต่อมา คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากรายงานฉบับนี้ ซึ่งอ้างว่ามีผู้ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานจำนวน 54 ราย พบว่าสามารถระบุตัวบุคคลได้เพียง 18 ราย ซึ่งผลจากการตรวจหลักฐานที่หน่วยปฏิบัตินำมาชี้แจง ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการควบคุมตัว ไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่ามีการซ้อมทรมาน
ฉุนไม่ร่วมมือให้ข้อมูล-พาดพิงทหารพรานหญิง
กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้พยายามประสานขอข้อมูลผู้ร้องเรียนในรายงานฯหลายครั้ง เพื่อร่วมกันตรวจสอบความจริงให้ปรากฏ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้อง จึงถือเป็นการเจตนาจงใจปกปิดข้อมูล โดยใช้เหยื่อเป็นเครื่องมือในการจัดทำรายงาน มิใช่การนำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อเยียวยาและหาแนวทางแก้ไขตามที่กล่าวอ้าง ขณะเดียวกันได้นำเอกสารรายงานฯไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้สังคมเข้าใจผิด ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง เกียรติภูมิ และความเชื่อมั่นของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
นอกจากนั้น เนื้อหาในรายงานบางส่วน ยังอ้างคำกล่าวของผู้ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมาน ทำนองว่าถูกจับให้เปลือยกายในห้องเย็นต่อหน้าทหารพรานหญิง และโดนทหารพรานหญิงเอาหน้าอกมาแนบที่หน้า ซึ่งการเขียนข้อความเช่นนี้ ถือเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของสตรีอย่างร้ายแรง
ฟ้องร้องคือสันติวิธี-ท้าโชว์หลักฐานในศาล
พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า การแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย ถือเป็นการแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธี เพื่อนำไปสู่การแสวงหาความจริงร่วมกันในชั้นศาล โดยเชื่อมั่นว่าหากพยานหลักฐานมีอยู่จริง ผู้จัดทำรายงานต้องนำไปเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล แต่หากข้อมูลไม่มีอยู่จริงหรือมีเจตนาบิดเบือน ผู้จัดทำรายงานก็สมควรได้รับโทษตามกฎหมายในฐานะที่เป็นผู้ละเมิดสิทธิ ทำลายเกียรติยศ ศักดิ์ศรีและสิทธิขั้นพื้นฐานของเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเทเสียสละ และหน่วยงานของรัฐได้พยายามมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อลดเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความรุนแรง
"พรเพ็ญ"นั่งประธานแอมเนสตี้ฯประเทศไทย
ทีมโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงข่าวและเผยแพร่แถลงการณ์นี้เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มิ.ย.59 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการเลือกประธานแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทยคนใหม่ ปรากฏว่าผู้ที่ได้รับเลือกคือ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ หนึ่งในสามนักสิทธิมนุษยชนที่ถูก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความดำเนินคดีฐานร่วมกันเปิดเผยรายงานการซ้อมทรมานที่ชายแดนใต้นั่นเอง
ลั่นต่อสู้ทวงศักดิ์ศรีคนทำงานด้านสิทธิฯ
น.ส.พรเพ็ญ กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า อยากให้อ่านรายงานทั้งฉบับก่อนการวิพากษ์วิจารณ์ และว่าเรากำลังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งถึงแม้ไม่ใช่การใช้ความรุนแรงทางอาวุธ แต่ก็คงบาดเจ็บไม่แพ้กัน โดยเกิดมาจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์และความคิดที่แตกต่างกันระหว่างนักสิทธิมนุษยชนและกองทัพ ขอให้ความขัดแย้งนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ และผู้เสียหายต้องไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมืออย่างที่แถลงการณ์ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ากล่าวอ้าง ทั้งผู้เสียหายจากการทรมาน และทหารพรานหญิงที่ถูกนำมากล่าวถึง จนทำให้กองทัพต้องออกมาปกป้องเกียรติยศ
“ช่วงนี้ช่วงรอมฎอน ได้เรียนรู้ถึงเรื่องการมะอัฟ (ขอโทษ ขออภัย ให้อภัย) ขอให้บรรยากาศนี้ทำให้เราค้นหาสันติสุขและความสงบ แต่เราคงต้องสู้ต่อไปเพื่อความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีของคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในสังคมนี้ด้วย” น.ส.พรเพ็ญ กล่าว
แจงจัดทำรายงานซ้อมทรมานฯได้มาตรฐาน
ประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) คนใหม่ ยังบอกด้วยว่า การเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานการซ้อมทรมานนั้น ใช้การสัมภาษณ์ผู้เสียหายโดยใช้แบบฟอร์มที่มีมาตรฐาน ผู้สัมภาษณ์ได้รับการอบรมและทำความเข้าใจกับแบบฟอร์มจำนวน 34 หน้า มีการจัดอบรมทำความเข้าใจในเรื่องกฎหมายและความเข้าใจเรื่องการทรมานและปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม รวมทั้งความรู้เรื่องนิติวิทยาศาสตร์และสุขภาพจิตของผู้เสียหายจากการทรมาน เพื่อเพิ่มพูนทักษะของผู้ทำการสัมภาษณ์
การสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาหลัก ทั้งในการสัมภาษณ์และรับฟัง ส่วนการจดบันทึก เนื่องจากจะต้องมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ จึงทำการจดบันทึกเป็นภาษาไทย ผู้สัมภาษณ์เป็นอาสาสมัครจากกลุ่มด้วยใจ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ทำให้เข้าถึงผู้เสียหาย และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้เสียหายกล้าพูดและเล่าเรื่องราวที่โหดร้ายทั้งในขั้นตอนการจับกุม การควบคุมตัว การถูกซักถาม สอบสวน การถูกทำร้ายร่างกาย การถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในหลายๆ รูปแบบให้ฟัง ซึ่งหลายกรณีกว่าที่ผู้เสียหายจะกล้าเล่าและระบายความรู้สึกเหล่านั้นออกมาเป็นภาษาพูดต่อหน้าบุคคลอื่น ต้องใช้เวลานานเป็นปี
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 (ซ้าย) พ.อ.ยุทธนาม (ขวา) พ.อ.ปราโมทย์
2 ปกรายงานสถานการณ์การซ้อมทรมานฯ